วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ แนะรัฐถึงเวลาปลดล็อคสื่อ ยุติการข่มขู่ คืนสภาพบ้านเมือง


กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน ได้รับเกียรติจาก คุณปลื้ม-หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ The Daily Dose สถานีโทรทัศน์ VoiceTV ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงสถานการณ์การควบคุมสื่อมวลชนจากรัฐบาลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า "มันมีเรื่องหนึ่งซึ่งอยากพูดให้ชัด คือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรยุติการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน เสียที เพราะในปัจจุบัน สื่อมวลชนไทย ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ หรือ สถานีวิทยุต่างๆต้องมานั่งเซ็นเซอร์ตนเอง เพราะมีความรู้สึกความหวาดระแหวงอยู่ตลอดเวลาว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจที่มีอยู่เข้ามาแทรกแซง การที่พลเอกประยุทธ์เป็นชายชาติทหาร ควรจะมีความกล้าพอที่จะบริหาร ราชการแผ่นดิน โดยไม่เกรงกลัวเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เสียงวิพากษ์วิจาณ์ที่มีอยู่ในสังคมมันเป็นเรื่องปกติของนายกรัฐมนตรี และก็ต้องรับกับปัญหาเยอะแยะมากมาย ต้องบริหารจัดการบ้านเมือง ถ้าเป็นชายชาติทหาร และเป็นลูกผู้ชาย ไม่มานั่งกลัวเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำไมต้องมาทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่? แล้วเวลาผู้สื่อข่าวไปทำข่าวที่ทำเนียบ เวลาที่นักข่าวถามอะไรให้ไม่เป็นที่พอใจของนายกฯ นายกฯก็ซัดกลับอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นไร ก็ดี แต่ว่า วิธีการแทรงแซงอย่างที่เป็นอยู่ ที่เป็นมานาน 3 ปีนี้ต้องเลิกได้แล้ว"


"อย่างแรก คือ ถ้าเกิดมีหน้าห้องนายกฯคนไหนคอยโทรศัพท์ไปกดดันผู้บริหารของสถานีข่าว ต้องเลิกทำได้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้มาเป็นเวลา 3 ปี ต้องเลิกทำได้แล้ว เพราะพฤติกรรมอย่างนี้มันแย่"

"มันทำให้เกิดความหวาดระแวงตลอดเวลาของผู้บริหารสถานีข่าว ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หรือโทรทัศน์ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ว่าเดี๋ยวหน้าห้องจะโทรมาอีก และถ้าโทรมา มันก็จะกดดันไปถึง เอ๊ะ! คอลัมภ์นิสต์คนนี้ ทำไมเขียนอย่างนี้? ผู้ประกาศคนนี้ทำไมพูดอย่างนี้? ทำไมพาดหัวข่าวอย่างนี้? ทำไมขึ้น CG อย่างนี้? มันแทรกแซงลงมาในรายละเอียดเป็นเวลา 3 ปี"

"องค์กรที่ปกติแล้วเป็นองค์กรอิสระ อย่างเช่น กสทช. ต้องมานั่งทำงานภายใต้รัฐบาลทหาร แทนที่ กสทช. จะกำกับดูแล อย่างโปร่งใส และยุติธรรม ในวันนี้ กสทช. ทำหน้าที่เสมือนเป็น กบว. ยุคใหม่ ต้องมาตอบสนองความต้องการของรัฐบาลทหาร และในขณะเดียวกัน ต้องมานั่งคุมสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ต่างๆ ให้ไม่เสนอข่าวที่ไปกระทบกระทั่งต่อ ท่านนายกฯจนเกินไป"


"ซึ่งทางเดียวที่จะเปิดให้สื่อมีเสรีภาพ อีกครั้ง คือ นายกฯต้องให้คำมั่นสัญญา และต้องปฏิบัติตาม และก็จะออกมาบอกตรงๆกับประชาชนว่า ต่อไปนี้จะไม่เหมือนอย่างที่ผ่านมา จะด่าสื่อก็ด่าไป ด่าแบบเปิดๆด่ามาเลย ไม่ชอบใครก็บอก แต่ว่าไม่ใช้ให้หน้าห้อง โทรหาคนนั้นคนนี้ กดดันไปทุกวัน ก็ถ้าเป็นอย่างนี้สื่อก็อยู่ภายใต้ความกลัว กลัวว่าจะโดนยึดใบอนุญาต โดนยึดใบอนุญาตได้หมดตั้งแต่วิทยุถึงโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการสามารถหลุดออกจากสถานีได้ถ้ารัฐบาลมากดดันผู้บริหาร มันเป็นแบบนี้ได้ทุกองค์กร และเป็นหมดทั้งวิทยุและทีวี และมันเป้นอย่างแยบยลด้วย ซึ่งเป็นอย่างแยบยลมันไม่มีความเป็นลูกผู้ชาย คุณไม่ชอบใครคุณบอกมา คุณจะด่าใครคุณด่าซึ่งๆหน้า มันจะได้ตอบโต้กันอย่างสร้างสรรค์ แม้กระทั่งประธานาธิบดีทรัมป์ เขาก็เจอคนด่าเยอะ สื่อกระแสหลักด่าทรัมป์ทุกวัน ทรัมป์ก็ด่ากลับ ก็ด่ากันไปด่ากันมา ก็มีความสมดุลที่เกิดขึ้น ประชาชนก็บริโภคเนื้อหา แล้วก็ได้ไปคิดเองว่าใครทำผิด ใครทำถูก แต่ว่าอย่างที่เป็นอยู่มันต้องเลิก มันเป็นอย่างนี้มา 3 ปี แล้ว"


"และท่าที คือ ถ้าเขาไม่ปล่อยให้มีการเลือกตั้งสิงหาคมปีหน้า เราก็ต้องอยู่ในสภาพแบบนี้อีกไม่ใช่แค่ปีเดียว หลายปี ซึ่งมันไม่ไหว"

"ประเด็นคือ ในวันนี้ ถ้าคุณสังเกตดู ส่วนใหญ่แล้วสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองอยู่ในสภาพที่จำยอมไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้จริงๆ เพราะว่าเมื่อไหร่เมื่อคุณนำเสนอประเด็นที่ทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลดูแย่ลงจริงๆ ไม่ใช่วิจารณ์รัฐบาลอย่างแบบน่ารักๆ เป็นสีเป็นสันเฉยๆ แต่ถ้าคุณพูดกระทบกล่องดวงใจของรัฐบาลจริงๆ อย่างเช่น ทำไมไม่ให้มีการจัดการการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการสลายการชุมนุม ในปี 2553 ถ้าพูดเรื่องนี้ตรงๆ เดี๋ยวก็โดนมาแล้ว มันมีทั้งแรงกดดันในการยึดใบอนุญาต มันมีทั้งแรงกดดันในการให้ผู้ที่พูดสิ่งนั้นให้ไม่มีงานทำ มันมีแรงกดดันไปที่ผู้บริหารทุกองค์กร และมันมาจาก รัฐ โดยที่ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่สั่งการให้หยุด แล้วปล่อยให้สิ่งเหล่านี้อย่างที่มันเป็นมากว่า 3 ปี มันก็จะได้แย่ลงไปเรื่อยๆและประชาชนที่บริโภคสื่อส่วนใหญ่ก็จะรู้สึก บ้านเมืองไม่มีปัญหาอะไร เพราะเปิดทีวีมาเปิดวิทยุมา ดูเหมือนว่าทุกอย่าง Happy ขณะตอนที่ยังไม่ยอมผูกมัดตนเองกับวันเลือกตั้ง เปิดทีวีมา เปิดวิทยุมา โอเค ก็ดีไม่มีปัญหาอะไรทุกคน Happy แต่นี่ทุกคนมันไม่ Happy แต่ไม่มีใครกล้าด่า ผมเกรงว่าถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ในสังคมมัน ก็จะรู้สึกว่าประชาชนไม่มีปัญหาอะไรเลยกับรัฐบาลนี้ เพราะว่าความรู้สึกของประชาชนที่มีประเด็นกับรัฐบาลไม่พอใจเรื่องต่างๆ มันไม่สามารถสะท้อนออกมาได้ ผ่านสื่อสารมวลชน มันก็เก็บเงียบอยู่ใน โลกของสื่อสังคมออนไลน์ เฉยๆ และในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ ที่คุณเข้าไปแชร์ความเห็นกันมันก็จะแรงขึ้นๆ และมันก็จะแรงอยู่ในนั้น อยู่ในโลกนั้น ในขณะที่บนโทรทัศน์กับวิทยุ ที่คุณเปิดมา มันเหมือนกับ โอ้ Happy ทุกอย่างโอเค อันนี้ท่านลุงตู่ทำอย่างนี้นะ โอเค ไม่ว่ากัน จบ... มันแยกออกเป็นสองโลกเลย ไม่ไหว มันเป็นอย่างนี้ไปได้อีกไม่นาน"


กองบรรณาธิการ  : ผู้บริหารสื่อเองเลือกที่จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่?
หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ : "ไม่!...สื่อหรือหนังสือสื่อพิมพ์บางฉบับ อาจจะสนับสนุนวาระของรัฐบาล ใช่ แต่อันนั้นก็จะเป็นส่วนน้อย คือ ถ้าพูดถึงคนที่จัดรายการทีวี จัดรายการวิทยุ และหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เขาต้องการเสรีภาพ และเมื่อได้เสรีภาพ เขาก็จะได้เลือกเองว่า ประเด็นไหนที่เขาจะฉายสปอร์ตไลท์ไป และวิจารณ์รัฐบาลเต็มๆ ส่วนสื่อที่หนุนเผด็จการณ์มันก็มี มันเป็นส่วนน้อยในเวลานี้ แต่ว่า ความที่มันมีเซ็นเซอร์ชิปภายใต้แรงกดดันและความกลัว มันก็เลยดูเหมือนว่าส่วนใหญ่ หนุนรัฐบาล จริงๆมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น คือส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่มันดูเหมือนเป็นอย่างนั้น"

กองบรรณาธิการ : ไม่มีใครตำหนิรัฐบาลตรงๆ?
หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ : "ทำไม่ได้ เพราะ กสทช. ทำงานภายใต้รัฐบาลในวันนี้ แล้วหมายความว่า ฟรีทีวี ถ้ามีผู้ดำเนินรายการคนไหน วิจารณ์รัฐบาล ในแบบที่ผู้ดำเนินรายการมีความน่าเชื่อถือและคนเชื่อฟัง รัฐบาลจะจัดเต็มตรงนั้นแน่"

"เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกร้องคือ ว่า นายกฯ ต้องมีความเป็นลูกผู้ชาย และเลิกกลัวเสียงวิพากษ์วิจารณ์เสียที แล้วถ้าคุณเก่งจริง ไม่ว่าผู้ดำเนินรายการ คอลัมป์นิสต์คนไหน ขนาดไหน คุณต้องเอาชนะคนนั้นได้ สมมุติผมวิจารณ์นายกฯ แล้วคนเชื่อผม มันก็เป็นหน้าที่ของนายกฯที่จะแก้ต่างๆ แล้วให้คนไปเชื่อท่าน มันไม่ใช่ความผิดของผม มันเป็นความผิดของท่านนายกฯเอง พูดง่ายๆ คือ การแข่งขันที่ต้องไม่ลิดรอนสิทธิ์ผู้อื่น คือในวันนี้ มันมีความที่ท่านสำคัญตนเองผิด ท่านมองว่าท่านอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อ ซึ่งมันไม่ใช่ ในทุกวันนี้ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นตำแน่งที่ต้องรับใช้ประชาชน เงินเดือนของนายกฯและเงินเดือนตลอดชีวิตท่านมาจากภาษีประชาชน ฉะนั้น ท่านไม่ได้อยู่ในฐานะที่เหนือกว่าประชาชน และแน่นอนว่าไม่ได้อยู่ในฐานะที่เหนือกว่าสื่อ อย่างมากก็เท่าเทียมกัน"


กองบรรณาธิการ : มีสื่อหลายช่อง ที่เป็นองคาพยพของภาครัฐอยู่แล้ว ซึ่งต้องสนับสนุนรัฐ?
หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ : "ในภาวะปกติ สื่อไหนที่เป็นองค์กรของรัฐ ตามปกติแล้ว ก็จะมีการนำเสนอข่าว ที่เป็นบวกต่อรัฐบ้าง แต่ว่านั้นเป็นสถานการณ์ที่สื่อมวลชนค่ายอื่นเขายอมรับได้ สิ่งที่คุณพูดมามันใช่ แต่ประเด็นคือ ถ้าเป็นแค่นั้นก็โอเค เพราะที่ผ่านมาปกติ มันเป็นแค่นั้น โดยที่รัฐบาลก็ต้องรับฟังมุมมองของสื่ออื่นๆที่ไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐ แต่ในปัจจุบันมันไม่ใช่ มันกลายเป็นว่า กองบรรณาธิการ ของทุกๆสถานี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณไปดูวิทยุ อยู่ในโหมดเดียวกันจนเหมือนกับว่า รัฐมาเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเฉพาะช่องที่คุณว่า มันก็คือการนำเสนอข่าวตามปกติของรัฐบาลอื่น มันก็โอเคไง ตอนนี้มันกลายเป็นลามไปหมดเลย"

"สิ่งที่ตลกตอนนี้ คือ มีข่าวเกี่ยวกับคุณวัฒนา หรือ พิชัย วิจารณ์รัฐบาล เหมือนกับว่า  มันจะมีคนที่พยายามจะบอกว่า มีขาประจำเหลือแค่นี้ จริงๆมันไม่ใช่ขาประจำเหลือแค่นี้ คนอื่นมันไม่มีพื้นที่แล้ว ทุกวันนี้ คนที่วิจารณ์รัฐบาล มีพื้นที่แค่ใน Facebook ที่มันดูเหมือนว่าเหลือขาประจำไม่กี่คนเพราะว่า ทุกคน อดีตรัฐมนตรีกี่คน ที่วิจารณ์รัฐบาลนี้ ผมเรียกมาได้เลยกว่า 50 คน เต็มเลย แต่ว่าสื่อไม่สามารถเชิญมาออกได้เลย ถ้าเชิญมาออก รายการนั้นหลุด หรือใบอนุญาตยึด และพวกนี้ก็อยู่ใน Facebook เท่านั้น ทุกคน"


"อาจารย์แต่ละคน สอนมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีประเด็นที่จะวิจารณ์รัฐบาลได้อย่างสร้างสรรค์เยอะแยะ แต่ เชิญมาออกไม่ได้ ต้องไปเขียนใน Facebook เฉยๆ เพราะถ้าเชิญมาออก ผู้ดำเนินรายการก็เหมือนโดนเฉ่ง และเขากดดันผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งมีเยอะ"

"ประเด็นคือ รัฐต้องเลิกมายุ่งกับช่องที่ไม่ได้สนับสนุนเขา ในอดีต ถ้ารัฐบาลมายุ่งกับช่อง 5 ช่อง 11 บางครั้งมันก็เกิดขึ้น แต่อย่างน้อย ยุ่งแค่นั้นพอ คุณอย่ามายุ่งช่องอื่น แล้วอย่าไปยุ่งวิทยุ อย่าไปยุ่งหนังสือพิมพ์"


"เขาจะไปมีปัญหาอะไรกับรายการประกวดร้องเพลง แต่นั่นคือ เขาอยากให้เป็นอย่างนั้น ถ้าเอารายการวิเคราะห์ข่าวออก และเอารายการประกวดร้องเพลงมาแทน รับรองรัฐบาล Happy แน่"

"นั่นคือประเทศที่เป็นเผด็จการมันมีแต่บันเทิง" หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น