วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2560

"ชวลิต" ห่วงเล็งเป้าให้โทษบุคคลย้อนหลัง ขัดหลักนิติธรรม


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่เคยให้ความเห็นว่ามี 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ คือ ระบบการเมืองการปกครองที่ไม่ปกติ , อำนาจนอกระบบซ้อนอำนาจอธิปไตย และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ว่า "จะเห็นได้ว่าหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่งผลให้หุ้นพุ่งทันที แม้เป็นเพียง 1 ใน 3 ปัจจัยที่กระทบเชื่อมั่น ตนเชื่อว่า ความเชื่อมั่นจะสูงขึ้นเป็นลำดับ หากแก้ไขปัจจัยลบที่กระทบความเชื่อมั่นอีก 2 ปัจจัยโดยเร็ว กล่าวคือ "ปัจจัยอำนาจนอกระบบซ้อนอำนาจอธิปไตย" จะเห็นได้ว่า แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 แต่ยังมีอำนาจนอกระบบตามมาตรา 44 ทับซ้อนอำนาจอธิปไตยตามมาตรา 3 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงกระทบกับความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย ถ้ายังคงอำนาจนอกระบบอยู่ ไทยอาจเป็นประเทศที่แปลกที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่ยังมีมาตรา 44 กำกับอยู่ ตนเห็นว่ามาตรา 3 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญมีความสำคัญยิ่ง เพราะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์บัญญัติไว้ ดังนี้ "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" ดังนั้น จึงไม่ควรมีอำนาจใดมาทับซ้อน อันจะทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น หากดำเนินการแก้ไขได้โดยเร็ว ความเชื่อมั่นก็จะกลับคืนมาเป็นทวีคูณ"

นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า ในปัจจัยที่ 3 "ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม" ปัจจุบันมีประเด็นที่สังคมยังคลางแคลงว่า มีการใช้กฎหมายในลักษณะเลือกปฏิบัติ และใช้กฎหมายให้มีผลย้อนหลังไปเป็นโทษแก่บุคคล แม้จะมีการชี้แจงจากรัฐบาลว่า กฎหมายวิธีพิจารณาคดีสามารถย้อนหลังได้ ไม่เสียความเป็นธรรม แต่ตนเห็นว่า เป็นการให้ความเห็นที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่สามารถไปรื้อฟื้นคดีย้อนหลังได้ ผลลัพธ์ย่อมเป็นโทษแก่บุคคล ย้อนหลัง

"ตนเห็นว่า ถึงอย่างไรเป้าหมาย หรือผลลัพธ์สุดท้ายก็เป็นโทษแก่บุคคลย้อนหลัง ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรมอย่างแน่นอน และเป็นที่ทราบกันดีว่า ต่างประเทศให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การรื้อฟื้นคดีเพื่อดำเนินคดีแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงสุ่มเสี่ยงกับความเชื่อมั่นของประเทศที่จะสูญเสียไป ถือว่าได้ไม่คุ้มเสียตนหวังว่า ปัจจัยลบที่มีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศอีก 2 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แล้วรวมพลัง ร่วมมือกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศในอนาคตอันใกล้ต่อไป" นายชวลิตกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น