วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560
“วิญญัติ” เร่งเอาผิด “อภิสิทธิ์-สุเทพ” คดีสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา’53
นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ทนายความพร้อมด้วยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย 10เมษายน-19พฤษภาคม 2553 เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ให้แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนคดีการเสียชีวิต 99 ศพ ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ต้องหา กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เพื่อนำมารวมกับสำนวนความผิดฐานเจตนาฆ่าที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องไว้แล้ว เพื่ออัยการสูงสุดจะได้ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลอาญาต่อไป
นายวิญญัติ กล่าวว่า "ในหนังสือเนื้อหาเรามีประเด็นอยู่ 5 ประเด็นในการที่มายื่นต่อท่านอัยการสูงสุด ในฐานะที่ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาลำดับสูงขององค์กรอัยการ เนื่องจากว่าหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288-4289/2560 ได้วินิจฉัยออกมาเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ชัดเจน ประเด็นแรกก็คือเรื่องของการให้ ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการไต่สวนข้อกล่าวหา ซึ่งองค์กรของ ป.ป.ช. นั้นอาจจะเคยไต่สวนไปแล้วเมื่อปี 2558 และมีคำสั่งหรือมีมติให้ยกคำร้องก็ตาม หรือว่าเห็นว่าไม่มีมูลก็ตามนั้น ปัจจุบันนี้เราได้พบข้อเท็จจริงทางคดี ในส่วนสาระสำคัญ คือการมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นที่รับทราบอยู่แล้ว และประเด็นที่สอง ก็คือเรื่องของพยานหลักฐานที่มีบางท่าน ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. เอง หรือนักกฎหมายบางคนเอง ออกมาเรียกร้องหาพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งทางทีมทนายความแล้วก็ญาติผู้ตายและส่วนที่เกี่ยวข้อง เราได้วิเคราะห์คำพิพากษาและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วว่า พยานหลักฐานใหม่ประกอบด้วย 3 ชิ้น คือ 1. คำพิพากษาศาลฎีกา 2. สำนวนการสอบสวนและคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดในข้อหาเจตนาฆ่า ซึ่งเรื่องนี้อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องไปแล้วและคำสั่งนี้ก็ยังมีผลสมบูรณ์อยู่ ณ ปัจจุบัน ป.ป.ช. เองไม่ได้เป็นผู้สอบก็จริง แต่ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจอยู่แล้วตามกฎหมาย เนื่องจากว่าไม่ใช่ความผิดมาตรา 157 หลักฐานที่ 3. ก็คือเรื่องของคำสั่งไต่สวนการตายของทั้งหมดที่มีเราอยู่ 13-14 คำสั่ง ปัจจุบันนี้เราเชื่อมั่นว่า ป.ป.ช. เองที่ยกคำร้องไปในอดีตนั้น ไม่ได้นำหลักฐานชิ้นนี้ หลักฐานชิ้นนี้ไม่ได้มีแต่คำสั่ง แต่มีสำนวนการสอบสวน ซึ่งเป็นสำนวนสอบสวนการตายตาม ป.วิอาญา จะประกอบด้วยคำพยาน คำเบิกความหลายๆส่วน แล้วก็เรื่องความเห็น รวมทั้งการตรวจหาที่เกิดเหตุ เราเห็นว่าทั้ง 3 ส่วนนี้คือพยานหลักฐานใหม่ ตามสิ่งที่มีบางคนเรียกร้อง"
นายวิญญัติ กล่าวว่า "ประการที่สองที่เรานำเสนอต่ออัยการสูงสุดวันนี้ คือเรื่องของหน้าที่ของอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. ซึ่งจะต้องทำการไต่สวนเรื่องนี้ให้ปรากฏ เนื่องจากว่าเมื่อมีการตายเกิดขึ้นหลายศพร่วมร้อยศพ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ กระบวนการยุติธรรมที่จะนำเข้าไปสู่การพิจารณา การใช้เทคนิคทางกฎหมายหรือข้ออ้างบางประการเพื่อที่จะตัดอำนาจของตัวเองไป เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น เนื่องจากจะลดความน่าเชื่อถือในองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง"
"ประการที่สาม เรายืนยันเสมอว่า เรื่องนี้ทางอัยการสูงสุดสามารถที่จะดำเนินการส่งฟ้องในข้อหามาตรา 288 ได้อยู่ แต่เมื่อศาลฎีกาท่านได้ชี้ว่า องค์กรที่มีอำนาจไต่ส่วนโดยตรงคือ ป.ป.ช. เราก็ขอให้อัยการสูงสุดส่งสำนวนที่เกี่ยวข้องเพื่อไปไต่สวนข้อหามาตรา 157 ต่อ ไม่ได้ใช้สำนวนเดิม ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้สำนวนหรือพยานหลักฐานเดิม เราจะใช้สำนวนหรือพยานหลักฐานตามมาตรา 288 สำนวนนี้ไปเป็นหลักฐานใหม่ เพื่อให้ไต่สวนมาตรา 157 ถ้าหากอัยการไต่สวนแล้ว ไม่ผิดมาตรา 157 อัยการสูงสุดหรืออัยการที่รับผิดชอบก็ต้องฟ้องมาตรา 288 ต่อศาลต่อไป หรือถ้าไต่สวนแล้วผิดมาตรา 157 ก็ต้องนำสำนวนมาตรา 288 รวมกับกับสำนวนมาตรา 157 ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีการเมืองต่อไป นี้คือประเด็นที่เราจะทำให้เกิดความชัดเจน หลังจากนี้ต่อไปเราก็ให้ท่านอัยการสูงสุดได้รับหนังสือและคำพิจารณาหนังสือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งเราเห็นว่า เป็นหน้าที่ขององค์กรอัยการที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ หากบุคคลใดหรือท่านใดที่เห็นว่าไม่มีหลักฐานใหม่หรือพยายามที่จะตัดอำนาจของตัวเองโดยการที่จะนิ่งเฉย เราก็จะพิจารณาดำเนินการในทางกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิ์ของเราต่อไป" นายวิญญัติกล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น