นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เข้าพบนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ทำเนียบขาว ในโอกาสเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา บอกว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2018 หรือ ปี 2561 แต่พอเดินทางกลับถึงประเทศไทยกลับชี้แจงให้เกิดความสับสน อ้างว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 แต่จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ยังไม่สามารถระบุได้นั้น ว่า "ไม่แน่ใจว่าเป็นความเข้าใจผิด สื่อสารผิด หรือจงใจที่จะส่งสัญญาณในลักษณะที่ไม่ชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่? เพื่อไม่ให้เกิดข้อผูกมัดกับรัฐบาล คสช. สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดกับสหรัฐฯ สวนทาง ขัดแย้งกับ Joint Statement หรือ แถลงการณ์ร่วม สหรัฐฯ-ไทย ในข้อ 8 ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเร่งรัดดำเนินการออกกฎหมายลูกให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถจัดเลือกตั้งได้ทันภายในปี 2561 ไม่ใช่ปี 2562 อย่างที่รัฐบาลพยายามจะบิดเบือนและทำให้เกิดความสับสน จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำบันทึกการสนทนากับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่า ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับคนไทย มีใครเข้าใจผิด หรือ ใครถูกหลอกหรือไม่? วันนี้ฝ่ายการเมืองไม่ได้เดือดร้อนว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งประชาชนจะเดือดร้อน เศรษฐกิจฐานรากได้รับผลกระทบ ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน จะได้รับผลกระทบ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะหดหาย ยิ่งมาเจอกระแสข่าวมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้ง ทุกอย่างจะกระทบหนักทั้งระบบ"
นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกระแสข่าว สนช. จะคว่ำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้าย เพื่อยืดวันเลือกตั้งออกไปอีก ว่า "วันนี้รัฐบาล คสช. และเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย กุมความได้เปรียบทางการเมืองเอาไว้ สามารถเล่นตามกติกาที่ได้เปรียบฝ่ายการเมืองทั้งหมด ฝ่ายเสนาธิการของ คสช. คงกำลังประเมินกันว่าคะแนนนิยมของ คสช. กับฝ่ายการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้าเมื่อไหร่ที่มั่นใจว่าคะแนนนิยม คสช. เหนือกว่าฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจน เชื่อว่าอาจจะได้เห็นการประกาศวันเลือกตั้ง คสช. มีตัวเลือกหรือไพ่ในมือมากมาย ที่จะหยิบออกมาใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป กรณีคะแนนนิยมของ คสช. ไม่กระเตื้อง โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 กรณีที่ประชุม สนช. มีมติคว่ำร่างกฎหมายลูกด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของจำนวน สนช. ซึ่งถ้าเลือกใช้แท็กติกนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เท่ากับว่าจะเกิดสูญญากาศทางการเมืองหรือไม่? คือการไม่สามารถระบุหรือกำหนดอะไรได้ อาจต้องเริ่มต้นจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ หรือเอาร่างที่ตกไปมาปรับแก้ใหม่ ซึ่งไม่มีใครรู้วันเวลาที่แน่นอนของกระบวนการดังกล่าวว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด? กรธ.จะยังอยู่เพื่อปรับแก้หรือไม่? ต้องสรรหามาใหม่หรือไม่? เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ อย่างไรก็ตามขอให้สถานการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น วันนี้ไม่มีใครรู้ว่าคะแนนนิยมของ คสช. จริงๆเป็นอย่างไร ประชาชนคิดอย่างไรต่อ คสช. เพราะเสียงที่ดังและชัดเจนที่สุดของประชาชน จะบอกในวันเลือกตั้ง ขอให้รัฐบาล คสช. มั่นใจในผลงานของตัวเอง ไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะความกลัวทำให้เสื่อม ให้โอกาสประเทศชาติและประชาชนได้เดินไปข้างหน้า ตัดสินอนาคตของตัวเองโดยการเลือกตัวแทนของตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ผ่านการเลือกตั้ง อย่าไปคิดหรือตัดสินใจแทนประชาชนทุกเรื่อง ส่วน คสช. ถ้ามั่นใจในคะแนนนิยม นโยบายและผลงานตลอด 3-4 ปี ของตนเอง ก็ขอให้ลงแข่งขันตามกติกาแล้วประชาชนจะเป็นคนตัดสิน"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น