ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
พรรคเพื่อไทย
แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
เรื่อง
"ความล้มเหลวของรัฐบาล
คสช
. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น
" โดยมีเนื้อหาดังนี้
1. สรุปข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ เกี่ยวกับการทุจริต
1.1 โครงการขุดลอกคูคลองทั่วประเทศขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.)
ข้อเท็จจริง คสช. ได้ให้ความเห็นชอบให้ อผศ. ได้รับสิทธิพิเศษในการรับจ้างขุดลอกคูคลองทั่วประเทศตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค.0421.3/7624 ลว.1 กรกฎาคม 2557 สิทธิพิเศษดังกล่าวคือ ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีกรณีพิเศษ ไม่ต้องประมูล ไม่ต้องมีการแข่งขันราคา แต่กระทรวงการคลังก็ได้วางเงื่อนไขไว้ว่า อผศ. ต้องมีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีเครื่องมือ เครื่องจักรที่จะดำเนินการได้เอง จะจ้างช่วงไม่ได้
พฤติการณ์ที่ส่อว่ามีการทุจริต คสช. และกระทรวงกลาโหมซึ่งกำกับดูแล อผศ. ก็รู้อยู่ว่า อผศ. ซึ่งไม่มีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวโดยตรงย่อมไม่มีความพร้อมเรื่องบุคคลากรและเครื่องจักรในการทำงานขุดลอกคูคลองทั่วประเทศได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการจ้างช่วงกับบริษัทเอกชนและมีข้อร้องเรียนว่ามีการกินหัวคิวกันเป็นทอดๆ และยังมีการทิ้งงานด้วย จนที่สุด ครม. จึงได้มีมติยกเลิกสิทธิพิเศษกับ อผศ.
ความเสียหายในการดำเนินการดังกล่าวมีการใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนมากและมีผู้ที่กระทำการอันเข้าข่ายกระทำทุจริตผิดกฎหมายที่สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก มีการร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการ ป.ป.ช. จนเป็นข่าวครึกโครม แต่เรื่องก็เงียบหายไป
1.2 โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
ข้อเท็จจริง ครม. มีมติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้วงเงิน 22,752.50 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนซึ่งโครงการนี้หากมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่ให้มีการทุจริตก็จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและชุมชน
พฤติการณ์ที่ส่อว่ามีการทุจริต หลังมีการดำเนินโครงการ ได้มีข้อร้องเรียนจากประชาชนในหลายจังหวัดว่ามีการทุจริตในหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการจัดซื้อพันธุ์ข้าว พันธุ์ปลา อาหารสัตว์ ปุ๋ย เครื่องพ่นยาเคมี รวมถึงอุปกรณ์การเกษตรอื่นที่มีราคาสูงกว่าราคาจริงในท้องตลาดมาก และมีการผูกขาดตัดตอนในสินค้าบางอย่าง เช่น ปุ๋ยหมักอินทรีย์
ความเสียหาย โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อเทิดพระเกียรติ ควรที่ผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินโครงการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง แต่กลับปล่อยให้มีการทุจริตอย่างกว้างขวางและได้มีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ท. และ ส.ต.ง. เพื่อตรวจสอบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
1.3 โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200
ข้อเท็จจริง เมื่อครั้งที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. กองทัพบกได้จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ซึ่งผลิตโดยบริษัทในประเทศอังกฤษระหว่างปี 2550-2552 จำนวน 474 เครื่อง รวมเป็น 419 ล้าน และยังมีหน่วยงานอื่นๆ ได้จัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวอีกหลายหน่วยงาน ต่อมามีการพิสูจน์เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เครื่องมือดังกล่าวเป็นของปลอม ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ และศาลอังกฤษได้ลงโทษจำคุกผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตและสั่งห้ามการผลิตแล้ว
พฤติการณ์ที่ส่อว่ามีการทุจริต เนื่องจากเป็นการจัดซื้อโดยไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน มีการซื้อขายในราคาที่สูงถึงเครื่องละหลายแสน ถึง 1 ล้านกว่าบาท ทั้งที่อุปกรณ์ทั้งหมดมีราคาไม่กี่ร้อยบาท สูญเสียงบประมาณไปโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ
ความเสียหาย นอกจากเกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินไปจำนวนมากแล้ว การนำเครื่องมือที่ไม่มีคุณภาพมาใช้ยังเป็นความเสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย เรื่องนี้ได้มีการร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบมาตั้งแต่มีการพิสูจน์การใช้งานของเครื่องว่าใช้งานไม่ได้แล้ว จนต่อมาศาลอังกฤษมีคำพิพากษา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบ ล่าสุด เมื่อ กรกฎาคม 2559 ประธานกรรมการ ป.ป.ช. คนปัจจุบันแถลงว่าจะสรุปเรื่องและชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องได้ในเดือนกันยายน 2559 แต่จนบัดนี้เรื่องก็ยังเงียบ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตมีพร้อม
1.4 กรณีเครือญาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำเงินหลวงฝากในบัญชีตนเองและใช้สถานที่ของกองทัพประกอบธุรกิจ
จากกรณีที่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของนายกรัฐมนตรี ได้นำเงินหลวงของกองทัพภาคที่ 3 ไปฝากเข้าบัญชีของภริยาตนเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดทั้งทางวินัยและอาญา รวมถึงกรณีที่บุตรชายของ พล.อ.ปรีชา ได้ใช้สถานที่ภายในกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นสถานที่ราชการเป็นที่ทำการของบริษัทตนเองและรับเหมางานที่เป็นคู่สัญญากับกองทัพภาคที่ 3 ด้วย
เรื่องดังกล่าว ทั้งรัฐบาล กระทรวงกลาโหมและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรที่จะมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และควรเปิดเผยผลสอบต่อสาธารณชน เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องก็เงียบหายไป
1.5 กรณียกป่ารอยต่อชุมชน ห้วยเม็กให้บริษัทกระทิงแดงเช่า
ข้อเท็จจริง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามเห็นชอบให้ บริษัทกระทิงแดง สร้างโรงงานในพื้นที่ป่าชุมชน อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยตามรายงานที่เสนอไปยัง มท. อ้างว่าพื้นที่มีสภาพแห้งแล้งชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ซึ่งตามระเบียบ มท. กำหนดอนุญาตได้ไม่เกิน 10 ไร่ แต่อนุมัติให้เต็มพื้นที่ 31 ไร่ 2 งาน
พฤติการณ์ที่ส่อว่ามีการเอื้อประโยชน์
1) พื้นที่ป่าที่ให้เช่า ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม แต่เป็นป่าที่สมบูรณ์มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ที่ประชาชนยังใช้ประโยชน์อยู่
2) ประชาชนไม่เห็นด้วย แต่กลับใช้ผลการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ตรงประเด็นมาเป็นข้อพิจารณา
3) มีการสร้างโรงงานรุกล้ำปิดทางสาธารณะ
4) มีการใช้ประโยชน์เกินพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต
ความเสียหาย เมื่อได้มีการอนุมัติให้เอกชนได้ใช้พื้นที่ป่า และปรากฏว่าเป็นการกระทำไปโดยไม่ชอบถือว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการกระทำ อันเข้าข่ายเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แม้ต่อมาจะมีการยกเลิกการอนุญาตและเอกชนได้ยุติการสร้างโรงงานแล้วก็ตาม ถือเป็นความเสียหายต่อระบบราชการและรัฐแล้ว จึงต้องมีผู้รับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว
1.6 เรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เรื่องนี้ควรต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากบุคคลที่ถูกตรวจสอบเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบข้อมูลของสังคมออนไลน์ได้พบข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ครอบครองนาฬิกาซึ่งมีราคาแพงตั้งแต่หลักล้านถึงหลายล้าน ซึ่งมีผู้ร้องเรียนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
พฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิด กรณีที่เกิดขึ้นหากพบว่า พล.อ.ประวิตร เป็นเจ้าของนาฬิกา ปัญหาที่ต้องพิจารณาก็จะมีในเรื่องของการไม่แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเงินที่ได้มาจากการซื้อนาฬิกาดังกล่าวมาจากไหน หรือถ้าเป็นเรื่องของการที่เพื่อนให้ยืมตามที่ พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ กรณีนี้ก็อาจเข้าข่ายเป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด (การให้ใช้ทรัพย์สินโดยไม่คิดมูลค่า ถือเป็นประโยชน์อื่นใดอย่างหนึ่ง) อันเป็นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ทั้ง 2 กรณี
ข้อเสนอในการตรวจสอบ แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีหลักเกณฑ์การตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร เป็นคนใน คสช. และดำรงตำแหน่งสำคัญ มีความสัมพันธ์กับประธานกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย จึงขอฝากให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ตามพยานหลักฐานที่ถูกต้องแท้จริง
โดยกรณีที่อ้างว่า นาฬิกาเพื่อนให้ยืมและได้คืนไปหมดแล้วนั้น ก็ควรต้องไปตรวจสอบว่านาฬิกาแต่ละเรือนเป็นของเพื่อนคนใด และเพื่อนคนนั้นได้ซื้อมาจากที่ใด มีหลักฐานการซื้อขายหรือการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะตรวจสอบ ข้อสำคัญคือ ป.ป.ช. ต้องไม่รับฟังเฉพาะพยานบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนาฬิกาเท่านั้น เพราะอาจมีการสมอ้างได้ อีกอย่างเลขาธิการ ป.ป.ช. ไม่ควรที่จะแถลงหรือแสดงความคิดเห็นในทำนองหาทางออกให้กับพล.อ.ประวิตร เหมือนที่เคยแถลงมา นอกจากนี้ เรื่องนี้ถือว่า ป.ป.ช. ทำงานล่าช้าไปหนึ่งก้าว เพราะเมื่อมีข้อเท็จจริงเรื่องนี้และมีการร้องขอให้ตรวจสอบ ป.ป.ช. ควรใช้อำนาจที่มีอยู่สั่งยึดหรืออายัดนาฬิกาดังกล่าวเพื่อตรวจสอบจะได้เกิดความชัดเจน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพล.อ.ประวิตร อ้างว่าได้คืนให้เพื่อนไปหมดแล้วก็ต้องไปตามยึดอายัดไว้ตรวจสอบได้เช่นกัน เป็นของเพื่อนคนไหนก็ไปตามกับเพื่อนคนนั้น
2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีความชอบธรรมในการทำหน้าที่
เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งรวมถึงกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ชัดเจน และสูงกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น กรณีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดี ต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และห้ามผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. หากเป็นข้าราชการการเมือง ก็ต้องพ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเช่นนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระใหม่ ไม่ใช่เขียนให้ สนช. ไปกำหนดเรื่องการดำรงตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระเอาเอง เลยทำให้เกิดกรณีบางองค์กรอิสระ เช่น กกต. และ กสม. ถูกเซ็ตซีโร่ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการ ป.ป.ช. กลับไม่เซ็ตซีโร่ ซึ่งเมื่อพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน พบว่า ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามถึง 7 คน จึงไม่อาจที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตามรัฐธรรมนูญ
การที่ให้กรรมการ ป.ป.ช. ยังดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญชัดเจน อาจมองได้ว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมาจากแม่น้ำสายเดียวกัน ร่วมมือกันใช้เทคนิคทางกฎหมาย เพื่อให้คนในกลุ่มของพวกตนได้ดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวและการล่มสลายครั้งใหญ่ของระบบการจัดทำกฎหมายของประเทศ จึงเห็นว่าเมื่อกรรมการ ป.ป.ช. ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนใหญ่ ได้รับการสรรหาในยุคของ คสช. บางคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน คสช. จึงไม่มีความชอบธรรมที่กรรมการ ป.ป.ช. เหล่านั้น จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป