ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อ กรรมการ ป.ป.ช. ผ่านนายสุทธิ บุญมี ผอ.คณะด้านสือบสวนและกิจการพิเศษ เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปดำรงตำแหน่งกรรมการปฏิรูปตำรวจและกรรมการกฤษฎีกา เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2542 มาตรา 13 หรือไม่? และจะเข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 หรือไม่?
นายเรืองไกร กล่าวว่า "การที่นายกฯ และคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งนายธานิศ เกศวพิทักษ์ ที่เป็นหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย เป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ตลอดจนการแต่งตั้ง นายธานิศ และนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ที่เป็นเจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว เป็นกรรมการกฤษฎีกานั้น เป็นการแต่งตั้งถูกต้องหรือไม่ เพราะกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งฉบับเดิมที่มีบทบัญญัติในมาตรา 13 และฉบับใหม่ในบทบัญญัติมาตรา 11 วรรคสี่ ห้ามไม่ให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาในองค์คณะไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกาบังคับไว้
"ผมเห็นว่าทั้งกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการปฏิรูปตำรวจ เป็นหน่วยงานอื่นที่อยู่นอกศาลฎีกาอย่างชัดเจน ดังนั้น การดำเนินการของนายกฯและคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2542 มาตรา 13และอาจมองได้ว่าเป็นการที่ฝ่ายบริหารไปแทรกแซงฝ่ายตุลาการ จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่าจะเข้าข่ายมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 หรือไม่?" นายเรืองไกร กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น