วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

"จาตุรนต์" เร่ง คสช. พ้นอำนาจตามโรดแมป ติงเลื่อนเลือกตั้ง-นายกฯคนนอกไม่ง่าย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

อย่าฝันหวานไปนัก.

การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้  กับการทำให้คนในคสช.ได้เป็นนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้ง คือ เรื่องเดียวกัน

จากนี้ไป โจทย์ใหญ่ของคสช. คือ การใช้เวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทำให้แน่ใจว่า พรรคการเมืองทั้งหลายโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นั่นก็หมายความว่า ยังจะเกิดอะไรต่อมิอะไรขึ้นอีกมาก ทั้งการออกกฎหมายลูก เตรียมองค์กรตามรัฐธรรมนูญและการจัดการกับพรรคการเมืองและนักการเมือง

ทั้งการกระทำต่อชื่อเสียง คะแนนนิยม องค์กรและบุคลากร  รวมทั้งการสร้างฐานการเมืองสนับสนุนผู้นำคสช.ให้กว้างและเข้มแข็งมากขึ้นๆ

ผมเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า คนนอกมีโอกาสเป็นนายกฯมากกว่าสส.จากพรรคการเมืองมาก แต่ฟังความเห็นนักการเมืองกับคอการเมือง รวมถึงประชาชนที่ได้คุยกันมาบ้างก็รู้สึกว่า หากคนนอกได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่จะบริหารงานได้ราบรื่นง่ายดาย รัฐบาลอาจจะไม่มีเสถียรภาพเอาเสียเลยด้วยซ้ำ  สถานการณ์น่าจะต่างจากสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบเมื่อ 30 กว่าปีก่อนอย่างมาก
เมื่อก่อนนี้  พรรคการเมืองในสภามีหลายพรรค พรรคที่ใหญ่ที่สุดมีสส.อย่างมากก็ประมาณหนึ่งในสามของสส.ทั้งหมด แต่ในระยะหลังพรรคการเมืองมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ถึงแม้ระบบเลือกตั้งจะหาทางป้องกันไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก แต่ก็คงไม่เกิดสภาพเบี้ยหัวแตกอย่างในอดีตอีกแล้ว

ดังนั้น หากพรรคการเมืองใหญ่แค่พรรคเดียวไม่ร่วมรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ใช่จะอยู่ได้แบบสบายเหมือนในอดีต การต่อรองในรัฐบาลก็จะดุเดือดเข้มข้น พลาดนิดเดียวรัฐบาลก็ล้มได้เหมือนกัน ยิ่งรัฐบาลนายกฯคนนอกต้องคอยเอาใจสว.250 และพรรคการเมืองต่างๆ โดยไม่ต้องคอยตอบสนองความต้องการของประชาชน ความมั่นคงทางการเมืองก็จะยิ่งน้อย

นอกจากนั้น ในปัจจุบันดูจะไม่ง่ายนักที่พรรคการเมืองต่างๆจะไปสนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯโดยไม่ฟังเสียงประชาชน

กลายเป็นว่า ถ้าพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ถูกกำกับด้วยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปจนทำอะไรไม่ได้ และคงอยู่ได้ไม่นานก็จะถูกกลไกในรัฐธรรมนูญจัดการให้พ้นหน้าที่ไป ถ้าเป็นรัฐบาลนายกฯคนนอกก็จะเจอปัญหาอีกแบบ คือ ต้องเจอกับการต่อรองในฝ่ายรัฐบาลและยังขาดทั้งเสถียรภาพในสภาและขาดความชอบธรรมทางการเมืองอีกด้วย

เรามาถึงจุดนี้ก็เพราะ คสช. ต้องการระบบที่ตนเองสืบทอดอำนาจได้แน่ๆเต็มๆไปเลย แต่พอร่างรัฐธรรมนูญกันออกมาแล้วกลับครึ่งๆกลางๆไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังที่ตั้งใจ เรื่องก็เลยจะไม่ง่ายอย่างที่วางแผนเอาไว้

อย่างที่ผมกล่าวแล้ว คงมีความพยายามทำอะไรอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้แต่ต้น ถ้าทำจนแน่ใจว่าเป็นไปตามแผนได้เร็ว การเลือกตั้งก็อาจไม่ล่าช้านัก แต่ถ้าทำอย่างไรก็ยังไม่อาจแน่ใจเสียทีว่า คนนอกจะได้เป็นรัฐบาลและบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น เราอาจเห็นการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเรื่อยๆก็ได้

ถึงอย่างไร  โรดแม็ปก็เป็บแบบปลายเปิดอยู่แล้ว เคยบอกว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่แบบชัดๆลงไปเสียเมื่อไหร่

แต่ก็อยากจะเตือนเสียหน่อยว่า ใครก็ตามที่คิดจะมาเป็นนายกฯคนนอก  โดยคิดว่า อะไรๆจะง่ายไปเสียหมดเหมือนตอนมีมาตรา 44 อยู่ในมือนั้น อย่าได้ฝันหวานไปเลย

ที่น่าเป็นห่วง คือ จากระบบที่เขาออกแบบกันไว้นี้  หลังการเลือกตั้งประเทศก็ยังไม่มีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นจากนานาประเทศก็อาจไม่เกิดขึ้น เพราะเขาก็รู้อย่างที่เรารู้เหมือนกัน


.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น