ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
คำถาม 6 ข้อ ที่ 'ด้อยค่า'
คำถามหกข้อของพลเอกประยุทธ์เป็นความพยายามชี้นำสังคมอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ขัดแย้งในตัวเองและยังแสดงเจตนาที่จะทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
พลเอกประยุทธ์ต้องการให้มีพรรคการเมืองใหม่และนักการเมืองใหม่ มาแทนที่พรรคการเมืองเก่าและนักการเมืองเก่าๆ แต่กลับไม่ยอมปลดล็อคการทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ทำให้การมีพรรคการเมืองใหม่ๆเกิดขึ้นได้ยาก จะทำให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้
การที่คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนั้น ต้องถามว่า จะสนับสนุนด้วยการแสดงความคิดเห็นหรือด้วยการใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุน ถ้าจะใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุนนั้น ย่อมเป็นการผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องวางตัวเป็นกลาง แม้ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้
ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำตามยุทธศาสตร์และแผนการปฏิรูปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลของคสช.ก็ได้
การจะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและระบบราชการควรให้เป็นหน้าที่ของกลไกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ ที่ต้องทำให้ดี ไม่ใช่ไปฝากความหวังไว้กับคณะบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ใช้อำนาจอย่างไม่มีการตรวจสอบ เช่น ที่คสช.ทำอยู่
ส่วนการที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารแล้วเกิดความขัดแย้งวุ่นวาย ต้องไปดูว่ากลไกของรัฐ โดยเฉพาะกองทัพได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างไรหรือไม่
การตั้งคำถาม 6 ข้อของพลเอกประยุทธ์แสดงให้เห็นถึงการดำรงจุดมุ่งหมายและความคงเส้นคงวาอย่างเปิดเผย ไม่อ้อมค้อม อำพรางใดๆ เสียแต่ว่า จุดมุ่งหมายนี้เป็นจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ที่มีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจเผด็จการของตนเองออกไป โดยไม่ฟังเสียงประชาชน แม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
คำถาม 6 ข้อของพลเอกประยุทธ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลกลับมาเป็นรัฐบาลอีก โดยคสช.ต้องการจะสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ทั้งที่จะตั้งขึ้นใหม่และที่มีอยู่แล้ว เพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใต้กำกับของคสช. ขึ้นมาบริหารประเทศไปตามยุทธศาสตร์และแผนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน โดยไม่ต้องฟังเสียงความเรียกร้องต้องการของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้ง
ที่ต้องเป็นเช่นนี้ เพราะข้ออ้างว่า หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงและความแตกแยกอีก เหมือนเมื่อครั้งก่อนการรัฐประหาร อีกทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลและมีความต่อเนื่องได้
ความจริง พลเอกประยุทธ์กับพวกได้วางแผนเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของตนมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เข้ายึดอำนาจเป็นต้นมา การร่างรัฐธรรมนูญ การตั้งคำถามเพิ่มเติมในขั้นการลงประชามติ การออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การตั้งคำถาม 4 ข้อก่อนหน้านี้ การจัดการกับพรรคการเมืองบางพรรค การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่่ของพรรคการเมืองทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนด และการพูดถึงการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ล้วนเป็นไปเพื่อการนี้ทั้งสิ้น
แล้วเหตุใด พลเอกประยุทธ์จึงยังต้องออกมาตั้งคำถาม 6 ข้ออย่างไม่ละอายอะไรเลยเช่นนี้
การตั้งคำถามครั้งนี้ จริงๆแล้ว คือ การชี้นำสังคม โดยหวังว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนมากพอที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการทำตามแผนของตนต่อไป
ที่จำเป็นต้องออกมาตั้งคำถาม ก็เพราะที่ทำมาทั้งหมด ดูเหมือนจะยังไม่เป็นไปตามแผนได้ง่ายๆ พรรคการเมืองใหญ่ๆยังไม่ได้ถูกทำลายไปจนราบคาบ คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลคสช.เองก็ลดลงฮวบฮาบ ปัญหาของประชาชนที่สะสมมาในช่วง 3 ปีกว่าก็มากขึ้นๆ และไม่มีทีท่าว่าจะมีปัญญาไปแก้ไขได้ หากมีการเลือกตั้งขึ้นมาในสภาพเช่นนี้ ก็ไม่มีหลักประกันว่า พลเอกประยุทธ์และพวก จะเป็นรัฐบาลได้ต่อไปอีก
กลายเป็นว่า จะลงก็ลงไม่ได้และไม่ได้อยากลงอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เป็นตามแผน จบไม่ได้อย่างที่ต้องการ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปก็ทำท่าว่าจะ "เสียของ"
ส่วนที่ถามว่า ทำไมช่วงนี้นักการเมืองจึงออกมาโจมตีรัฐบาลคสช.กันมาก คงต้องบอกว่า ขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์คสช. ใครๆเขาก็วิจารณ์กันทั้งนั้น เพราะเขาเห็นว่า ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งทำความเสียหายแก่ประเทศชาติ
คนที่ทำให้รัฐบาลคสช.ด้อยค่า ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ คือ คสช.เอง และการตั้งคำถาม 6 ข้อครั้งนี้ ยิ่งทำให้คสช.ด้อยค่าลงไปอีก
.....
#คำถาม6ข้อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น