ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
“รวยกระจุก - จนกระจาย”
ผมเคยเขียนแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจในประเด็นที่สงสัยกันว่า ทางรัฐบาลมักพูดถึงตัวเลขดีๆว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตขยายตัวอยู่เสมอ แต่ทำไมคนจำนวนมากรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีเอาเสียเลย มีแต่คนบอกว่า เดือดร้อนยากจนกันไปหมด
ผมได้เสนอตัวเลขให้เห็นว่า มีบางส่วนของเศรษฐกิจเท่านั้นที่ขยายตัวและขยายตัวมาก คือ ในภาคการส่งออกเฉพาะบางสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว จนดึงตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นบวก ซึ่งก็หมายความว่าคนส่วนใหญ่อยู่กับการทำมาค้าขายที่แย่ลงแทบจะไม่โตหรือโตน้อยมาก จึงเดือดร้อนกันจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้สึก
แม้กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ กระทรวงการคลังก็ยอมรับว่า แม้ตอนนี้เศรษฐกิจภาพรวมของไทยจะขยายตัวได้ดี แต่ยังมีปัญหาการกระจุกอยู่ในเฉพาะเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่จังหวัดเล็กยังเติบโตไม่เยอะ เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่เติบโตสูง แต่ก็มาจากการขยายตัวเพียง 10 บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ในทางกลับกันกลุ่มเอสเอ็มอีก็ยังได้น้อย
และยิ่งไปกว่านั้น “คลังยังมีการทำข้อมูลโดยนำธุรกิจภาคสำคัญๆ เช่น ค้าปลีก โรงแรม ก่อสร้าง ภาคการเกษตร มาพิจารณาถึงการจ้างงาน และรายได้ด้วย ซึ่งพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในภาคธุรกิจที่มีรายได้น้อย ส่วนภาคธุรกิจที่มีรายได้มาก กลับมีการจ้างแรงงานน้อย....” ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผมเคยเขียนไปแล้วว่า คนทำงาน 30% อยู่ในภาคเกษตร ที่มีส่วนแบ่งในผลผลิตรวมของประเทศเพียงแค่ 8% ส่วนที่เหลืออีก 92% แบ่งกันไประหว่างคนอีก 70% ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ นั่นคือคนจำนวนมากมีส่วนแบ่งจำนวนน้อย
ล่าสุดเมื่อ 29 กันยายนที่ผ่านมา ธปท.ก็ออกมาพูดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัว แต่ก็ยอมรับว่ารายได้คนจนยังไม่ดีนักและยังให้ข้อมูลด้วยว่ารายได้ภาคเกษตรในเดือนสิงหาคมติดลบ 2.1% และติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง
ข้อมูลนี้ ทำให้คิดถึงปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การกระจุกตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และนโยบายในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งอย่างน้อย ในตอนนี้กระทรวงการคลังก็บอกว่ารู้ปัญหาและบอกด้วยว่าจะมีการวางแผนแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วย ทว่า จะแก้ปัญหาได้แค่ไหนคงต้องติดตามกันต่อไป
จากข้อมูลข้างต้นและจากที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะปัญหา “รวยกระจุก - จนกระจาย” นี้ มีคำถามที่เราควรจะคิดกันอย่างจริงจังต่อไป เช่น
1. ทำอย่างไรจึงจะลดการ “รวยกระจุก” ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายไปในจังหวัดต่างๆ ไม่กระจุกตัวอยู่แต่กรุงเทพและเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ รวมถึงทำให้โอกาสของคนในชนบท / ต่างจังหวัด เข้าถึงช่องทางการทำมาหากิน และทำมาค้าขายได้สะดวกมากขึ้น
2. ทำอย่างไร จึงจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ได้ประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนการส่งออกและส่งเสริมการลงทุนของไทยอย่างทั่วถึง
3. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศตามยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ”จะช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงจะช่วยสนับสนุนการทำมาค้าขายในระดับหมู่บ้าน ชุมชนให้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
4. ทำอย่างไร จะทำให้คนส่วนใหญ่ ที่ได้รับส่วนแบ่งเป็นส่วนน้อย ได้มีโอกาสย้ายไปทำงานที่ได้รับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น
5. ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ จะเตรียมแรงงานอย่างไรให้รับมือกับเทคโนโลยีแบบใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และตามทิศทาง “ประเทศไทย 4.0”ที่กำลังส่งเสริมกันอยู่ รวมทั้งจะเตรียมแรงงงานให้พร้อมรับกับแนวโน้มที่อุตสาหกรรรมในประเทศต่างๆกำลังจะลดการใช้กำลังคนกันอย่างมากและรวดเร็วด้วย ได้อย่างไร
6. จะดูแล “การจนกระจาย” ด้วยระบบแบบใด เมื่อปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีคนที่งานทำอยู่ 37.6 ล้านคน แต่มีคนที่ลงทะเบียนว่าเป็นคนจนถึง 11.4 ล้านคน และรัฐก็สัญญาว่าจะช่วยคนเหล่านี้ ทั้งเรื่องค่าของกินของใช้ ค่าแก๊สหุงต้ม ค่ารถเมล์/รถไฟ ก็ต้องถามต่อว่า จะช่วยนานแค่ไหน จะช่วยทุกคนที่มาลงทะเบียนทุกปีหรือไม่ จะใช้เงินจากที่ไหน คิดเป็นระบบดีแล้วหรือยัง แล้วก็จะทำอย่างไรเพื่อให้ “คนหลุดพ้นความจน”
7. นโยบายการคลังในหลายเรื่องมีผลต่อเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไรกันแน่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีสรรพสามิต ดิวตี้ฟรี หรือเรื่องอื่นๆ เช่น นโยบายกระตุ้นให้คนไปเที่ยวกันมากในช่วงเทศกาลหยุดยาวหรือตั้งใจให้หยุดยาว มีผลต่อการกระจุก- กระจายและมีผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างไร ยังควรมีต่อไปหรือไม่
ล่าสุดก็มีภาษีน้ำ ทำนา-เลี้ยงสัตว์ ที่ยังไม่มีความชัดเจนขึ้นมาอีก
คงมีอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” ของเศรษฐกิจไทย ฝากคิดกันต่อนะครับ ผมจะพยายามขยายความคำถามเหล่านี้ แล้วหลังจากนั้นก็อาจจะช่วยกันคิดถึงสิ่งที่ควรจะเป็นต่อไปด้วย
.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น