วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่


นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ตอบคำถามของสื่อมวลชน ถึงขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนี้

ถ้ามีคำสั่งของศาลออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์จะเป็นอย่างไร? เพราะขณะนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีของนักการเมืองยังไม่ประกาศใช้

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ถ้าเป็นคดีของนักการเมือง อยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง โดยปกติแล้ว รัฐธรรมนูญเขียนไว้อยู่อันหนึ่งว่า ถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองตัดสินอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ถ้าจะอุทธรณ์ ต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ก็อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ไม่ใช่องค์คณะแค่ 9 คน ต้องทั้งศาลเลย ประมาณ เกือบ 70 คน เป็นองค์คณะใหญ่ ที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกา นั่นหมายความว่าทุกคนที่เป็นผู้พิพากษาของศาลฎีกาต้องร่วมพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง จะไม่เหมือนคดีปกติ ที่ขึ้นศาลอาญาที่เราจะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็จะมีองค์คณะ 3 คน และถ้าฎีกาได้ ก็ยื่นฎีกาต่อไป ส่วนคดีอาญาของนักการเมืองแต่เดิมอุทธรณ์ไม่ได้ ตอนนี้เขาให้อุทธรณ์ได้ แต่อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งก็ยากพอสมควรครับ

โดยข้อกฏหมายตามข้อกฏหมายใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ใช่หรือไม่?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ไม่ครับ คือ หากไม่เห็นด้วยกับ องค์คณะทั้ง 9 คนนี้ ก็ฎีกาได้ ไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่

อุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฏหมาย?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ได้หมดเลย แต่ก็ยาก เพราะข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไต่สวนก็ยุติหมด ศาลฎีกาส่วนใหญ่จะพิจารณาเฉพาะข้อกฏหมาย คือ ต้องเข้าใจว่าถ้าศาลปกติอย่างศาลชั้นต้น เขาจะดูเรื่องข้อเท็จจริงเป็นหลัก ศาลอุทธรณ์ก็ดูข้อเท็จจริงผสมข้อกฏหมาย ศาลฎีกาก็จะดูเฉพาะข้อกฏหมาย ข้อเท็จจริงก็จะไม่ยุ่ง ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะดูข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายควบคู่กัน แต่พอถึงที่ประชุมใหญ่ ส่วนใหญ่ก็จะต้องฎีกาแต่เฉพาะข้อกฏหมาย ว่าการกระทำตามข้อเท็จจริงดังกล่าวผิดต่อข้อกฏหมายหรือไม่เท่านั้น ปกติศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่จะไม่ยุ่งกับข้อเท็จจริงครับ

จะต้องใช้เสียงอย่างไรจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะต้องมีสัดส่วนเท่าไหร่ เกินครึ่งหรือว่าอย่างไร?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ต้องเกินกว่าครึ่ง

กระบวนการ สมมุติวันนี้มีคำพิพากษาออกมา กว่าจะไปถึงองค์คณะใหญ่ ใช้เวลาดำเนินการเท่าไหร่? อย่างไรบ้าง?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลตัดสิน ถ้าไม่ทันก็ขยายได้

การเรียกประชุมใหญ่ของศาลฎีกาชุดใหญ่ ใช้เวลาอย่างไรบ้าง หลังจากที่มีการยื่นคำร้องไปแล้วหรือว่าอย่างไร?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาที่ประชุมใหญ่แล้ว ก็คงต้องให้ศาลฎีกาใช้เวลา จัดทำสำเนาเอกสารต่างๆและสรุปข้อเท็จจริงต่างๆแจกจ่ายให้กับผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกท่าน แล้วถึงจะเรียกประชุมเมื่อเอกสารพร้อม เรียกประชุมก็อาจจะไม่ใช่วันเดียวจบ ศาลฯก็จะมองกันหลายมุม และแต่ละท่านก็มีความเป็นอิสระ ก็ว่ากันไปครับ

การไปขออุทธรณ์ ทำได้ทั้งโจทก์และจำเลยหรือไม่?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - ได้ครับ ได้หมด เขาไม่ห้าม เขาบอกว่าสามารถอุทธรณ์ได้ เพียงแต่อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา

ในส่วนนี้ เคยมีคดีที่เทียบเคียงได้หรือไม่ครับ?

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม - จำได้เคยมีอยู่คดีหนึ่ง แต่อุทธรณ์แล้วไม่เป็นผล





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น