วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560
"คณิน" แนะเซ็ตซีโร่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้กล่าวถึงประเด็นที่สังคมยังมีความกังขากันอยู่ว่า การที่ สนช. ไม่เซ็ตซีโร่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิหนำซ้ำยังให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งครบ 9 ปีแล้ว สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า “การดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือจะถูกเซ็ตซีโร่ของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องดูใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก ได้ปฏิบัติตาม มาตรา 273 อย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมาหรือไม่? ประเด็นที่สอง การดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไปขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือไม่?
สรุปง่ายๆว่า ถ้าไม่ปฏิบัติให้ตรงไปตรงมาและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ย่อมเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 และถ้ายังขืนให้บางคนยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปโดยไม่เซ็ตซีโร่ ทั้งๆที่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามข้อหนึ่งข้อใดหรือหลายข้อตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่นกัน”
นายคณิน กล่าวว่า “มาตรา 273 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใด ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
บทบัญญัตินี้ถ้าตีความอย่างแคบหรือตีความเข้าข้างตนเอง สนช. จะเซ็ตซีโร่หรือไม่เซ็ตซีโร่องค์กรใดย่อมอยู่ในอำนาจของตน แต่ถ้าตีความอย่างกว้างและตรงไปตรงมาแล้ว สนช. จะต้องเซ็ตซีโร่ทุกองค์กร ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างหมดจด ไม่มีอะไรที่ต้องเคลือบแคลง ดังนั้น การที่ สนช. เลือกที่จะเซ็ตซีโร่หรือไม่เซ็ตซีโร่เป็นบางองค์กร จึงนอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) อีกด้วย เพราะเหตุว่า สนช. แต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งจะเป็นผู้เลือก ส.ว. จำนวน 250 คน เพื่อให้มีส่วนในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งอำนาจที่จะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ซึ่งทั้งหมดล้วนถือกำเนิดมาจากอำนาจของ คสช. ทั้งสิ้น”
นายคณิน กล่าวในที่สุดว่า “ทั้ง กรธ. และ สนช. ควรตระหนักอยู่เสมอว่า พวกตนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ลำพังแค่ที่ว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะมาออกกฎหมายไปบังคับใช้ กับประชาชนทั้งประเทศก็แทบจะรับไม่ไหวกันอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นการออกกฎหมายเพื่อสนองความต้องการของผู้มีอำนาจจนเกินงาม ในขณะที่เต็มไปด้วยกติกาทางการเมืองที่เอารัดเอาเปรียบและมัดมือชกฝ่ายตรงข้ามแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งประชาชนคงรับไม่ได้ และอาจแสดงออกเงียบๆ แต่ทรงพลัง ยิ่งในการไปเทคะแนนให้พรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับ คสช. อย่างถล่มทลายก็เป็นไปได้ เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่ประชาชนจะเอาคืน จากผู้ที่ได้อำนาจมาด้วยความไม่ชอบธรรม”
ป้ายกำกับ:
คณิน บุญสุวรรณ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น