ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ใครได้ ใครเสียจากคำแถลงร่วม สหรัฐ - ไทย
การที่พลเอกประยุทธ์ได้รับเชิญไปพบกับประธานาธิบดีทรัมป์มี 'นัยทางการเมือง' ที่น่าสนใจอยู่หลายประการ แต่อาจจะถูกกลบเกลื่อนเสียด้วยเรื่องโรดแมปที่ปรากฏในคำแถลงจนคนอาจจะไม่ค่อยสนใจแง่มุมอื่นๆ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญและอาจส่งผลต่อประเทศไทยได้มากทีเดียวก็ได้
ที่ควรจะพูดถึงเสียก่อน ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับวันเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งในคำแถลงร่วมบอกว่า “…ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงความยินดีที่ไทยยังคงยึดมั่นตามโรดแมป เมื่อมีการตรากฎหมายลูกตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2561…” ซึ่งก็ชัดเจนในตัวอยู่
แต่ในรายงานข่าวของบางสำนักตั้งแต่แรกก็ใช้คำว่า "จะประกาศให้มีการเลือกตั้งในปี 2561” ผมรู้สึกเอะใจตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ยังได้ทวีตทักเอาไว้ในทันที่ที่เห็นข่าวว่า ประกาศให้มีเลือกตั้งกับให้มีเลือกตั้ง ความหมายไม่เหมือนกัน
ต่อมาพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณก็อธิบายว่าพลเอกประยุทธ์หมายความว่า “จะประกาศในปี 61 แต่การเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นในปี 62 ก็ได้ ทำให้ผมคิดอยู่ในใจว่า “ว่าแล้วไง”
ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ออกมายืนยันเอง เป็นที่เข้าใจตรงกันในบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายและคนทั่วไปแล้วว่า การเลือกตั้งจะมีในปี 2562 หรืออย่างเร็วก็ปี 2562
ไม่ตรงกับคำแถลงร่วมสหรัฐ - ไทย
จนถึงวันนี้ ผู้ที่ยังเข้าใจผิดเรื่องนี้อยู่คนเดียวอาจจะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งก็ดูจะไม่ได้สนใจเท่าไหร่ว่าการเลือกตั้งของไทยจะมีขึ้นเมื่อใดอยู่แล้วด้วย
จะว่าไปแล้ว นอกจากเรื่องโรดแมปยังมีข้อความตอนอื่นในคำแถลงที่ไม่เป็นความจริง ที่เห็นได้ชัด ก็คือ ข้อความในข้อ 8 ตอนต่อจากเรื่องโรดแมปที่บอกว่า “….ผู้นำทั้งสองยังได้ตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานทั้งหลาย” นั่นแหละ
ประธานาธิบดีทรัมป์จะให้ความสำคัญหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ จึงไม่ขอออกความเห็น แต่ที่เป็นที่รู้กันทั่วไป ก็คือ พลเอกประยุทธ์ไม่ได้ให้ความสำคัญในการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานทั้งหลายแม้แต่น้อย สิ่งที่ท่านทำมาตลอด 3 ปีกว่ามันฟ้องอย่างนั้น และจนถึงบัดนี้ท่านก็ยังคงคำสั่งต่างๆรวมทั้งใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของท่านสั่งการที่เป็นการจำกัดและละเมิดสิทธิสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานอยู่เป็นประจำและยังจะทำต่อไป
ข้อความในคำแถลงในส่วนนี้ จึงไม่เป็นความจริงและถือเอาเป็นสาระอะไรไม่ได้
หลายเรื่องในคำแถลงดูจะเป็นเรื่องที่จะต้องหารือกันอยู่เป็นปรกติ เรื่องอื่นที่น่าสนใจ คือ เรื่องเกี่ยวกับทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี
เรื่องทะเลจีนใต้นั้น ไทยไม่อยู่ในความขัดแย้งโดยตรง การมีข้อตกลงกับใคร จึงต้องสนใจว่า ประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศที่มีข้อพิพาทกันอยู่จะคิดอย่างไรกับเรา ส่วนเรื่องคาบสมุทรเกาหลีนั้น สิ่งที่จะต้องติดตาม ก็คือ ประเทศไทยเราไม่ควรจะทำอะไรที่เกินกว่าความเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องไปเผชิญหน้ากับใครโดยไม่จำเป็น
ส่วนที่เป็นข่าวว่า การพบกันของสองผู้นำครั้งนี้จะนำไปสู่การค้าและการลงทุนมากขึ้นนั้น ดูจะไม่ค่อยมีความหวังสำหรับไทยสักเท่าไหร่ เพราะบังเอิญเป็นการพบและหารือกันในช่วงที่ผู้นำสหรัฐกำลังหาทางให้นักลงทุนสหรัฐกลับไปลงทุนในประเทศอยู่ กับกำลังต้องการลดการขาดดุลการค้าและถ้าข่าวรัฐบาลไทยพยายามซื้ออาวุธจากสหรัฐเป็นจริงก็ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ที่ว่าจะมีการค้ากันมากขึ้นนั้นหมายถึงอะไร
โดยภาพรวมแล้ว การเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจย่อมเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทย แต่การพบกันครั้งนี้ นอกจากเกิดขึ้นในขณะที่ผู้นำสหรัฐมีนโยบายที่เน้นประโยชน์ของประเทศตนต้องมาก่อนแล้ว ยังเป็นช่วงที่สหรัฐกำลังต้องการมีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้น ในเรื่องที่ไทยต้องระมัดระวังในการวางตัวอยู่ด้วย ขณะที่รัฐบาลไทยเองก็กำลังอยู่ในสภาพเสียสมดุลเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอยู่ด้วยพอดี
พูดตรงๆ ก็คือ รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนั้น กลัวโดนโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก เมื่อประเทศทางตะวันตกไม่นิยมชมชอบการรัฐประหาร ก็รีบหยิบฉวยเอามิตรภาพจากมหาอำนาจที่ไม่เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าจะต้องยกสิทธิประโยชน์อะไรให้แก่เขาบ้าง จนทำให้เสียสมดุลหรือเอียงไป ครั้นพอมหาอำนาจอย่างสหรัฐยื่นมือมาให้จับ ถึงแม้อาจจะทำให้ปัญหาความไม่สมดุลกระเตื้องขึ้นบ้าง
แต่แทนที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการกระชับความสัมพันธ์นี้ก็กลับไม่ได้อะไรเท่าใดนัก และยังมีเรื่องที่สังคมไทยต้องสนใจติดตามเพื่อป้องกันผลเสียที่อาจตามมาด้วย
......
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น