วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“เรืองไกร” ยื่นสอบที่มา กกต.


วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านนายพลวัฒน์ พิรติชัยธนกุล ผู้อำนวยการสำนักกิจการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้ตรวจสอบการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต.ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าชอบด้วย พ.ร.ป.กกต. มาตรา 12 หรือไม่ 


โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมายอมรับว่ากระบวนการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจมีปัญหา ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่มีความเห็นทางกฎหมายที่เบ็ดเสร็จ ดังนั้นในฐานะประธานกกต. ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.ป. กกต และกกต. ทั้ง 5 คน ที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายใหม่กำหนดจะต้องตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในกรณีดังกล่าวว่าเป็นโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
       
โดยประเด็นที่ขอให้มีการตรวจสอบ 

1. กระบวนการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกกต.ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นไปโดยเปิดเผยตามมาตรา 12 ของพ.ร.ป.กกต.หรือไม่ ซึ่งจากที่ตนได้ตรวจสอบรายงานการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาที่ประชุมคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. จำนวน 389 หน้าที่นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ลงนามส่งไป สนช. ไม่พบมีการชี้แจงรายละเอียดในการลงคะแนนว่าใครได้เท่าไร อย่างไร วิธีการคัดเลือกเป็นอย่างไร รวมทั้งไม่มีการแนบระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ที่ในระเบียบฯดังกล่าวก็ได้มีการระบุเรื่องการลงคะแนนโดยเปิดเผยไว้ไปด้วย
       
2.การออกระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะจากที่ตรวจสอบระเบียบฯดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 60 โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 222(2) และพ.ร.ป. กกต.มาตรา 8( 2) มาตรา 12 วรรคเจ็ด แต่ทั้งสองบทบัญญัติดังกล่าว ไม่มีข้อความใดที่ให้อำนาจในการออกระเบียบศาลฎีกาไว้ ดังนั้นระเบียบดังกล่าวอาศัยอำนาจตามกฎหมายใดในการออกและมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ม่พบว่ามีการอ้างว่า ใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการออก
       
"ระเบียบคณะกรรมการสรรหากกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลที่ได้ารับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ซึ่งประธานศาลฎีกา ลงนามในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา การออกยังอ้างว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 วรรคสอง และมาตรา 17 วรรคสองของพ.ร.ป.กกต. ที่ก็เขียนรองรับไว้ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาออกระเบียบได้ และมีการประกาศระเบียบฯดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา แต่ระเบียบของศาลฎีกา กลับไม่มี" นายเรืองไกร กล่าว
       
3.องค์ประชุมของผู้พิพากษาในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกกต. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยตามมาตรา 12 วรรคห้าของพ.ร.ป.กกต. กำหนดให้ผู้ที่จะรับเลือกต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งตนเห็นว่าย่อมหมายถึง ผู้พิพากษาที่มีอยู่ทั้งหมดในศาลฎกีา ไม่ใช่เฉพาะที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีหา หรือผู้พิพากษาอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา195 วรรคหนึ่งเพราะกรณีนี้ใช้สำหรับการเลือกองค์คณะพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ดังนั้นที่ปรากฎข่าวว่า ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกกต.จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้รับคะแนนเสียง 86 ต่อ 77 น่าจะไม่ใช่คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกา
      
"การเลือกตั้งคงมีแน่ในปี 61 ไม่ว่าใครจะอยากอยู่ต่อหรือไม่ก็ตาม ซึ่ง ประธานกกต. และกกต.ชุดนี้ต้องเสียสละที่จะจัดการเลือกตั้งแทนกกต.ชุดใหม่ 7 คนที่มีปัญหาจัดไม่ได้แน่ เรื่องนี้สำคัญ เนื่องจากกกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริต โปร่งใส ถ้าที่มากกต. มันไม่สุจริต โปร่งใส เสียเอง แล้วจะมาทำให้ ผม หรือพรรคการเมือง เชื่อว่าเขาจะจัดการเลือกตั้งที่สุจริต โปร่งใสได้อย่างไร?" นายเรืองไกร กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น