วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560

ทนายวิญญัติ สอนกฎหมาย ยืนยันช่วยยิ่งลักษณ์ไม่ผิด


ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ยืนยันว่า การช่วยเหลือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย ไม่เป็นความผิด โดยมีเนื้อหาดังนี้

#นี่ถ้าเป็นผู้เข้าสอบก็ถือว่า "สอบตก" แต่พอเป็นทนายความหรือนักกฎหมาย เขาเรียกว่า “เสียเหลี่ยม”
มีคนออกมาชี้เอาความผิดแบบหนักแน่น ว่าตำรวจ 3 นาย ที่ให้ปากคำว่ามีการขับรถยนต์ให้อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยพาเดินทางไปทางจังหวัดติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 นั้น ก็เป็นเรื่องเป็นราวอยากให้เป็นประเด็นติดกระแสไว้ก็ว่ากันไปตามประสาคนอยากมีหน้ามีตาหรือไม่ไม่ทราบ แต่อาจจะขายขี้หน้าได้ก็ต้องยอมรับไปเองแล้วกัน
#เหตุผลคืออะไร?

มาว่ากันด้วยองค์ประกอบความผิด มาตรา 189 ที่จะถือเป็นความผิด มีดังนี้ ช่วยผู้อื่นซึ่งเป็น ”ผู้กระทำความผิด” หรือ “เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด” อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องรับโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้ โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม

การกระทำ จะต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
1)โดยให้ที่พัก หรือ
2)โดยซ่อนเร้น หรือ
3)โดยช่วยอย่างอื่น เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม

แยกออกเป็น 2 กรณี คือ
•กรณีแรก ช่วยผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด เพื่อมิให้ต้องรับโทษ การกระทำที่เป็นช่วยเหลือ อันจะเป็นความผิดต่อเมื่อให้ที่พำนักแก่บุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่ยังไม่มีพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานจะจับกุม ดังนั้น การกระทำความผิดกรณีนี้ จะมีเฉพาะการให้พำนักหรือซ่อนเร้นผู้กระทำความผิดเท่านั้น (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2449/2522)
•กรณีที่สอง ช่วยผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดด้วยประการใดๆ เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อไม่ให้ต้องรับโทษ
ก็รณีนี้ต้องมีพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานจะเข้าจับกุมหรือมีพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานติดตามจับกุมอยู่ ช่วยด้วยประการใดๆรวมถึงให้พำนักหรือซ่อนเร้นเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม จึงจะเป็นความผิด (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2521)

#ไม่ใช่ผู้กระทำความผิด

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี แม้จะถูกกล่าวหาและถูกฟ้องดำเนินคดีอาญา และได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี โดยมีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศก็ตาม เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดว่ามีความผิดตามฟ้อง ก็ต้องถือว่าอดีตนายกฯไม่ใช่ผู้กระทำผิด (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2517)

#หมายจับเพื่อให้มาศาล

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ชัดเจนขึ้นอีก ขอย้ำว่า การที่ศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 นั้น ก็เพราะไม่ได้เดินทางไปศาลเพื่อไปฟังคำพิพากษา ศาลท่านก็ออกหมายจับเพื่อให้ได้ตัวมาฟังคำพิพากษาของศาลฯ จึงมิใช่ออกหมายจับเพราะอดีตนายกฯกระทำผิดฐานหลบหนีไม่ไปศาลหรือเป็นผู้กระทำความผิดฐานใด จะมีเพียงก็เป็นการผิดสัญญาประกัน ศาลก็ต้องปรับนายประกันยึดหลักประกันไปตามสัญญาที่ทำไว้กับศาลเท่านั้น

เมื่อถึงวันนัดอ่านคำพิพากษา คือวันที่ 27 กันยายน ศกนี้ การอ่านคำพิพากษาลับหลังนั้น หากถูกตัดสินว่ามีความผิดให้ลงโทษทางอาญา ก็ต้องออกหมายจับเพื่อให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา แต่หากตัดสินให้ยกฟ้องก็ถือว่าพ้นความผิดในคดีนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมา สรุปว่า การกระทำของตำรวจทั้ง 3 นาย ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 189
หวังว่า บรรดาผู้มีหน้ามีตาทั้งหลาย ควรจะเลิกชี้ช่องแบบผิดๆกันได้แล้วนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น