วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ไม่หมดหวัง! "แม่น้องเกด" ขอความเป็นธรรม เดินหน้าเอาผิดผู้สั่งสลายการชุมนุม '53


"นางพะเยาว์ อัคฮาด" มารดาของน้องเกด-กมนเกด อัคฮาค พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณวัดปทุมวนารามฯ จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาชาธิปไตย เมษายน-พฤษภาคม 2553 เดินทางมาแยกราชประสงค์ โดยสวมใส่ชุดพยาบาลที่เปื้อนเลือดของพยาบาลเกด พร้อมประกาศจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ความยุติธรรมกลับคืนมา‬ และจะเดินหน้าฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสั่งสลายการชุมนุมดังกล่าวต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่ อัยการ ฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุมดังกล่าว โดยที่ศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" (อดีตนายกฯ) กับ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" (อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง) ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ / Photo : Bow-Nuttaa Mahattana

วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

"ดร.ทักษิณ" ยกปรัชญาการเมือง "ความเลวร้ายโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

มงแต็สกีเยอ เคยกล่าว "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม

Montesquieu once said "There is no crueler tyranny than that which is perpetuated under the shield of law and in the name of the justice." 



วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

"เพื่อไทย" ออกแถลงการณ์ ยืนยันจุดยืนพรรคเพื่อประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ แถลงการณ์ เรื่อง “การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในอนาคต” โดยมีเนื้อหาดังนี้

พรรคเพื่อไทยได้ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านมรสุมอย่างหนัก มาหลายครั้งตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และ พ. ศ.2557 ทั้งการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย แต่สมาชิกพรรคทุกคนยังคงยึดมั่นในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และยังคงรักษาอุดมการณ์และพันธกิจในการสร้างประโยชน์สุขของประชาชนมาโดยตลอด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าของพรรคนั้น พรรคเห็นว่าท่านอดีตนายกรัฐมนตรีคงจะมีคำชี้แจงต่อสาธารณชนเมื่อถึงเวลาอันควรต่อไป

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น ขอยืนยันว่าพรรคมีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะต้องดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง นั่นคือ

  • ประการแรก การต่อสู้ให้สังคมเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยอมรับในสิทธิมนุษยชนและสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกและตรวจสอบนั้น ต้องได้รับการคุ้มครอง และประชาชนต้องได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยความใส่ใจ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
  • ประการที่สอง การทำให้พี่น้องประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ประเทศได้รับความยอมรับนับถือและเชื่อมั่นจากนานาอารยประเทศ ยังคงถือเป็นภารกิจสำคัญที่พรรคจะยึดมั่นในการดำเนินการต่อไป
  • ประการที่สาม การยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี และการสร้างความสมานฉันท์ด้วยหลักเมตตาปรารถนาดีต่อกัน 

พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่า จากนี้พรรคเพื่อไทยจะยังคงดำรงความเป็นพรรคการเมืองเพื่อประชาชน ที่จะสร้างความเข้มแข็ง และโอกาสในชีวิตให้แก่ประชาชนต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

ปัญหาอุปสรรคอันหนักหนาที่พรรคกำลังเผชิญอยู่นั้น ยิ่งทำให้พรรค สมาชิก และผู้สนับสนุนมีความรัก ความสามัคคี และมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ที่จะมุ่งมั่นทำงาน เพื่อให้สังคมไทยมีสันติสุข ประชาชนมีเศรษฐกิจที่ดี และได้รับประโยชน์สุข ต่อไป

พรรคเพื่อไทยจะยังคงมุ่งมั่นในภารกิจต่างๆ อย่างแน่วแน่ ไม่เปลี่ยนแปลง

พรรคเพื่อไทย
29 สิงหาคม 2560

วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560

“โชคดีครับท่านนายกฯ” วัฒนาหนุนส่งกำลังใจยิ่งลักษณ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"โชคดีครับท่านนายกฯ"

ผมไม่รู้สึกผิดหวังกับการที่นายกยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา หลายคนสอบถามว่าหากจะหลบหนีเหตุใดไม่หลบหนีแต่แรก ในฐานะนักการเมืองที่มาจากประชาชนด้วยกันผมพอคาดเดาได้ว่า สิ่งที่นายกยิ่งลักษณ์พยายามทำด้วยตัวเองตั้งแต่แรกจนวินาทีสุดท้ายคือการนำเสนอข้อเท็จจริงผ่านทุกช่องทางที่ถูกเรียกว่า "กระบวนการยุติธรรม" ตั้งแต่การชี้แจงกับ ป.ป.ช. จากนั้นชี้แจงกับ สนช. ที่ถูกแต่งตั้งโดยเผด็จการแต่กลับมาถอดถอนท่านที่ประชาชนเป็นผู้เลือก ท้ายสุดคือการต่อสู้คดีในศาลฎีกาฯ จนสิ้นสุดโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาด้วยตัวเอง ทุกองค์กรที่ท่านต่อสู้เสมือนเป็นช่องทางผ่าน เพื่อนำข้อเท็จจริงบอกกับประชาชนที่พร้อมจะรับฟังการชี้แจงของท่านว่า "ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์"

ผมถือว่านายกยิ่งลักษณ์ได้ทำหน้าที่ในฐานะนักการเมืองที่มาจากประชาชนสมบูรณ์แล้ว ส่วนภารกิจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงต้องเดินหน้าต่อไป การไม่มีนายกยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำให้เป้าหมายการต่อสู้ของผมเปลี่ยนแปลง แต่โดยที่ทุกการต่อสู้ย่อมต้องมีคนบาดเจ็บล้มตายเสมอ ดังนั้น ระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายเราอาจจะเหลือเพื่อนไม่เท่าเดิม แต่ถ้าเรายังคงมีความเชื่อมั่นและดำรงความมุ่งหมายเราจะไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้ ขอเพียงพี่น้องประชาชนอย่าสูญเสียความมั่นใจในชัยชนะ สำหรับผมยังเชื่อมั่นตลอดเวลาว่า "เผด็จการไม่มีทางชนะประชาชน" วันนี้ผมขอส่งกำลังใจและความห่วงใยให้ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ จากนี้ไปท่านต้องส่งกำลังใจให้ผมบ้าง เพราะภารกิจการต่อสู้เพื่อนำหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้กับประชาชนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง "โชคดีครับท่านนายก"

"ณัฐวุฒิ" ขอทุกคนอย่าสิ้นหวัง อยู่ในหัวใจกันและกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ยิ่งใหญ่และงดงามจนมองข้ามไม่ได้สำหรับวันนี้ คือหัวใจพี่น้องที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ

สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ออกเงินกันเอง ฝ่าการกดดันและสกัดกั้นทั้งหลาย มาเหนื่อยมาร้อนทั้งกายและใจด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

ผมรู้ว่าใจพี่น้องไม่ได้มีความสุข แต่ยิ้มเพื่อส่งกำลังใจให้กันในยามยาก

แม้รู้แล้วว่านายกฯปูไม่มาศาล แต่ยังอยู่กันยันบ่าย พูดคุย ถามไถ่เรื่องราวของกันและกัน เสมือนหนึ่งวันรวมญาติ

ขอคารวะพี่น้องทุกท่านจากใจจริง

อย่าท้อแท้ อย่าสูญสิ้นกำลังใจนะครับ

ไม่มีใครหายไปไหน เพราะทุกคนอยู่ในหัวใจของกันและกันตลอดเวลา







ทนายยืนยัน “ยิ่งลักษณ์” ไม่อยู่บ้าน รอผลพิพากษา-ยังไม่หารืออุทธรณ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำข้าว โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

หลังจากได้รับทราบคำสั่งศาลแล้ว ทีมทนายได้เดินทางไปยังบ้านพักของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อ เพื่อจะไปรายงานให้ทราบว่าศาลมีคำสั่งอย่างไร เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่เมื่อถึงบ้านพักก็ไม่พบท่านแล้ว และได้รับแจ้งจากคนในบ้านว่าท่านไม่อยู่และไม่มีใครทราบว่าท่านไปไหน และไม่ได้รับการประสานกลับมา จึงได้เดินทางกลับ ขณะนี้ต้องรอการประสานก่อน

ส่วนที่มีข่าวว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปต่างประเทศนั้น ตนไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งนี้ ทีมกฎหมายยังไม่ได้หารือเรื่องการยื่นอุทธรณ์ ขอให้รอผลของคำพิพากษาออกมาก่อน

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

“ยิ่งลักษณ์” ห่วงประชาชนถูกทำร้าย ขอบคุณทุกกำลังใจ-แนะงดมาศาลฯ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00น. ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ดิฉันขออนุญาตกล่าวถึงวันฟังคำพิพากษาคดีของดิฉันที่ศาลฎีกาฯ ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ดิฉันทราบถึงความห่วงใย และความเมตตา ของพี่น้องประชาชนที่รับรู้ถึงความทุกข์ร้อน และความยากลำบากที่ดิฉันประสบอยู่ แต่ดิฉันเห็นว่าการเดินทางมาศาลเพื่อให้กำลังใจดิฉันนั้น ครั้งนี้เราจะไม่ได้พบปะ เห็นหน้า หรือสื่อความรู้สึกถึงกันได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงได้จัดระเบียบของผู้ที่จะเดินทางมาศาลผิดไปจากทุกครั้ง ทั้งที่เจตนาของพวกเราทุกคนเพียงต้องการมาให้กำลังใจซึ่งกันและกันเท่านั้น

ทั้งนี้ ดิฉันมีความห่วงใยต่อทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องประชาชน หรือแฟนเพจ และไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายอันอาจเกิดจากมือที่สาม ดังเช่นที่ฝ่ายความมั่นคงให้เหตุผลมาโดยตลอด ดิฉันจึงขอให้ทุกท่านที่ห่วงใย และต้องการให้กำลังใจดิฉัน ไม่ต้องเดินทางมาศาลฯในวันพรุ่งนี้ และขอให้ทุกท่านให้กำลังใจดิฉันโดยการรับฟังข่าวสารอยู่ที่บ้าน เพื่อความไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และต่อพวกเราทุกคน

ขอขอบคุณทุกกำลังใจค่ะ

ขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่


นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ตอบคำถามของสื่อมวลชน ถึงขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนี้

ถ้ามีคำสั่งของศาลออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์จะเป็นอย่างไร? เพราะขณะนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีของนักการเมืองยังไม่ประกาศใช้

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ถ้าเป็นคดีของนักการเมือง อยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง โดยปกติแล้ว รัฐธรรมนูญเขียนไว้อยู่อันหนึ่งว่า ถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองตัดสินอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ถ้าจะอุทธรณ์ ต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ก็อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ไม่ใช่องค์คณะแค่ 9 คน ต้องทั้งศาลเลย ประมาณ เกือบ 70 คน เป็นองค์คณะใหญ่ ที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกา นั่นหมายความว่าทุกคนที่เป็นผู้พิพากษาของศาลฎีกาต้องร่วมพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง จะไม่เหมือนคดีปกติ ที่ขึ้นศาลอาญาที่เราจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็จะมีองค์คณะ 3 คน และถ้าฎีกาได้ ก็ยื่นฎีกาต่อไป ส่วนคดีอาญาของนักการเมืองแต่เดิมอุทธรณ์ไม่ได้ ตอนนี้เขาให้อุทธรณ์ได้ แต่อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งก็ยากพอสมควรครับ

โดยข้อกฏหมายตามข้อกฏหมายใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ใช่หรือไม่?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ไม่ครับ คือ หากไม่เห็นด้วยกับ องค์คณะทั้ง 9 คนนี้ ก็ฎีกาได้ ไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่

อุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฏหมาย?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ได้หมดเลย แต่ก็ยาก เพราะข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไต่สวนก็ยุติหมด ศาลฎีกาส่วนใหญ่จะพิจารณาเฉพาะข้อกฏหมาย คือ ต้องเข้าใจว่าถ้าศาลปกติอย่างศาลชั้นต้น เขาจะดูเรื่องข้อเท็จจริงเป็นหลัก ศาลอุทธรณ์ก็ดูข้อเท็จจริงผสมข้อกฏหมาย ศาลฎีกาก็จะดูเฉพาะข้อกฏหมาย ข้อเท็จจริงก็จะไม่ยุ่ง ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะดูข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายควบคู่กัน แต่พอถึงที่ประชุมใหญ่ ส่วนใหญ่ก็จะต้องฎีกาแต่เฉพาะข้อกฏหมาย ว่าการกระทำตามข้อเท็จจริงดังกล่าวผิดต่อข้อกฏหมายหรือไม่เท่านั้น ปกติศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่จะไม่ยุ่งกับข้อเท็จจริงครับ

จะต้องใช้เสียงอย่างไรจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะต้องมีสัดส่วนเท่าไหร่ เกินครึ่งหรือว่าอย่างไร?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ต้องเกินกว่าครึ่ง

กระบวนการ สมมุติวันนี้มีคำพิพากษาออกมา กว่าจะไปถึงองค์คณะใหญ่ ใช้เวลาดำเนินการเท่าไหร่? อย่างไรบ้าง?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลตัดสิน ถ้าไม่ทันก็ขยายได้

การเรียกประชุมใหญ่ของศาลฎีกาชุดใหญ่ ใช้เวลาอย่างไรบ้าง หลังจากที่มีการยื่นคำร้องไปแล้วหรือว่าอย่างไร?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาที่ประชุมใหญ่แล้ว ก็คงต้องให้ศาลฎีกาใช้เวลา จัดทำสำเนาเอกสารต่างๆและสรุปข้อเท็จจริงต่างๆแจกจ่ายให้กับผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกท่าน แล้วถึงจะเรียกประชุมเมื่อเอกสารพร้อม เรียกประชุมก็อาจจะไม่ใช่วันเดียวจบ ศาลฯก็จะมองกันหลายมุม และแต่ละท่านก็มีความเป็นอิสระ ก็ว่ากันไปครับ

การไปขออุทธรณ์ ทำได้ทั้งโจทก์และจำเลยหรือไม่?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ได้ครับ ได้หมด เขาไม่ห้าม เขาบอกว่าสามารถอุทธรณ์ได้ เพียงแต่อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา

ในส่วนนี้ เคยมีคดีที่เทียบเคียงได้หรือไม่ครับ?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - จำได้เคยมีอยู่คดีหนึ่ง แต่อุทธรณ์แล้วไม่เป็นผล





วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

"เพื่อไทย" แนะทุกฝ่ายหยุดกล่าวหามวลชนให้กำลังใจยิ่งลักษณ์


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณี มีผู้ออกมาคาดการณ์ในทางร้ายกล่าวหาว่าอาจจะมีการใช้อาวุธและการปลุกระดมมวลชนในวันตัดสินคดีจำนำข้าวที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยตนเชื่อว่าคงไม่มีใครกล้านำอาวุธสงครามเข้ามาในวันนั้น รวมถึงไม่มีการระดมมวลชนเข้ามาให้กำลังใจ การเดินทางมาของพี่น้องประชาชนที่ผ่านมากว่า 20 นัดไม่เคยเกิดเหตุความวุ่นวายใดๆ ประชาชนที่เดินทางมานั้น มาตามธรรมชาติ ตามประเพณีด้วยความบริสุทธิ์ใจ หวังดีต่อบ้านเมือง ไม่อยากให้คาดการณ์ไปในทางร้ายเกินไป ตนขอฝากพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆเพื่อให้ทุกอย่างสามารถดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย และฝากช่วยกันเป็นหูเป็นตาเพื่อป้องกันไม่ให้มีมือที่สามเข้ามาก่อเหตุสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย ในการนี้เราจะจัดบุคลากรทางการเมืองของเรา เข้าไปช่วยดูแลพี่น้องประชาชนและเฝ้าระวังเหตุไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น

“ยิ่งลักษณ์” ทำบุญ-ปล่อยปลา พระให้พร “แคล้วคลาดปลอดภัย”


เมื่อเวลา 8.00 น. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 17 รูป โดยได้นิมนต์พระจากวัดบึงทองหลางมารับบาตรที่บ้านพักส่วนตัว ซอยโยธินพัฒนา 3 ซึ่งก่อนเดินทางกลับพระครูสุจิตฺวิมล (จวง สุจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง ได้ให้พรกับนางสาวยิ่งลักษณ์ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย ประสพแต่ความโชคดี มีชัยชนะ คิดหวังสิ่งใดให้สมปรารถนาทุกประการ

หลังจากนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ได้เดินออกจากบ้านพักไปยังวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารเพื่อทำบุญไหว้พระถวายสังฆทานพร้อมกราบขอพรสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) และปล่อยปลา

อย่างไรก็ตามสำหรับบรรยากาศการเดินทางมาทำบุญในวันนี้ก็ได้มีประชาชนที่มาทำบุญต่างเข้ามาขอถ่ายรูปพร้อมให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์และขอให้ชนะในทุกสิ่งทุกอย่าง







"วัฒนา" ยื่นสอบสวนพฤติกรรมพนักงานสอบสวน


นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือที่ศาลอาญา รัชดา เพื่อให้มีไต่สวนการกระทำของเจ้าหน้าที่และพฤติกรรมของพนักงานสอบสวนที่กระทำต่อนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในฐานะทนายความของตนเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายวัฒนา เมืองสุข ได้เดินทางไปที่ บก. ปอท. ชั้น 4 อาคาร B ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยยืนยันที่จะต่อสู้คดีและมีการนำตัวไปฝากขังที่ศาลในคดีที่ได้โพสต์แสดงความเห็นเป็นข้อมูลทางกฏหมายทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเท็จและเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคง ก่อนได้รับการประกันตัว โดยนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ได้เดินทางติดตามไปด้วยในฐานะทนายความ









วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

"นพดล" ผิดหวังรายชื่อกรรมการปฏิรูป ไม่แปลกใจ3ปีกว่ามีแต่แผน-ไม่มีผล


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปฏิรูปที่ดีควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เห็นรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆแล้วก็ไม่เหนือความคาดหมาย แต่ไม่ขอวิจารณ์ตัวบุคคล ซึ่งตนขอตั้งข้อสังเกตเรื่องกระบวนการปฏิรูปที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ที่เริ่มตั้งแต่การตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วต่อมามีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งประชุมและเขียนแผนการปฏิรูปด้านต่างๆเต็มไปหมด มา 3 ปีกว่าแล้ว ก็ยังแปลกใจว่าทำไมจะต้องมาร่างแผนปฏิรูปอีกตั้ง 8 เดือน ทราบว่า สปช. และ สปท. ส่งแผนปฏิรูปด้านต่างๆให้รัฐบาลไปแล้วไม่ใช่หรือ? ทำไมไม่เอาแผนเหล่านี้ไปลงมือทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ตนเห็นว่าตัวชี้วัดความสำเร็จไม่ใช่จำนวนแผน แต่อยู่ที่ความสำเร็จตามแผน ขอยกตัวอย่าง 2 เรื่องคือเรื่องปฏิรูปการศึกษา กับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นพูดกันมานานหลายปี ทำสำเร็จไปแค่ไหนแล้ว? คุณภาพการศึกษาอยู่ในลำดับไหนของอาเซียน? ขณะนี้เด็กไทยมีความรู้คู่คุณธรรมและสามารถคิดวิเคราะห์ และสื่อสารภาษาอังกฤษได้ตามมาตรฐานหรือยัง? ป่าไม้ ชายทะเลและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายอย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่? จะแก้ปัญหานี้เร่งด่วนอย่างไร? ตนไม่อยากเห็นประเทศเป็นสังคมอุดมแผนปฏิรูปแต่อ่อนปฏิบัติ "อุปมาเหมือนมีนักฟุตบอลเต็มสนาม หลายคนได้รับการคัดตัวลงแข่งทุกแมตช์ และวิ่งโชว์ลีลาเลี้ยงลูกฟุตบอลมานาน แต่ที่เราอยากเห็นคือการทำประตู"

"วัฒนา" แถลงไม่หวั่น ยืนยันเดินหน้าสู้คดี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย เมื่อเวลา 10.30น. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า จะเดินทางไปที่ บก. ปอท. ชั้น 4 อาคาร B ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ เวลา10.00น. โดยยืนยันที่จะสู้คดี ทั้งนี้อาจจะมีการนำตัวไปฝากขังในคดีที่ได้โพสต์แสดงความเห็นเป็นข้อมูลทางกฏหมายทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเท็จและเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคง สำหรับในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ หากตนเองเดินทางไปที่ บก. ปอท. แล้วและได้รับการประกันตัว ก็จะประกันตัวและออกมาต่อสู้ต่อไป





วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

“พงศ์เทพ” ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม เผย “ยิ่งลักษณ์-สมชาย” ห่วงใยประชาชน


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วยอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร พร้อมมอบสิ่งของจำเป็นสำหรับการยังชีพ อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้งและน้ำดื่ม

จากการสอบถามพบว่าพื้นที่ดังกล่าวประชาชนต้องเผชิญสถานการณ์อุทกภัยนานนับเดือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะเทศบาลตำบลบุ่งไหม พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายนับพันไร่  ซึ่งอดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ประสบอุทกภัย พร้อมระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ฝากความห่วงใยมาถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ขณะเดียวกันยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมยืนเคียงข้างประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อพี่น้องประชาชนทราบว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่เยี่ยมเยียน ประชาชนต่างแสดงความดีใจที่อดีตผู้แทนราษฎรซึ่งเคยเป็นตัวแทนยังคงเคียงข้างในวันที่ยากลำบาก














"นปช." ฟื้นคดีสลายการชุมนุม'53 ห่วงความอยุติธรรมทำสังคมแตกแยก


"นปช." ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการคดีสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนปช. เมื่อปี2553 ใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อดำเนินคดีสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ใหม่ โดย นายณัฐวุฒิกล่าวว่า "ที่พวกผมเดินทางมาในวันนี้ก็เพื่อยื่นหนังสือและเอกสารข้อมูลหลักฐานประกอบร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้มีการพิจารณากรณีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ใหม่ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 86 (1) พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ซึ่งเปิดให้สามารถที่จะยื่นพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแห่งคดีให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาคำร้อง ซึ่งได้มีการยกคำร้องไปแล้วได้ พยานหลักฐานใหม่ซึ่งมีสาระสำคัญต่อคดีที่พวกผมหยิบยกมาก็คือ ผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่ง ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะ ซึ่งเป็นจำเลยร่วมทั้งหมด ประเด็นก็คือว่าในการดำเนินการฟ้องร้องคดีดังกล่าวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป.ป.ช. มีมติชี้มูลอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ มีกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อยที่เห็นควรยกคำร้อง หลังจากนั้นก็ใช้มติ ป.ป.ช. เสียงข้างมากยื่นเรื่องต่อไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดก็ชี้ข้อไม่สมบูรณ์จนนำไปสู่การตั้งคณะทำงานร่วม และเมื่อคณะทำงานร่วมได้ปรึกษาหารือทำงานร่วมกันแล้วก็ยังมีความเห็นแตกต่าง โดยฝ่ายอัยการสูงสุดเห็นว่า การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจำเลยเป็นไปอย่างเหมาะสมและชอบธรรมแล้ว จึงเห็นควรไม่สั่งฟ้อง เมื่อเรื่องกลับมาที่ ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช.ก็ใช้อำนาจหน้าที่ยื่นฟ้องเองโดยว่าจ้างทนายจากสภาทนายความ หลังจากนั้นคดีก็เข้าสู่ขบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนถึงที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง"


นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า "จากตรงนี้จะเห็นว่า การใช้ดุลยพินิจตามอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. นั้น นอกจากไม่เป็นเอกฉันท์ในชั้น ป.ป.ช. แล้ว ยังมีความแปลกแตกต่างจากองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรมคืออัยการสูงสุด แล้วในที่สุดก็แตกต่างจากดุลยพินิจของคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ต่อคดีสลายการชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์ปี 2553 ก็อาจจะแตกต่างกับอัยการและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีของกลุ่มพันธมิตร ป.ป.ช. ใช้อำนาจหน้าที่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ถึงขั้นจ้างทนายฟ้องเอง ในขณะที่คดีของกลุ่ม นปช. ป.ป.ช. กลับยกคำร้องยุติเรื่องเพียงแค่ในชั้นพนักงานสอบสวน เท่ากับเป็นการตัดโอกาสของประชาชนที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงของคดีอย่างถึงที่สุด ประการต่อมาในคำฟ้องของ ป.ป.ช. ต่อคดีของกลุ่มพันธมิตร ได้มีการระบุชัดเจนถึงจำนวนของผู้เสียชีวิตว่ามี 2 ราย แต่ในรายละเอียดกลับชี้เฉพาะรายกรณีของนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือโบว์ เท่านั้น ไม่ได้พูดถึงกรณีของ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงก็คือว่าในคำฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้ว่าการเสียชีวิตของนางสาวอังคณาน่าจะเกิดจากแก๊สน้ำตา แต่ในคำพิพากษาของศาลชี้ว่ามีความแตกต่างกับความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. โดยอ้างคำให้การของผู้เชี่ยวชาญหลายคนประกอบกัน ส่วนกรณีของสารวัตรจ๊าบ ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุรายละเอียดลงในคำฟ้องเลยนั้น จากรายงานของเจ้าหน้าที่ก็พบว่า มีการขับรถบรรทุกวัตถุระเบิดที่มีอำนาจทำลายล้างสูงเข้าไปในพื้นที่สถานการณ์และเกิดเหตุระเบิดจนเสียชีวิต ซึ่งตรงนี้เป็นสาระสำคัญแห่งคดี เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่า การชุมนุมในวันนั้นก็มิได้ปราศจากอาวุธ ซึ่งจะถือเป็นเหตุสำคัญในการยกคำร้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะได้ แต่ ป.ป.ช. เมื่อไม่ใส่ข้อเท็จจริงนี้ลงไปก็สั่งฟ้อง ในขณะเดียวกันกรณีของกลุ่ม นปช. ป.ป.ช.อ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบไม่ปราศจากอาวุธ จึงให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารและอาวุธสงครามเข้าดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพวก ในเรื่องของการชุมนุม ซึ่งมีการกล่าวอ้างคำพิพากษาของศาลนั้น กลุ่มพันธมิตรก็ได้อ้างว่าศาลเคยรับรองการชุมนุมนี้ว่าเป็นไปตามกฎหมาย แต่ในท้ายที่สุดคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีข้อสรุปที่แตกต่าง โดยชี้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย"


"ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เราบอกว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ที่มีสาระสำคัญต่อคดีเพราะชี้ว่า การใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. อาจจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคดีความ เมื่อเข้าไปสู่ชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกประการหนึ่งในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เหตุที่เกิดและจบลงกินเวลาภายในวันเดียว คือวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แต่กรณีของกลุ่ม นปช. นั้น หากนับเริ่มต้นจากการที่มีผู้เสียชีวิตจนถึงยุติการชุมนุมคือวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นั่นแสดงว่ากว่า 1 เดือนที่สถานการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน แล้วการบาดเจ็บเสียชีวิตของประชาชนก็เกิดขึ้นกันต่างกรรมต่างวาระต่างสถานที่ ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งก็มิได้เป็นผู้ชุมนุม เป็นเพียงผู้สัญจรผ่านไปมาหรือผู้มาพบเห็นเหตุการณ์แล้วเข้าไปสังเกตการณ์เท่านั้น บางรายเป็นอาสาสมัครพยาบาลซึ่งมีเครื่องหมายสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะชัดเจน แต่การพิจารณาคำร้องของกลุ่มพันธมิตรแม้เกิดขึ้นและจบลงภายในวันเดียว แต่กรรมการ ป.ป.ช. ได้แยกเหตุการณ์เป็น 3 ช่วงเวลา คือ ภาคเช้า ภาคบ่าย และภาคค่ำ ของวันเดียวกัน ขณะที่สถานการณ์ของกลุ่ม นปช. ซึ่งเกิดขึ้นเดือนกว่า กลับพิจารณาแบบเหมารวมเป็นเหตุการณ์เดียว โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งชี้ก่อนการยุติการชุมนุมจะเกิดขึ้นเกือบหนึ่งเดือนเอามาครอบคลุมทั้งหมดแล้วนำไปสู่การยกคำร้องให้จำเลยพ้นจากการถูกดำเนินคดี ในการเรียกร้องวันนี้เราจึงบรรจุประเด็นว่า ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากหยิบยกเอากรณีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่แล้ว ขอให้พิจารณาโดยแยกเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม เหตุการณ์ที่แยกบ่อนไก่ เหตุการณ์ที่ถนนราชปรารภ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อความเป็นมาตรฐานเดียวในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เครื่องมือที่ถูกระบุว่าเป็นอาวุธหรือเป็นเหตุทำให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตมีเพียงแก๊สน้ำตาเท่านั้น แต่เหตุการณ์ในปี 2553 มีอาวุธสงคราม มีปืนติดลำกล้อง แล้วก็มียุทโธปกรณ์ต่างๆมากมาย มีการประกาศเขตใช้กระสุนจริงซึ่งเห็นปรากฏชัดไปทั่วโลก พวกผมมีคำถามในใจมาตลอดว่า สั่งฟ้องแก๊สน้ำตา แต่ไม่ฟ้องอาวุธสงครามและปืนติดลำกล้องได้อย่างไร?"


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยังกล่าวด้วยว่า "คนมือเปล่าถูกยิงร่วมร้อยชีวิตกลางเมืองหลวง แต่ทุกวันนี้ยังไม่รู้จะไปเอาผิดกับใคร? ซึ่งพวกผมหวังจะได้รับโอกาส จากกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน ที่ผมเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องเพื่อตนเอง ผมเรียกร้องให้ความยุติธรรมต่อผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย ถูกผิดต้องว่ากัน ไม่ใช่จะมายุติเรื่องจาก ป.ป.ช. ที่มีความเห็นแตกต่างกัน ยิ่งเฉพาะสถานการณ์แบบนี้ ยากที่พวกผมจะส่งเสียงใดๆได้ ซึ่งพวกผมเจ็บปวด แต่พวกผมก็จะรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000คน ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา ให้ทำเรื่องยื่นต่อศาลเพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม โดยพวกผมจะรอดูว่าหากมีการยื่นอุทธรณ์คดีพันธมิตรฯ ป.ป.ช. จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช." 

"ความยุติธรรมไม่เคยทำร้ายใคร แต่ความอยุติธรรม ต่างหากที่เป็นตัวสร้างความแตกแยกในสังคม" นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าว