วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การปฏิรูปไม่ใช่พิธีกรรม: ภูมิธรรม เวชยชัย


นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เขียนบทความในหัวข้อ "การปฏิรูปไม่ใช่พิธีกรรม" โดยมีเนื้อหาดังนี้

“การปฏิรูปไม่ใช่พิธีกรรม รีบคืนประชาธิปไตย รีบคืนสิทธิเสรีภาพ รีบคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน การปฏิรูปจึงจะเป็นจริง”

ผมติดตามการทำหน้าที่อย่างแข็งขันของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง ที่กำลังพยายามจะผลักดันเรื่องการปฏิรูปการเมืองภายใต้การผลักดันและมอบหมายจากคณะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง

ห่วงใยด้วยเกรงว่า คณะฯดังกล่าว ก็จะกลายเป็นเพียง “เครื่องมือสร้างความชอบธรรม” ให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่เต็มใจ หรือด้วยความรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

ที่ผมเป็นห่วงเพราะผมยังไม่ได้เห็นความตั้งใจจริงที่คณะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน โดยเฉพาะความจริงใจในการเอื้ออำนวยให้สังคมและประชาชนตลอดจนพรรคการเมืองต่างๆ ให้สามารถออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ ในการถกเถียงหรือแสวงหาคำตอบว่าประเทศของเราจะก้าวเดินไป ทางไหน ทิศทางประเทศจะเป็นอย่างไร

สิ่งต่างๆที่ผู้มีอำนาจทำ ดูเป็นเพียงพิธีกรรมที่สร้างความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกยาวนาน ยิ่งได้ฟังที่ท่านพูดว่า ทหารคงไม่อยากอยู่ในอำนาจยาวนาน ยิ่งรู้สึกว่าอาจเป็นความคิดส่วนตนที่ขัดกับความจริงที่ปรากฏต่อสังคม หรืออาจกำลังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรืออาจจำเป็นที่ต้องพูดอย่างนั้นก็เป็นได้

เพราะการกระทำของผู้มีอำนาจ ประกอบกับสถานการณ์และความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เหมือนที่นักวิชาการและสื่อมวลชนและประชาชนจำนวนไม่น้อยมองเห็นการพยายามเข้ามาแทรกแซงว่ากฏกติกาและกลไกของระบบต่างๆให้เป็นไป เพื่อความต้องการของตนที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของกลุ่มตนต่อไป

ผมเห็นว่าการลดอำนาจประชาชนและเพิ่มอำนาจรัฐที่มากล้นจนเกินไป การมุ่งทำรัฐให้เป็นรัฐที่เข้มแข็งแบบรัฐราชการ การพยายามเข้าไปจัดระบบหรือรีเซ็ตองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มตน ล้วนเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าความพยายามของนักปฏิรูปต่างๆที่กำลังทำงานภายใต้คณะฯดังกล่าวที่ผู้มีอำนาจตั้งขึ้น ยิ่งมองไม่เห็นความหวัง และเกรงว่าจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของผู้มีอำนาจ ที่พยายามทำให้สังคมรับรู้ว่าตนไม่ได้นิ่งดูดายกับปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีแก่นสารใดๆ หรือความจริงใจในการดำเนินการแต่อย่างใดเลย อีกทั้งยังเป็นการปฎิรูปที่ผิดหลักการเพราะการปฏิรูปที่ไม่เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของคนในสังคมอย่างกว้างขวาง จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้

“อย่ามัวแต่สร้างพิธีกรรม หรือสร้างความหวังลมๆแล้งๆกันต่อไปเลย ตื่นขึ้นมาอยู่กับความเป็นจริง รีบคืนประชาธิปไตย คืนสิทธิเสรีภาพ และคืนอำนาจการตัดสินใจกลับมาให้ประชาชนโดยเร็วเถอะครับ แล้วประเทศจะมีทางออกการปฏิรูปถึงจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้”

นายภูมิธรรม เวชยชัย
รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
29 พฤศจิกายน 2560

ต้องฟังเสียงประชาชน! “นพดล” ยืนยัน ยังไม่ถึงเวลาจับมือพรรคใดร่วมรัฐบาล


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากตัวแทนของประชาชน การเคารพสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม และต้องเคารพผลการเลือกตั้ง และพรรคจะทำงานการเมืองกับพรรคที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรทำในขณะนี้ถ้ามีการปลดล็อคคือการปฏิรูปปรับปรุงพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่ดีขึ้น หาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการจัดทำนโยบายด้านต่างๆ เพื่อนำเสนอในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ให้ประชาชนตัดสิน ดังนั้นการจะจับมือกับพรรคใดนั้นจึงยังไม่ถึงเวลาที่จะพิจารณา เพราะพรรคต้องฟังเสียงสมาชิกและเคารพการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง

หวั่นปัญหาใต้วุ่น! ”หมวดเจี๊ยบ” แนะประยุทธ์ลาออกหากคุมลูกน้องไม่ได้


ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรต้องทำเกี่ยวกับกรณีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้าน อ.เทพา จ.สงขลา มี 3 เรื่อง คือ

1.รัฐบาลต้องปล่อยตัวชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

2.ดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้ฝ่าฝืน มติ ครม. ที่ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ เพราะมติ ครม. มีฐานะเป็นคำสั่งในทางบริหารที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การฝ่าฝืน มติ ครม. ถือเป็นความผิดทางวินัย หรืออาจผิดวินัยร้ายแรง ตาม ม.84 และ 85(7) แห่ง พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

3.ขอให้ดำเนินคดีอาญา ม.157 กับเจ้าหน้าที่ๆ จับกุมและใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน เพราะเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ตาม ม.34 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตาม ข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อันเป็น ก.ม. ระหว่างประเทศ ซึ่งไทยให้การรับรองไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2484 ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ รัฐบาลต้องลงโทษต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน แล้วการที่ประชาชนมาร้องทุกข์ครั้งนี้ก็มีเหตุผลอันสมควรที่จะรับฟัง เพราะถ่านหินเป็นพลังงานที่ไม่สะอาดและชาวบ้านจะได้รับผลกระทบโดยตรงในหลายๆ ด้าน ที่สำคัญรัฐบาลเอง ก็เป็นฝ่ายเดินทางลงพื้นที่ไปหาชาวบ้าน ก็เพื่อไปรับฟังทุกข์สุขของชาวบ้านไม่ใช่หรือ?

นอกจากนี้ การใช้กำลังลงมือลงไม้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนและยังจับเขาเข้าคุกแบบนี้ อาจส่งผลกระทบไปถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะทำให้การทุ่มเทแก้ปัญหาตลอด 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 ต้องสูญเปล่า เพราะการรังแกชาวบ้านในลักษณะนี้ คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาความไม่สงบในภาคใต้

ร.ท.หญิงสุณิสา กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการเต็มรูปแบบที่ใช้กำลังทหารยึดอำนาจมาบริหารประเทศ ไม่สามารถจัดการลูกน้องตัวเองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและฝ่าฝืน มติ ครม.ได้ ก็สมควรลาออกไปเสีย

ฟังไม่ขึ้น! “อนุสรณ์” ติงไก่อูแก้ตัวแทนประยุทธ์


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเหตุที่นายกฯตะคอกประชาชนเพราะตัวแทนชาวประมงพูดจารุนแรงก่อน ว่า “ถือเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เพราะคนเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์ใดก็ตาม ต้องควบคุมอารมณ์ มีขันติธรรม เมตตาธรรม เปิดใจกว้างรับฟังปัญหาด้วยความเอื้ออาทร พฤติกรรมแบบนี้ของนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้อง พืชผลการเกษตรราคาตกต่ำได้ ท่านต้องรับฟังชาวสวนยาง สวนปาล์ม ชาวประมง ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ไปจับกุมคนมายื่นหนังสือ ประชาชนมาหาท่านเพราะเดือดร้อน ต้องการให้ช่วยแก้ปัญหา ท่านควรจะถือเป็นโอกาสทองในการได้พบปะประชาชน พฤติกรรมที่ก้าวร้าว ทำให้สูญเสียโอกาสในการรับฟังปัญหา การตะคอกใส่ประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนและคนในสังคม การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ท่านบอกว่าทำดีที่สุดแล้ว มันคงยังดีไม่พอ เพราะราคายังตกต่ำอยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนเดิมแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ใช้วิธีปรับให้ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี แล้วก็ส่งคนมีประสบการณ์ในการคุมม็อบมาเป็นรัฐมนตรีแทน เชื่อเถอะว่า เราอยากให้ท่านทำสำเร็จ แต่วิธีการที่ทำอยู่ น่าจะทำให้ห่างไกลจากความสำเร็จมากขึ้นไปอีก”

นายอนุสรณ์ ได้กล่าวในที่สุดว่า “ประชาชนเปรียบเทียบและตัดสินใจได้ว่า ถ้าหลังเลือกตั้งแล้วยังจะมีนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมแบบนี้ รับได้หรือไม่? เพราะตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นพฤติกรรมแบบนี้ตลอดเวลา ต้องคอยมาลุ้นกันว่าวันไหนท่านจะอารมณ์ดีหรืออารมณ์เสีย ซึ่งการบริหารราชการระดับประเทศ ไม่น่าจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่ไม่แน่นอนของท่านผู้นำ”

3ปีแล้ว! “ชวลิต” แจงเกษตรกรเครียดเพราะรัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณีมีกลุ่มเกษตรกรสาขาต่างๆ ร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ว่า “กรณีดังกล่าวล้วนมีที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้องทั้งสิ้น ประการสำคัญ รัฐบาลไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องได้สำเร็จมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งนานมากเกินสภาพที่ประชาชนจะรับไหว ความเครียดจึงเกิดขึ้นเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เกษตรกรเกิดความเครียด เห็นได้ชัดเจน คือไม่มีกำลังซื้อ มีหนี้สินครัวเรือนเพิ่ม ไม่มีค่าเทอมให้ลูกไปโรงเรียน ฯลฯ ส่วนสาเหตุความเครียดของฝ่ายบริหาร นั้น คงไม่ใช่เพราะขาดกำลังซื้ออย่างแน่นอน จะเป็นเหตุผลใดไม่ขอวิพากษ์ให้เสียบรรยากาศการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา”
     
นายชวลิต กล่าวว่า “ตนเชื่อในหลักคิดที่ว่า ประเทศจะเดินไปข้างหน้าได้ จะต้องได้รับความเชื่อมั่น ทั้งจากประชาชนในประเทศและประชาคมโลก ดังนั้น จากเหตุการณ์ที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 นั้น จึงควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ดังนี้
     
1. รัฐบาลควรเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายที่รัฐบาลออกมาเอง กฎหมายนั้นคือ พรป.พรรคการเมือง ซึ่งถ้ากล่าวอย่างสุภาพอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเสียเองเช่นนี้
     
2. ประเทศไทยคงเป็นประเทศเดียวในโลกอีกเช่นกัน ที่จะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่มีคำสั่ง คสช. ตาม มาตรา 44 กำกับอยู่ ทั้งก่อนเลือกตั้ง ระหว่างมี พรฎ.เลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งจนกว่าจะตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ หากจะให้ประเทศได้รับความเชื่อมั่น ควรให้การดำเนินการเลือกตั้งทั่วไป เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พรป. ไม่ควรมีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 มากำกับอยู่
     
3. รัฐบาลควรวางตนเป็นกลาง เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ไม่อคติต่อฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการเพื่อเตรียมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่งจะได้รับการยอมรับ ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนและประชาคมโลก”
     
นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า “สิ่งที่ตนนำเสนอนั้น ปราศจากอคติใดๆ เป็นเรื่องพื้นๆปกติสามัญธรรมดา ถ้าปฏิบัติได้จริงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ก็ยากที่จะปฏิบัติ หากยังยึดมั่นประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ข้อเสนอของตนหวังผลที่จะให้คนรุ่นปัจจุบันส่งต่อมรดกบ้านเมืองให้รุ่นลูกรุ่นหลาน ในสภาพที่บ้านเมืองเป็นปกติสุข ประเทศได้รับความเชื่อมั่น ซึ่งหวังว่าตนคงไม่ฝันไปคนเดียว คงมีคนไทยจำนวนมากวาดฝันบ้านเมืองที่ดี ที่ปกติสุข เช่นเดียวกับตนอย่างแน่นอน”

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

“อนุสรณ์” ชี้ครม.สัญจรวุ่น แนะประยุทธ์หยุดตะคอกประชาชน


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี รัฐบาลจัดประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สงขลา ว่า การลงไปจัด ครม.สัญจรในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ รัฐบาลตั้งใจจะไปเรียกเรตติ้งในช่วงขาลง คะแนนนิยมลดต่ำ และรู้ว่าต้องไปเจออะไรบ้าง เพราะแม้พื้นที่บางส่วนของภาคใต้จะเป็นพื้นที่ของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ปัญหาที่กระทบกับเศรษฐกิจปากท้องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนโดยตรงนั้นมีมาก ทั้งปัญหาราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน สินค้าเกษตรอื่นๆราคาตกต่ำอย่างมาก ปัญหาชาวประมง ปัญหาความขัดแย้งโครงการด้านพลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลทหารก็ยังแก้ไม่ได้

ครม.สัญจรภาคใต้ครั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้ร้องเรียนทุกข์ร้อนจากการประกอบอาชีพได้สะดวกขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ชาวสวนยางจะไปยื่นหนังสือที่กรุงเทพฯก็ถูกหิ้วตัวเข้าค่ายทหาร ประชาชนที่นครศรีธรรมราชไปยื่นหนังสือกับรองผู้ว่าฯก็ถูกข่มขู่ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ชาวประมงที่เพียงแค่จะมานำเสนอทุกข์ร้อนก็ยังกลับถูก พล.อ.ประยุทธ์ ตะคอกใส่ จึงอยากถามว่า การที่ท่านลงทุนลงแรง เตรียมการมโหฬารเดินทางด้วยเครื่องบินซี 130 นั่งรถกันกระสุน มาจัด ครม.สัญจรภาคใต้ ทั้งที่มีรัฐมนตรีมาร่วม ครม.สัญจรเพียงแค่ 14 คนนั้น เพื่อมาตะคอก มาข่มขู่ประชาชนหรือ ปัญหาประชาชนถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ถูกข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในรัฐบาลชุดนี้ เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์และมุมมองที่ซ้ำเติมปัญหาหรือไม่ ท่านให้ทุกคนเคารพกฎหมาย แล้วท่านเคารพสิทธิและเสรีภาพประชาชนหรือไม่ กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนท่านได้ยึดหลักนี้หรือไม่ แม้จะเป็นความเห็นต่าง ท่านก็ต้องรับฟัง ท่านต้องยึดหลักแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ประเทศนี้ไม่ใช่ค่ายทหาร ที่ท่านจะสั่งประชาชนซ้ายหันขวาหันได้ตามใจตลอดเวลา

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

“จิรายุ” ไม่เชื่อเศรษฐกิจปีหน้าดี ตกใจข้อมูลคนจนยิ่งจนลง


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าประชาชนอย่าหลงเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปีหน้า หลังจากมีข่าวโหมออกมาจากซีกรัฐบาลว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตจีดีพีกำลังเพิ่มขึ้นนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่คิดแต่เฉพาะแค่จะโปรโมทผลงานของรัฐบาลชุดนี้ เพราะยังมีข้อมูลความจริงอีกหลายเรื่องทางด้านเศรษฐกิจที่ส่อวิกฤตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตัวเลขด้านกำลังซื้อเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้บอก เมื่อกำลังซื้อหดหายเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี

นายจิรายุ กล่าวต่อว่าไม่กี่วันที่ผ่านมารัฐบาลพยายามประโคมข่าวว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 3 เติบโตถึง 4.3 นั้น เป็นเพียงแค่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพียงไตรมาสเดียวแต่ถ้านำไตรมาสตลอด 3 ปี มานี้มารวมกันจะเห็นว่าติดลบอย่างยิ่ง เพราะมีความจริงที่ซ่อนไว้หลายประเด็น เช่น กำลังซื้อที่ถดถอยของประชาชนยังมีปัญหาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 10 ปี ซึ่งงานศึกษาวิจัยของรัฐต้องออกมาบอกความจริงบ้าง

และหากพิจารณาภาพรวมทั้งปี การคาดการณ์เดือนสิงหาคมของสภาพัฒน์ ก็พบว่าตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนซึ่งสะท้อนถึงเรื่องปากท้อง กำลังซื้อของผู้บริโภคนั้นเติบโตในสัดส่วนที่น้อยนิดเพียง 3.2% เท่านั้น ซึ่งมีผลชัดเจนกับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่หลายองค์กรภาคธุรกิจรับรู้และเตรียมพร้อมมากกว่าการตื่นเต้นกับจีดีพีเพียงไตรมาสเดียว

และเมื่อพิจารณาประกอบกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันสูงเกือบ 80% ของจีดีพี และหนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้การบริโภคในครัวเรือนหรือการใช้จ่าย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้เหมือนอย่างค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา หรือกระทั่งการทำธุรกิจ จึงพอตีความได้ว่า ขณะนี้ผู้บริโภคกำลังซื้อต่ำ ไม่มีเงินในกระเป๋าสักเท่าไรนัก
 
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่าประชาชนอย่านิ่งนอนใจและอย่าใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย นโยบายต่างๆ ของรัฐที่ออกมารังแต่จะสร้างหนี้สร้างสินให้กับครอบครัว ยิ่งสถาบันวิเคราะห์ระดับโลกด้านเศรษฐกิจอย่างนีลเส็นออกมาเตือน เศรษฐกิจของไทยว่า  "คนรวยจะยิ่งรวยขึ้น คนจนจะยิ่งจนลง" และเป็นไปได้ว่าคนรวยที่มีเพียง 1 ใน 5 ของทั้งหมด จะครอบครองความมั่งคั่งถึง 50% ของทั้งประเทศ ยิ่งน่าตกใจ
 
และยิ่งตัวเลขเศรษฐกิจแบบนี้จะทำให้ชนชั้นกลางซึ่งเป็นตัวสะท้อนกำลังซื้อและการบริโภค กลับจะค่อยๆ ลดลง ชนชั้นกลางส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะจนลงในอนาคต ฟังดูแล้วยิ่งน่าตกใจและนี่คือ 3 ปีที่ได้จากรัฐบาลชุดนี้

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เทศกาลศิลปะชุมชน "สามแพร่ง facestreet" : ชุมชนมีวิถี เมืองมีชีวิต


ในย่านเมื่องเก่าของกรุงเทพฯ "สามแพร่ง" อันได้แก่ แพร่ภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพาสาสตร์ นับเป็นชุมชนดั้งเดิม สืบเนื่องรุ่นต่อรุ่นมายาวนาน มีวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย มีร้านอาหารและขนมไทยอร่อยเลื่องชื่อ มีอาชีพเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรือง เช่น เย็บหมวกราชการ อู่ซ่อมรถคลาสสิก ร้านขายใบชา เครื่องหนัง ฯลฯ เป็นเสน่ห์ของบางกอกที่หลบมุมอยู่เงียบๆ ใกล้เสาชิงช้า วัดสุทัศน์ฯ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ศาลเจ้าพ่อเสืออันโด่งดัง ใจกลางแหล่งท่องเที่ยวย่านถนนราชดำเนิน

ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เรียงรายด้วยสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ในยุคเริ่มแรกของเมืองบางกอก ท่ามกลางส่วนเสี้ยวของวังเก่าที่ยังควส่งทอดอดีตมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประตูวังสรรพสาสตร์ โรงละครปรีดาลัยซึ่งต่อมากลายเป็นอาคารโรงเรียนตะละภัฏศึกษาบนถนนแพร่งนรา หรือสุขุมาลอนามัย สถานีกาชาดที่ 2 ของเมืองไทยติดกับลานภูธเรศ แพร่งภูธร เทศกาลศิลปะชุมชน "สามแพร่ง facestreet" ได้เกิดขึ้น สร้างสรรค์ "สามแพร่ง" ให้เป็นย่านศิลปะที่อิงแอบกับวิถีชาวบ้าน คืนชีวิตชีวาให้กับชุมชน เพื่ออยู่อย่างมีอัตลักษณ์ในโลกปัจจุบัน ไม่ให้ถูกรื้อถอนล่มสลายไร้รากเหง้าไปกับการพัฒนาเมืองที่มุ่งผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่ละลืมผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่จริง


ทั้งนี้ งานเทศกาลศิลปะชุมชน "สามแพร่ง facestree" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 พฤศจิกายน 2560 โดยภายในงานมีการแสดงมหรสพพื้นบ้าน การแสดงดนตรี กระบี่กระบอง โขนเด็กโรงโขนเพชรบุรี การแสดงดนตรี การแสดงลิเก และสอนสกรีนเสื้อสีธรรมชาติ












ปรับครม.ไม่ช่วย! “พิชัย” แนะรัฐเร่งเลือกตั้ง


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ว่า “ตามที่รัฐบาลได้มีการปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 แล้วนั้น โดยปรับถึง 18 ตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเท่ากับยอมรับว่าผลงานที่ผ่านมาย่ำแย่ การบริหารราชการมีปัญหาถึงต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งมากขนาดนั้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาใหญ่อยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ แต่กลับปรับ ครม. เศรษฐกิจน้อยมาก แทบไม่เปลี่ยนเลย โดยเฉพาะในส่วนของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายสมคิดยังบอกว่านโยบายก็จะไม่เปลี่ยน จึงสงสัยว่าเมื่อไม่ปรับเปลี่ยนคนและไม่ปรับนโยบาย แล้วจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร? นอกจากนี้รัฐบาลอ้างว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นความสำเร็จ แต่ปรากฏว่ามีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการทั้ง 2 กระทรวงนี้ แสดงว่ารัฐบาลยอมรับว่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามเศรษฐกิจโลกเท่านั้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่าไทยมาก และนักท่องเที่ยวก็มาเพิ่มตามปกติอยู่แล้วใช่หรือไม่? ส่วนการลงทุนที่ยังหดหายแม้จะพยายามเพิ่มสิทธิต่างๆ เหมือนเป็นการลดแลกแจกแถมก็ยังไม่มีนักลงทุนต่างประเทศลงทุนมากนัก และยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้านเช่นในเวียดนามที่การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 29.2% จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงมาดูเอง แต่กลับไม่เปลี่ยนรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ทั้งนี้เป้าขอส่งเสริมการลงทุนที่ตั้งยอดต่ำเพียง 6 แสนล้านบาท แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าถึง 2 แสนล้านบาท การลงทุนจริงยิ่งต่ำกว่าเป้ามาก ในขณะที่ก่อนปฏิวัติมียอดขอส่งเสริมมากกว่าเป็นเท่าๆ แสดงว่าถึงแม้จะเปิดเขตเศรษฐกิจระเบียงตะวันออก (EEC) แต่ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มการลงทุนแต่อย่างไร การเชิญนักลงทุนญี่ปุ่นมา 500-600 คน ก็เป็นเพียงการจัดฉากเท่านั้น”

นายพิชัย กล่าวต่อไปว่า “อยากให้นายสมคิดช่วยอธิบายว่าจะทำให้คนจนหมดไปในปีหน้าได้อย่างไร? ทั้งๆที่ปีนี้ รัฐบาลพึ่งออกบัตรคนจนมากว่า 11 ล้านใบ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลตั้งแนวทางการดำเนินการและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ถูกทาง ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเอง หรือ เพียงต้องการหาเสียง เพราะสภาวะความเป็นจริงที่คนส่วนใหญ่ลำบากกันมาก จะยิ่งทำให้ความนิยมของรัฐบาลลดต่ำลงอีก และการปรับ ครม. ก็ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มาก เพราะจะไม่มีช่วงฮันนีมูนแล้ว ซึ่งหากเข้ามาบริหารแล้วยังไม่เห็นผลโดยเร็ว ก็ควรจะรีบจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาให้กับเขา ก่อนที่ประชาชนจะทนกันไม่ไหว อยากฝากไปถึงท่านรองนายกฯสมคิด ว่าจะใช้วิธีการเดิมๆ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ ต้องคิดวิธีใหม่ๆ”

“นพดล” สอน ครม.ใหม่ เร่งแก้ปัญหาก่อนเลือกตั้งปีหน้า


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการปรับ ครม. ว่า “ตนไม่ขอวิจารณ์ตัวบุคคล ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ เพราะอาจไม่เป็นธรรมกับคนที่ยังไม่ทำงาน แต่เนื่องจากนโยบายและองคาพยพในรัฐบาลยังคงเดิม การจะคาดหวังว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือคงยาก นอกจากนั้นรัฐบาลต้องทำงานแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 1 ปีก่อนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งคงไม่สามารถทำทุกอย่างได้แต่อย่างน้อยควรแก้ปัญหาเร่งด่วนต่อไปนี้ให้สำเร็จ เช่น 1. ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่กระทบคนวงกว้าง 2. ปัญหาพืชผลการเกษตรตกตำ่ เช่นข้าว ปาล์ม ยาง 3. การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4. ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเปิดพื้นที่เสรีภาพ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง 5. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค 6. ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและตัดไม้ทำลายป่า  7. ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนตายติดลำดับโลกสูญเสียนับแสนล้านต่อปี 8. ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ยังรั้งท้ายเพื่อนบ้าน และเด็กส่วนใหญ่ยังสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้”

นายนพดล กล่าวต่อไปว่า “รัฐบาลนี้มีปัจจัยเอื้อกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจตามมาตรา 44 ที่โยกย้ายข้าราชการจัดคนหรือตั้งหน่วยงานตามที่ต้องการ ไม่มีฝ่ายค้านหรือพรรคการเมืองขัดขวางทั้งในและนอกสภา ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีเสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีม็อบการเมือง ดังนั้นในการประเมินว่ารัฐบาลทำงานสำเร็จหรือไม่ ต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ด้วย”

“อนุสรณ์” ชี้ คสช. ปรับ ครม. เพื่อแก้ปัญหาตนเอง


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 ว่า “การปรับ ครม. ครั้งนี้ ถือเป็นภาคต่อของ 6 คำถาม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โยนออกมาเพื่อต้องการกลบปัญหาของรัฐบาลและต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน เหมือนการจุดพลุเบนความสนใจเพื่อเปิดทางหนี ทั้งจากปัญหาที่ไม่สามารถตอบคำถาม เหตุใดไม่ปลดล็อกการเมือง การสนับสนุนพรรคทหาร หรือพรรคนอมินีของทหารในการเลือกตั้งครั้งหน้า การไร้มาตรฐานในการต่ออายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่หนักสุดคือปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบกับปากท้องพี่น้องประชาชน เศรษฐกิจฐานรากกระทบหนัก ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ สินค้าเกษตรราคาตกต่ำแทบทุกรายการ สวนทางกับรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ระบุ ปีหน้าคนจนจะหมดประเทศ ไม่รู้ว่าท่านพูดผิด หรือ ประชาชนฟังผิด เพราะกลัวว่า คนจะจนหมดทั้งประเทศ การพูดเช่นนั้น น่าจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง การสูญเสียความเชื่อมั่นนั้นนอกเหนือจากรัฐมนตรีต้องหลั่งน้ำตา ประชาชนก็อยากร้องไห้ จะ ครม.ประยุทธ์ 5 หรือจะปรับอีกกี่ครั้งก็ไม่น่าจะทำให้ผลงานของรัฐบาลดีขึ้น ตราบใดที่กัปตันทีมยังเป็นคนเดิมวิธีคิดแบบเดิมจะปรับ ครม. อีกกี่ครั้ง ก็คงไม่ช่วยอะไร เอาที่ พล.อ.ประยุทธ์สบายใจเลย”

"ชวลิต" แนะ "สมคิด" หยุดทุบกระปุกงบฯอุดหนุนท้องถิ่น


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ มีนโยบายจะนำเงินสะสมของท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ประมาณเกือบ 200,000 ล้านบาท ให้ท้องถิ่นไปจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพในชุมชน นั้น ว่า “ตนเห็นด้วยกับการส่งเสริมท้องถิ่นให้เข้มแข็ง แต่ควรส่งเสริมด้วยการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง คือ กระจายทั้งงบประมาณและภารกิจตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ.2542 แต่การใช้เงินสะสมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวของนายสมคิด ขัดทั้งระเบียบ มท. และกฎหมาย ดังนี้
       
1. ระเบียบ มท. ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินสะสมท้องถิ่น ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จำเป็น เร่งด่วนในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น การบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งยังต้องสำรองไว้ใช้จ่ายเป็นค่าเบี้ยยังชีพคนชรา และคนพิการ เป็นต้น ดังนั้น การที่จะขอมติ ครม. เพื่อขอแก้ไขระเบียบ มท. เพื่อเอื้อต่อการใช้เงินดังกล่าว เท่ากับทำลายหลักการเดิมที่ มท. ได้กำหนดไว้แล้วอย่างรอบคอบ เคร่งครัด เพื่อรักษาเงินสะสมไว้ใช้เมื่อมีเหตุจำเป็น เงินสะสมท้องถิ่นเกือบ 200,000 ล้านบาท ไม่ใช่เพิ่งมาสะสมในห้วงเวลา 3 ปีของการรัฐประหาร แต่ได้สะสมมาตั้งแต่ท้องถิ่นนั้นๆเริ่มจัดตั้ง หากหมดลงหรือร่อยหรอในยุคนี้สมัยนี้ และเกิดเหตุสาธารณภัยที่ไม่คาดฝันในท้องถิ่น แต่ไม่มีเงินบรรเทาหรือเยียวยาในเบื้องต้น ถามว่า นายสมคิดจะรับผิดชอบอย่างไร?
       
2. หากรัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่นในสัดส่วนที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ.2542 รัฐบาลนี้โฆษณามาตลอดว่าจะปฏิรูปท้องถิ่น ทั้งมีข่าวมาเป็นระยะๆ ว่าจะปฏิรูปโครงสร้างท้องถิ่น ตรวจสอบการทุจริตจริงจัง ถึงขนาดใช้คำสั่งมาตรา 44 พักงานผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนมาก แต่สุดท้าย โครงสร้างก็ไม่ได้ปรับ ภารกิจก็ยังหวงไว้ที่ส่วนกลาง ไม่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง การตรวจสอบการทุจริตก็ไม่บรรลุผล ไม่จริงจัง พักงานไว้เพื่อขู่ แล้วก็ดึงมาเป็นพวก มีข่าวว่าจะปล่อยผี เร็วๆนี้ เพื่อมาเลือกตั้งท้องถิ่นบ้าง เลือกตั้งระดับชาติบ้าง ตนรู้สึกเสียดายเวลา 3 ปีเศษที่ผ่านไปจริงๆ
         
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า “งบประมาณในการอุดหนุนท้องถิ่น นอกจากไม่ได้พยายามอุดหนุนตามสัดส่วนของกฎหมายแล้ว ยังจะไปทุบกระปุกล้วงเอาเงินสะสมท้องถิ่นมาใช้ตามนโยบายที่ขาดการตรวจสอบ ประการสำคัญสังคมเริ่มสงสัยว่าเพื่อปูพื้นฐานทางการเมืองหรือไม่? เพราะความล้มเหลวในการปฏิรูป และการตรวจสอบการทุจริตไม่จริงจังเป็นเครื่องพิสูจน์ จึงขอให้สังคมร่วมกันคัดค้านการขอใช้เงินสะสมท้องถิ่น ซึ่งมีข่าวว่าจะนำเรื่องเข้า ครม.สัญจร ในสัปดาห์หน้า โดยควรรักษาเงินสะสมท้องถิ่นไว้ใช้เมื่อมีเหตุจำเป็น เร่งด่วน ส่วนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาอาชีพในชุมชน ควรกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ทั้งงบประมาณและภารกิจ หากยังหวงอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ก็ยากที่จะพัฒนาให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ”

เกาะติดเลือกตั้ง! “คณิน” คาดการณ์พรรคเดียวทะลุ 300 ที่นั่ง


นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว กรณีที่ กรธ. และ กกต. ต่างวิเคราะห์คาดการณ์ตรงกันว่าในการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่ให้กาบัตรใบเดียวและจัดสรรปันส่วน โอกาสที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะได้รับเลือกตั้งเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือ 251 ที่นั่งขึ้นไป เป็นไปได้ยาก ว่า “สำหรับตนนั้น กลับเห็นว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเกินครึ่งหรือต่ำกว่าครึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้นกระแสต่อต้าน นายกฯคนนอก มีมากและร้อนแรงเพียงใด? และตัวบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดต นายกฯคนใน เป็นใคร?”

นายคณิน กล่าวว่า “ถ้าหากกระแสต่อต้าน นายกฯคนนอก มีไม่มากและร้อนแรงเท่าใดนัก ในขณะที่ตัวบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดต นายกฯคนใน ก็ไม่เด่นหรือโดนใจเท่าที่ควร โอกาสที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะได้ที่นั่ง ส.ส. เกินครึ่ง ย่อมเป็นไปได้ยาก อย่างที่ กรธ. และ กกต. คาดการณ์ ในทางกลับกัน ถ้าหากกระแสต่อต้าน นายกฯคนนอก มีมากและร้อนแรง ในขณะที่ตัวบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดต นายกฯคนใน ก็ทั้งเด่นและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ว่าจะได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย อย่าว่าแต่เกินครึ่งเลย แม้แต่จะทะลุ 300 ที่นั่งก็ย่อมเป็นไปได้”
   
นายคณินกล่าวต่อว่า “กระแสในเรื่อง นายกฯคนนอก กับ นายกฯคนใน จะเป็นประเด็นหลักในการเลือกตั้งคราวหน้า ควบคู่ไปกับเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน รวมทั้งแนวทางในการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าระหว่าง นายกฯคนนอก กับ นายกฯคนใน ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดี ไม่ว่าฝ่ายนายกฯคนนอก หรือ นายกฯคนใน จะได้รับชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน ก็คือ บทบัญญัติที่เป็นเสมือนกับดักรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน คือ ตั้งแต่ 376 ที่นั่งขึ้นไป ซึ่งจะกลายเป็นวิบากกรรมของทั้งฝ่ายนายกฯคนนอก และนายกฯคนใน”
   
นายคณิน กล่าวว่า “ฝ่ายนายกฯคนใน จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมั่นคงพอสมควรต้องมีเสียงสนับสนุนประมาณ 390 เสียงขึ้นไป ซึ่งคงต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคอย่างแน่นอน แม้กระนั้นการบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนประเทศก็จะเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็นและอ่อนไหวสุดๆ ทั้งในเรื่องการจ้องจับตายของทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้าน ซึ่งจะประสานและส่งลูกให้กับ ส.ว. , องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ อย่างเข้มข้น นอกจากนั้น การดำเนินนโยบายที่ต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการที่ต้องไปรายงานความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศต่อที่ประชุมรัฐสภาทุกๆ 3 เดือน ก็จะทำให้รัฐบาลต้องกลายสภาพเป็นปลาย่างได้ตลอดเวลา ในทางกลับกัน ถ้าฝ่ายนายกฯคนนอก หาเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่ถึง 250 ที่นั่ง ก็เป็นอันปิดประตูตายสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีคนนอกเป็นนายกฯ เหตุเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ญัตติที่จะเสนอให้มีการยกเว้นไม่ต้องเลือกบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต. เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามคือ 500 เสียง แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลนายกฯคนนอก ก็ต้องมีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 390 เสียง ซึ่งก็คงต้องเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกับรัฐบาลที่จัดตั้งโดยนายกฯคนใน หรืออาจจะหนักหนากว่าด้วยซ้ำ เหตุเพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็น ส.ส. ยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลนายกฯคนนอก ที่มีเสียงเกินกว่าครึ่งเพียงเล็กน้อย หรือที่เรียกกันว่าปริ่มน้ำแล้วละก็ เตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลยว่าไปไม่รอดแน่ ถึงแม้จะมี ส.ว. 250 คน สนับสนุน ก็ช่วยอะไรไม่ได้”

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"เพื่อไทย" แนะถอดบทเรียน 9ปีพันธมิตรฯยึดสนามบิน เห็นต่างได้แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ครบรอบ 9 ปี พันธมิตรยึดสนามบินว่า สังคมไทยต้องร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้การใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายกลับมาสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติได้อีก การยึดสนามบินที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของประเทศถือเป็นจุดตายที่สร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาทเพียงเพื่อต้องการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้แกนนำต้องชดใช้ 522 ล้านบาทเศษ ก็ยึดหลักไม่มีไม่หนีไม่จ่าย แล้วประเทศจะไปเรียกค่าเสียหายได้จากใคร ส่วนคดีอาญาก็ไม่ทราบว่าดำเนินคดีไปถึงขั้นไหนแล้ว เพียงแค่คนไม่กี่พันคนแต่กลับสร้างความเสียหายให้กับคนกว่า 65 ล้านคนได้ เราจะร่วมกันป้องกันไม่ให้ความเสียหายในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. สะท้อนบทเรียน 9 ปี ปิดสนามบิน ระบุ เห็นต่างได้แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง คำถามคือในขณะนั้นที่ท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบก ท่านได้ทำอะไรบ้างที่เป็นการระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบ้านเมือง จริงหรือไม่ที่รัฐบาลในขณะนั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงป้องกันไม่ให้มีการยึดสนามบิน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ปฏิบัติตามที่รัฐบาลสั่งการ เพื่อไม่ให้ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต สังคมไทยควรยึดหลัก ร่วมกัน 5 ข้อ คือ

1.ต้องไม่ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ม็อบต้องไม่สามารถล้มรัฐบาลได้

2.ไม่ว่าจะไม่ชอบหรือเกลียดรัฐบาลอย่างไรก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลควรเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

3.การชัตดาวน์ประเทศ ชัตดาวน์ระบบราชการ ก่อจลาจลขัดขวางการเลือกตั้งต้องไม่เกิดขึ้นอีก

4.ฝ่ายความมั่นคงต้องปฎิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล

5.ไม่ว่ากรณีใดๆต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา

พรรคเพื่อไทยอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกัน ถอดบทเรียน 9 ปี พันธมิตรยึดสนามบินอย่างครบถ้วนรอบด้านเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้อีก

"นพดล" แนะใช้เครื่องตรวจจับความเร็วลดอุบัติเหตุ


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีรถตู้ชนท้ายรถบรรทุกจนเกิดเพลิงไหม้มีผู้เสียชีวิต 14 รายที่จังหวัดสิงห์บุรี และเมื่อได้ตรวจสอบจีพีเอสที่ติดกับรถแล้วพบว่าขณะชนนั้นรถวิ่งที่ความเร็ว 107 กม./ชม. ซึ่งเกินกฎหมายกำหนดที่ 80 กม./ชม.นั้น ตนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่สูญเสียคนที่ตนรัก เรื่องนี้ตนเคยเตือนและให้คำแนะนำไปแล้ว แต่ผู้กำกับนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้พิจารณาข้อเสนอของตน หรือแม้อย่างน้อยควรตั้งคณะทำงานมาศึกษาข้อดีข้อเสียของข้อเสนอของตน แต่ไม่เห็นว่ามีการดำเนินการใดๆ ตนเคยเสนอว่าควรให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถบัส รถตู้ควรติดตั้งเครื่องจำกัดความเร็วไม่ให้ขับเกินกฎหมายกำหนด ถ้ามีเครื่องนี้แล้ว คนขับจะเหยียบคันเร่งเท่าไหร่ความเร็วจะถูกล็อคไว้ ในสหภาพยุโรปก็ใช้มาตรการนี้ เพราะการขับรถเร็วเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่การติดจีพีเอสนั้นมันไม่ได้ผล เพราะจำกัดความเร็วไม่ได้ ทำให้เรารู้หลังจากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และอุบัติเหตุที่จังหวัดสิงห์บุรีครั้งนี้ก็ชี้ชัดว่าจีพีเอสช่วยไม่ได้ ถามว่ามันมีประโยชน์ในการป้องกันอุบัติเหตุดีเท่ากับการติดตั้งเครื่องจำกัดความเร็วหรือไม่? คำตอบชัดเจนคือไม่ แต่น่าเสียดายที่ผู้เกี่ยวข้องยังไม่เข้าใจ และถ้าไม่เอาจริง จะมีอุบัติเหตุที่คนเสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะครั้งละจำนวนมากๆ อีก ขอถามว่าประเทศไทยติดลำดับโลกในเรื่องคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุซึ่งทำให้สูญเสียมหาศาลทั้งในทางเศรษฐกิจและในมิติของคน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคิดจะทำอะไรจริงจังเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุและคนเสียชีวิตหรือไม่?

วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"วัฒนา" บินพบ "ทักษิณ" ยกเทียบอัศวินดิจิทัล


นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ทักษิณ...อัศวินดิจิทัล”

ผมเดินทางมาพบท่านนายกทักษิณที่สิงคโปร์ ได้ความรู้จากท่านมากมายทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ที่สำคัญคือวิธีต่อสู้กับเผด็จการ ท่านนายกยังแข็งแรง สุขภาพดี ดูตามภาพจะเห็นว่าท่านหนุ่มกว่าผมอีก วิธีคิดของท่านยิ่งหนุ่มกว่าเปรียบได้กับมนุษย์ดิจิทัล ส่วนพวกเผด็จการเป็นได้เพียงแอนะล็อกหรือกระดานชนวน ส่วนจะเป็นมนุษย์หรือไม่ก็แล้วแต่จะคิดเพราะคนที่กล้าทำลายระบบ ทำลายหลักนิติธรรม เพียงเพื่อให้ตัวเองได้มีและอยู่ในอำนาจโดยไม่ได้ดูสารรูปทางปัญญาของตัวสำหรับผมไม่เรียกว่ามนุษย์ ท่านนายกฝากความรัก ความเคารพและความปรารถนาดีมายังพี่น้องประชาชนที่รักประชาธิปไตยทุกท่าน ขอให้มีความหวังเพราะเผด็จการไม่มีทางชนะประชาชน

เผด็จการไม่เคยให้เกียรติประชาชน พูดจาสามหาวทั้งยังใช้กองทัพเป็นเครื่องมือกดหัวประชาชนที่ยืนข้างประชาธิปไตย ล่าสุดใช้อำนาจเผด็จการแก้กฎหมายยกระดับและเพิ่มอำนาจ กอ.รมน. จนนักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า กอ.รมน. จะถูกใช้เพื่อภารกิจทางการเมืองเป็นเครื่องมือของกองทัพในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพื่อควบคุมและต่อต้านพรรคการเมืองที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตคล้ายกับที่เคยทำได้ในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นี่คือความพยายามที่จะควบคุมประชาธิปไตยไม่ให้ได้ผุดได้เกิด แต่เป็นความคิดที่ย้อนยุคอีกทั้งยังขาดสมองที่จะเข้าใจว่าฝ่ายการเมืองรู้เท่าทัน มีวิธีแก้ไขและไม่เคยกลัว จึงขอถือโอกาสนี้ท้ามายังเผด็จการว่า หากเชื่อว่า กอ.รมน. สามารถคุมการเลือกตั้งได้แล้ว จงรีบจัดให้มีการเลือกตั้งประชาชนจะสอนบทเรียนให้ เพื่อจะได้ปฏิรูปกองทัพให้เป็นองค์กรที่ตรวจสอบได้และมีขึ้นเพื่อรับใช้ประชาชน รวมทั้งลากคอพวกที่ทำกรรมไว้กับประชาชนมาขึ้นศาลเสียที แล้วจะรู้ว่าที่โง่คือเผด็จการไม่ใช่ประชาชน

วัฒนา เมืองสุข
สมาชิกพรรคเพื่อไทย








วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

พานทองแท้ สอน "เพื่อนย่อมไม่รังแกเพื่อน" หลังประยุทธ์อ้าง "นี่เพื่อนฉันเอง"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์รูปไมโครโฟนสำนักข่าว "วอยซ์ทีวี" ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ พร้อมข้อความระบุว่า "เพื่อนย่อมไม่รังแกเพื่อน" หลังจากวานนี้ (22 พฤศจิกายน 2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับสื่อมวลชน โดยหยิบไมโครโฟนของสำนักข่าววอยซ์ทีวีขึ้นมาและพูดว่า "นี่เพื่อนฉันเอง" และก่อนหน้านี้ได้ชวนสื่อดูรายการประกวดร้องเพลงรายการหนึ่ง แต่พูดชื่อผิดเป็น "วอยซ์ทีวี" แล้วระบุว่า "เผอิญวอยซ์ทีวีเป็นเพื่อนรักกันไง"

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย-มูลนิธิคอนราด เสวนา ผลการเลือกตั้งเยอรมัน 2017 : โอกาสสำหรับการเริ่มต้นใหม่


สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มูลนิธิการเมืองจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้การสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านต่างๆ จัดเสวนา ในหัวข้อ "Germany after 2017 election: challenging issues & visions for EU"  หรือ "ผลการเลือกตั้งเยอรมัน 2017 : โอกาสสำหรับการเริ่มต้นใหม่" มีวิทยากรจากเยอรมนีมาให้ความรู้ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มาร่วมงาน โดยมี ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ โรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ กรุงเทพฯ


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นผู้กล่าวต้อนรับและเปิดงานเสวนาด้วยภาษาอังกฤษ ตอนหนึ่งว่า (กองบรรณาธิการ Social Media TV24 แปล) "นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยประเทศนี้เป็นศูนย์กลางของยุโรปแต่ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลแบบผสมได้ ประเทศไทยใกล้จะมีประสบการณ์คล้ายกับเยอรมนี การเลือกตั้งในอดีตถูกทำให้เป็นโมฆะ ในไม่ช้าประเทศไทยก็กำลังจะเลือกตั้งและอาจจะเจอเหตุการณ์คล้ายกับเยอรมนี"


ทางด้าน นายจอร์ช แก็ฟโรน (Mr. Georg Gafron) ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "เยอรมนีตอนนี้ ได้มีพรรคขวาจัดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพรรคชาตินิยมอย่างสูง สำหรับคนส่วนใหญ่เป็นอะไรที่น่าหวาดกลัวและน่าประหลาดใจมาก สิ่งที่คนรู้สึกในตอนนี้คืออนาคตไม่แน่นอน ไม่มีใครให้คำตอบได้ เพราะนอกจากปัญหาการลักลอบเข้าประเทศแล้ว สิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นคือปัญหาการก่อการร้าย สิ่งที่น่ากลัว คือมีการวางแผนก่อการร้ายต่างๆในช่วงเทศกาลสำคัญ ไม่มีการโจมตีทหารหรือพลเรือน แต่มุ่งเป้าไปที่ประชาชน สิ่งนี้ที่ทำให้คนกลัว เราไม่สามารถจะโจมตีหาว่าผู้ลี้ภัยทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะเราไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ แต่นั่นคือปัญหาใหญ่ และเป็นสิ่งที่ประชาชนต่างก็พากันหวาดกลัว ทุกประเทศมีความท้าทาย ผมหวังว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งหน้า สิ่งสำคัญคือเราทุกคนต้องตระหนัก คนที่มีความคิดเท่านั้นที่จะรู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไร?"


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกำหนดการในช่วงบ่าย เป็นการอภิปรายในหัวข้อ "Germany after 2017 election: challenging issues & visions for EU" (เยอรมนีหลังจากการเลือกตั้ง 2017 : ปัญหาที่ ท้าทายและวิสัยทัศน์สำหรับสหภาพยุโรป" โดย ผศ. ร.ต.อ. ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล, ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก และ ดร.ศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ ร่วมอภิปราย ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก และสิ้นสุดการอภิปรายในเวลา 18.10น. ที่ผ่านมา







วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"ชยิกา" แนะรัฐหยุดละเมิดสิทธิ์-คืนอำนาจให้ประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

กรณี ครม.ไฟเขียว ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติ ดิฉันมีความเห็นว่าการที่รัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน และประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ทั้งนี้รัฐบาลควรจะเป็นต้นแบบและละเว้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน หรือยกเลิกคำสั่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะมาตรา 44 ของคสช. เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้แล้ว แต่รัฐบาลยังคงใช้อำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิวัติที่เอื้ออำนาจให้นายกรัฐมนตรีจนสร้างความหวาดระแวงทั้งข้าราชการและประชาชนซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

พร้อมกันนี้ดิฉันจึงขอเสนอต่อรัฐบาลให้ดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีการประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติโดยขอให้ยกเลิกการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นอีกดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง และประกาศทั้งหลายตั้งแต่การยึดอำนาจปกครองประเทศที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนี้อันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยกเลิกการใช้วิธีการนำตัวประชาชนไปปรับทัศนคติ โดยเฉพาะประชาชนผู้เห็นต่าง รวมไปถึงในบางกรณีที่เกิดการควบคุมตัวประชาชนโดยไม่มีความผิด และให้ความเป็นธรรม ให้ความยุติธรรมกับผู้ต้องหาทางการเมืองทุกคน รวมทั้งยกเลิกการให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร 

2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายและมาตรการใดๆ ที่จะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ และสร้างความไม่เท่าเทียมและขัดแย้งกันในสังคม และดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว

3. ขอให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ให้ประชาชนสามารถแสดงออกทางความคิด เสนอแนะต่างๆโดยแนวทางสันติและโดยอิสระ เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นที่แตกต่างตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสังคมและหาทางออกให้ประเทศชาติ

4. สุดท้ายขอให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชน หยุดไล่ล่าทางการเมือง เคารพสิทธิ เสียง และสิทธิทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้ใช้สิทธิใช้เสียงของตนอย่างเท่าเทียมกัน ให้ประเทศเดินไปตามครรลองในระบบประชาธิปไตย

ซึ่งถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ก่อน ก็จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถยอมรับการ ประกาศเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ของรัฐบาลได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งหรือสงสัย ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่ดำเนินการแก้ไขยกเลิกหรือมีมาตรการกับสิ่งที่ได้ปรากฏอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด ก็อาจจะพูดได้ว่าการประกาศวาระแห่งชาติดังกล่าวคือสักแต่ได้ประกาศ แต่จะไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมใดๆเลยแม้แต่น้อย

ไม่เป็นธรรม! “ชูศักดิ์” ค้านรัฐมุ่งเอาผิด-ละเมิดสิทธิ์ทักษิณ


นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ระบุว่ากรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีที่อัยการสูงสุดได้มีความเห็นให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้พิจารณาคดีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ศาลได้รับฟ้องไว้แล้วต่อไป ได้แก่ คดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร และคดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตนั้น เห็นว่า แม้การดำเนินการของอัยการสูงสุดจะเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ..2560 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาหลักการที่เปลี่ยนไปของกฎหมายฉบับดังกล่าวและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับคดีทั้งสองเรื่องจะเห็นได้ว่ามีความไม่ชอบธรรมและขัดต่อหลักการสากลในหลายเรื่อง ดังนี้

เรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย การกำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้เป็นการยกเว้นหลักการสำคัญในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้กับคดีอาญาทั่วไป นั้นเป็นการขัดต่อหลักการสากลที่การพิจารณาคดีอาญาจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ซึ่งการพิจารณาคดีและพิพากษาไปฝ่ายเดียวนั้นโดยหลักจะนำไปใช้ในเฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้ในคดีอาญาด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนเองได้คัดค้านมาตั้งแต่ในชั้นการยกร่างกฎหมายแล้ว กฎหมายในลักษณะนี้ นอกจากไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้แก่จำเลยในคดีอาญาแล้ว กลับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยด้วย

การเริ่มต้นของคดีนี้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ามาจากผลจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จะเห็นได้ว่า คดีนี้เริ่มจากการที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาดำเนินการเพื่อเอาผิด ซึ่ง คตส. ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความไม่ชอบธรรม ทั้งในแง่ตัวบุคคลและกระบวนการ และเมื่อส่งเรื่องต่อมายังคณะกรรมการ ... หลายคนในคณะกรรมการ ... ก็ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความไม่เป็นกลางและอคติทางการเมือง คดีทั้งสองเรื่องนี้จึงมีมูลเหตุมาจากเหตุผลทางการเมือง

นอกจากนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 69 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ก็มิได้บัญญัติไว้ชัดเจน  ในกฎหมายดังกล่าวมีผลย้อนหลังไปใช้กับคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับด้วย โดยหลักจึงไม่อาจนำกฎหมายไปใช้บังคับกับบุคคลที่การกระทำเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมาย ใช้บังคับได้ 


ด้วยเหตุนี้ ที่สุดแล้วศาลได้พิจารณาคดีจนเสร็จสิ้นและมีคำพิพากษา กรณีจึงเป็นว่า ศาลได้พิจารณาและพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียว โดยที่จำเลยไม่ได้เข้ามาในคดี แม้โดยระบบไต่สวนให้อำนาจศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี แต่การที่จะได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลยนั้นคงเป็นไปได้ยาก จึงเห็นว่ากฎหมายที่ออกมาในลักษณะนี้ ย่อมขัดต่อหลักนิติธรรม

“ทนายวิญญัติ” อัดรัฐเร่งคดีทักษิณ แต่ กปปส.ล่าช้า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

#มาตรฐานใช้วัดความถูกต้องเที่ยงธรรม

ในนามเลขาธิการ สกสส. ขอแสดงออกความไม่เห็นด้วยกับ ...ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ..2560 ที่มีบทบัญญัติเป็นการตัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญา อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ  ขนาดว่าคดีที่ต้องให้กระทำต่อหน้าจำเลย ยังมีการสอบสวนที่ไม่ชอบ  มีอคติ การสร้างพยานหลักฐานที่ไม่ชอบมาพากลให้เห็นกันมาแล้ว นับประสาอะไรคดีที่ไม่มีตัวจำเลยในศาล  อย่าได้คิดเลย..หายนะทั้งนั้น

จากข่าวที่ทางอัยการสูงสุดสั่งรื้อฟื้นคดี” (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง)   รื้อฟื้นคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาทุจริตการออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และในข้อหาทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยแก่กลุ่มกฤษดามหานคร  ซึ่งทั้งสองคดีศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนี และคณะทำงานได้มีความเห็นเสนอต่อ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด(คนปัจจุบันซึ่งเห็นพ้องให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวทั้งสองสำนวน พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนต่อไป  โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย    #เพราะตามกฎหมายนี้ อสส. ยื่นฟ้องโดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหามาศาล  เมื่อศาลรับฟ้อง ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว  หากจำเลยไม่มาศาลศาลจะออกหมายจับ หากจับตัวไม่ได้ภายใน 3 เดือน  ก็สามารถพิจารณาคดีลับหลังหรือไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยได้นั่นเอง

จะเห็นว่า ตามพ...ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ..2560 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา อัยการสูงสุดท่านนี้ก็ปฏิบัติหน้าที่เร่งรีบรื้อฟื้นคดี เป็นการวางแนวทางที่เหมาะเจาะกับห้วงเวลาของกฎหมายใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งสามารถวัดมาตรฐานการทำงานของท่านได้ต่อไป

มาถึงคดีที่ผู้ต้องหา(ที่มีตัวอยู่แล้ว)ร่วมเป็นกบฏของ กลุ่ม กปปส.  3 ปี 4 เดือน นับจากส่งฟ้องผู้ต้องหาชุดแรก(21 ..57) คดีไม่คืบ แต่กลับมีกระบวนการอันแปลกประหลาดให้ผู้ต้องหาที่เหลือที่มีแกนนำสำคัญยังไม่ถูกฟ้อง ทั้งๆที่มีกระบวนการสั่งฟ้องดำเนินไปแล้ว หาก  อสส.ท่านนี้ ไม่สั่งการอะไรเพื่อให้คดีที่อสส.ก่อนหน้า คสช.จะยึดอำนาจสั่งฟ้องไว้แล้ว จะถือว่า เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

บ้านเมืองเดินทางมาถึงปีที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่อีกแล้ว แต่กลุ่มคนที่มีพฤติการณ์ขัดขวางการเลือกตั้ง  อสสจะไม่สนใจหรือปฏิบัติหน้าที่เร่งรีบเช่นที่ท่านไปรื้อฟื้นคดีเก่าๆมาอย่างนั้นหรือ กระบวนการคดีกบฏไม่มีอะไรซับซ้อนยุ่งยาก เพียงนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลเสีย ท่านรออะไร?ประชาชนจับตาดูท่าน อสส. ท่านนี้เข่นกัน เราจะได้เห็นมาตรฐานของ อสส.คนนี้

ในสัปดาห์หน้า ผมจะนำพยานหลักฐานสำคัญไปยื่นต่อ ประธาน ปปช. และกรรมการฯ เพิ่มเติมอีก   พร้อมทั้งจะรอดูว่า อสส.ท่านนี้จะรักษามาตรฐานของตนอย่างไรดังนั้น ผมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการ ปปช.เร่งรีบไต่สวนคดีที่ผมยื่นกล่าวหาไว้ด้วย


วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"วัฒนา" ห่วงรัฐสร้างความขัดแย้ง มุ่งเอาผิดทักษิณ ขัดหลักนิติธรรม


นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

วันนี้จะมีการแถลงข่าวการดำเนินคดีกับนายกทักษิณ ซึ่งจะเป็นการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยเป็นคดีแรก โดยก่อนหน้านี้การพิจารณาคดีอาญาและสืบพยานในศาล จะต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172

หลักการพิจารณาคดีอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลยดังกล่าว สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองโดยนำไปบัญญัติไว้ในข้อ 14 (d) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเมื่อเดือนตุลาคม 2539 จากนั้นไทยได้มีการแก้ไข วิ.อาญา เพื่อให้เป็นไปตาม ICCPR เช่น แก้ไขมาตรา 87 ที่เคยให้อำนาจ พงส. ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมได้ไม่เกิน 7 วัน เป็นไม่เกิน 48 ชั่วโมงหรือสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับข้อย่อย 3 ของกติกาข้อ 9 ที่บัญญัติให้ต้องนำตัวผู้ถูกจับกุมไปศาล “โดยพลัน” เป็นต้น พุทธศาสนาก็ถือปฏิบัติตามหลักการนี้โดยพระธรรมวินัยอันเป็นกฎหมายสงฆ์บัญญัติให้การกล่าวหาสงฆ์ที่ต้องอธิกรณ์จะต้องกระทำต่อหน้าสงฆ์นั้นเช่นกัน

การยึดอำนาจของ คสช. ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดคือการทำลายหลักนิติธรรม โดยออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยได้ ทั้งหมดกระทำขึ้นเพียงเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามซึ่งนอกจากจะขัดกับหลักความยุติธรรมอาญาแล้ว ยังขัดหรือแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและทำให้ประเทศสูญเสียความน่าเชื่อถือ ประชาชนจึงต้องอดทนรอให้มีการเลือกตั้ง เมื่ออำนาจกลับคืนมาแล้ว ช่วยกันนับถอยหลังอีกไม่นานเกินรอครับ

“จิรายุ” เตือนรัฐ “ปรับ ครม.เพื่อนพ้องน้องพี่” ไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ขอเตือนไปยังรัฐบาล ว่าปัญหาเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่เส้นอันตรายโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และอย่าพยายามปกปิดด้วยตัวเลขในมุมดีๆ ที่อวยกันเองในซีกของรัฐบาล แม้ว่าท่านจะปรับคณะรัฐมนตรี ป.5 แล้ว แต่เท่าที่ดูหาได้ตอบโจทย์กับสังคมและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ กลับกลายเป็น ครม.เพื่อนพ้องน้องพี่ วันนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยการเปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมา เกือบสองปีแล้วที่ยังไม่มีนโยบายที่เป็นผลอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้เงินที่เรียกว่าแจกแหลก ทั้งบัตรคนจนทั้งบัตรสวัสดิการ แม้กระทั่งโครงการช็อปช่วยชาติ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตรงไหน ชาวบ้านยังจนเหมือนเดิม ที่เพิ่มมาคือหนี้สิน อีกทั้งยังไม่เห็นมาตรการอะไรที่ชัดเจนที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจระดับกลางและระดับล่างหรือเอสเอ็มอี และนอกจากนี้การเมินเฉยต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรวันนี้เป็นสิ่งที่น่าอันตรายยิ่ง เมื่อใดที่ผู้มีรายได้น้อยใช้เงินที่รัฐบาลแจกหมดซึ่งมีเพียงน้อยนิดก็จะกลับมาเกิดปัญหาเช่นเดิม นับเป็นการแก้ไขปัญหาชนิดแก้ผ้าเอาหน้ารอด

วันนี้หน่วยงานที่รวบรวมสถิติทั้งหลายต้องเอาข้อมูลความจริงไปให้พลเอกประยุทธ์ดูไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการจดทะเบียนการค้า การจัดเก็บภาษี หรือแนวโน้มการใช้งบประมาณแบบขาดดุล และการขึ้นภาษีสินค้าต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ วันนี้ก็ยิ่งทำให้สินค้าเถื่อนจากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก การขึ้นภาษีที่หวังจะได้เงินเข้าคลังอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลสินค้าเกษตรกรรมทุกประเภทให้ดีกว่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าของประเทศดีขึ้น

"จาตุรนต์" ให้โอวาทวันเด็กสากล หนุนเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อสังคม


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นประธานในพิธีมอบโล่ห์เกียรติยศและให้โอวาทแก่นักศึกษาในฐานะผู้กำกับ The Assassin 2 ภาพยนตร์เพื่อการรณรงค์ด้านปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ประเด็นปัญหาบุหรี่และยาเสพติด เนื่องในงานวันสิทธิเด็กสากลและวันเด็กสากล ประจำปี 2560 ภายใต้แนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ เพื่อเด็กดู" ณ โรงภาพยนตร์ SF World

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวโอวาทภายหลังพิธีมอบโล่ห์เกียรติยศ ว่า "ในวันนี้มีการรณรงค์กันทั่วโลกเรื่องสิทธิเด็กโดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองปกป้องเด็กและเยาวชนทั่วโลก  จากข้อมูลของยูนิเซฟ (UNICEF) พบว่ามีเด็ก 385 ล้านคนทั่วโลกอยู่ในความยากจน อีกประมาณ 50 ล้านคนต้องพรากจากครอบครัว มีหลายล้านคนถูกกระทำความรุนแรง แต่ละวัน มีเด็กกว่า16,000 คนตายจากโรคที่สามารถป้องกันได้ มีความพยายามรณรงค์ให้เด็กได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิมีเสียง มีบทบาทที่จะเป็นผู้แสดงและลงมือทำในการรักษาสิทธิตนเอง โลกปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากให้เข้าถึงจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงได้ การเตรียมการเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ ที่ต้องการเด็กที่มีคุณลักษณะใหม่ การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความเป็นผู้นำ"


"ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่กำลังต้องเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ในสังคมที่มี Disruptive Innovation เกิดขึ้นความคิดสร้างสรรค์ของคนกลุ่มเล็กๆที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สังคมแบบนี้จะทำอย่างไรให้เด็กเยาวชนของสังคมเราพร้อมที่จะเข้าถึง เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นประโยชน์และใช้พัฒนาสังคมต่อไปได้"

"ต้องขอแสดงความชื่นชมสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แกนนำเยาวชนอาสาสมัครปลอดควันยาสูบในโรงเรียน กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว กระทรวงสาธารณสุขไทย ที่ได้ร่วมกันผลิตภาพยนต์ The Assassin 2 ซึ่งเป็นภาพยนต์แนววัยรุ่นที่เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการผลิตขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว"

"ปัจจัยเสี่ยงของเด็กในสังคมปัจจุบัน ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพคือ “ยาเสพติด” โดยยกเอาเรื่องบุหรี่เป็นจุดเริ่มต้น สะท้อนให้เห็นว่าบุหรี่เป็นพิษภัยอย่างไรต่อผู้อื่น โดยตัวเลขจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ในแต่ละปีมีคนตายจากบุหรี่ปีละประมาณ 6 ล้านคน โดย 6 แสนคนตายทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ มีรายงานภายในปี 2020 ถ้าไม่สามารถลดการสูบบุหรี่ได้อย่างมีนัยสำคัญ จะมีคนตายจากบุหรี่ประมาณ 7.5 ล้านคน จำนวนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่คิด โดยเป็น 10% ของการเสียชีวิตทั้งหมด  บุหรี่เป็นต้นเหตุถึง 71% ของการเป็นมะเร็งปอด  อีก42% ของโรคทางเดินหายใจ  และอีก 10% ของโรคเส้นเลือดหัวใจ"

"ฉะนั้นการเลือกบุหรี่เป็นตัวตั้งต้นของการรณรงค์ในการสร้างภาพยนต์เรื่องนี้จึงนับเป็นการเลือกประเด็นที่ถูกต้องซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ร่วมกันทำเพื่อประโยชน์สังคม และเป็นการแสดงออกของการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ"

"เราต้องการคุ้มครองปกป้องสิทธิเสรีภาพของเด็ก แล้วเราก็ต้องส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีบทบาทที่กล้าคิดกล้ากล้าทำด้วยตนเอง เด็กลงมือทำด้วยความคิดของเขาเอง พร้อมไปกับผู้ใหญ่ก็สนับสนุน ดังคำขวัญว่า เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน"


วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บทวิเคราะห์ - คณิน บุญสุวรรณ: ขยายเวลาพรรคการเมือง ทางออกสู่ทางตัน


กองบรรณาธิการ Social Media  สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน นำเสนอมุมมองของนายคณิน บุญสุวรรณ อดีต สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 ต่อกรณีที่มีผู้เสนอวิธีการขยายเวลาให้แก่พรรคการเมือง จากเหตุที่พรรคการเมืองทำไม่ทันตามกำหนดในกฎหมายว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่ “ทางออก” แล้ว ยังอาจนำไปสู่ “ทางตัน” อีกด้วย 

นายคณิน กล่าวว่า ต้นเหตุแท้จริงที่พรรคการเมืองจะทำไม่ทัน คือ การที่ คสช. ยังไม่ยอมยกเลิกประกาศ คสช. 2 ฉบับ ที่ห้ามชุมนุมเกินห้าคนและห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมและดำเนินกิจกรรม ทางการเมือง แต่แทนที่มือกฎหมายชั้นเซียนของ คสช. คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และนายวิษณุ เครืองาม จะชงเรื่องให้ คสช. ยกเลิกประกาศ คสช. ดังกล่าว กลับเลี่ยงไปเสนอให้ขยายเวลาให้แก่พรรคการเมืองแทน โดยที่นายมีชัยเสนอให้ กกต. ชงแก้กฎหมายเพื่อขยายเวลาให้แก่พรรคการเมือง และนายวิษณุ บอกว่า เมื่อถึงเวลาพลเอกประยุทธ์จะหาทางออกให้เอง (ซึ่งก็คงไม่แคล้วการใช้ ม.44 นั่นแหละ) ในขณะที่ กกต. เสนอให้พรรคการเมืองขอขยายเวลาตาม มาตรา 141 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

แต่ทั้งสามวิธีที่เสนอข้างต้นนั้น นายคณิน ท้วงว่า นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว ยังอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย และที่สำคัญจะกระทบต่อโรดแมปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดการเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ แบบทศนิยมไม่รู้จบ 

นายคณิน กล่าวต่อไปว่า กรณีที่นายมีชัย เสนอให้ กกต. ชงกฎหมายเพื่อขยายเวลาให้แก่พรรคการเมืองนั้น นายคณินถามว่า นายมีชัยซึ่งเป็นทั้งมือกฎหมายชั้นเซียนและประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแน่ใจหรือว่าทำได้ ? ในเมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสิบฉบับที่ได้ดำเนินการตามบทเฉพาะกาล มาตรา 267 จนครบถ้วน และประกาศใช้บังคับ ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา แล้วคนระดับนายมีชัยยังคิดที่จะนำกลับไปให้ สนช. แก้อีกหรือ? 

ส่วนกรณีที่นายวิษณุบอกว่า เมื่อถึงเวลาพลเอกประยุทธ์จะหาทางออกให้เองนั้น นายคณิน กล่าวว่า นั่นก็ยิ่งแล้วกันไปใหญ่ เพราะนอกจากพลเอกประยุทธ์จะไม่มีหน้าที่แล้ว การใช้ ม.44 ในขณะที่อำนาจ รัฎฐาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในมือของ คสช. แล้ว ไปลบล้างบทบัญญัติของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งออกตามความในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ ยังเท่ากับเป็นการลบล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อีกด้วย

และต่อกรณีที่ กกต. เสนอให้พรรคการเมืองขอขยายเวลาตามมาตรา 141 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง นั้น นายคณินเตือนว่า กกต. ต้องไม่ลืมว่า กกต. เอง จะต้องจัดและดำเนินการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ป. 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบกับขั้นตอนและหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการขอขยายเวลาดังกล่าวต้องใช้เวลานาน ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือน แถมยังอาจเกิดปัญหาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่อนุญาต ซึ่งต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกต่างหาก คิดหรือว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเวลา 150 วัน ดังกล่าว ? ดังนั้น การใช้วิธีที่ กกต. เสนอ จึงนอกจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 และมาตรา 268 และกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้งที่จะถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ แล้ว ยังอาจจะเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองตามมาอีกต่างหาก 

นายคณิน ยังกล่าวด้วยว่า โทษของการที่พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 141 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะภายใน 90 วัน หรือภายใน 180 วัน คือ ต้องสิ้นสภาพพรรคการเมือง นอกจากนั้น ถึงแม้พรรคการเมืองจะไม่สิ้นสภาพ แต่ถ้ายังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสาขาพรรคการเมืองอย่างครบถ้วน พรรคการเมืองนั้นก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

สรุปได้ว่า พรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่แล้ว มีแต่ “ตายกับตาย” ตราบใดที่ยังไม่ปลดล็อคประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับ ซึ่งคำว่า “ตายกับตาย” ในที่นี้ก็อาจหมายถึงความ “ล่มสลาย” ของระบบพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มต้น เรียกว่า “แท้งก่อนเกิด” ว่าอย่างนั้นเถอะ

และถ้าระบบพรรคการเมืองซึ่งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย มีอันต้อง “ล่มสลาย” ไปเสียแล้ว 
 ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีเหลืออยู่น้อยนิดภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะอยู่รอดและแข็งแรงเติบโตต่อไปได้อย่างไร ?