วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561
"วิม" เตือนเลื่อนเลือกตั้ง กระทบเศรษฐกิจ
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากกรณีการยืดเวลาการบังคับใช้ พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า "การเลื่อนเวลาและการปรับโรดแมปการเลือกตั้งของรัฐบาล คสช. เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากต่างชาติ ตลอดเวลา เกือบ 4 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ขณะที่ประเทศต่างๆในอาเซียนมีอัตราการขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้เกิดจากความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลที่ใช้อำนาจเผด็จการมากเกินไป จนทำให้นักลงทุนวิตกและเกิดความกลัว โดยเห็นได้จากรายงานตัวเลขเวิลด์แบงค์ ที่จัดอันดับประเทศที่น่าลงทุน ซึ่งประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 46 เมื่อปี 2560 ขณะที่ปี 2554-2557 ก่อนการทำรัฐประหาร ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในการลงทุนที่ลำดับ 16-17 แต่ในปี 2561 มีสัญญาณที่ดี ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจะทำตามสัญญาคือการเร่งจัดการเลือกตั้งตามโรดแมป ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจที่จะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ สนช. มีมติยึดระยะเวลาการบังคับใช้ พรป. ส.ส.ออกไปอีกอย่างน้อย 90 วัน ทำให้นักลงทุนและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงอย่างน่าตกใจ ถือเป็นการซ้ำเติมประเทศให้ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ต่อไปอีก รวมทั้งประเทศจะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆอีกมากมาย แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศ ไทยแลนด์ 4.0 ก็ตาม ก็คงไม่สามารถพัฒนาอะไรได้เพราะนโยบายกับการปฏิบัติไม่ไปในทิศทางเดียวกัน"
"อย่างไรตามแม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะพยายามดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจในระดับฐานราก เช่นการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การปล่อยสินเชื่อภาคประชาชน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือน แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นมากนัก จึงทำให้อัตราการขยายตัวไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาพลบของรัฐบาลในการทุจริตมีมาก จนทำให้ประชาชนหมดความเชื่อมั่น การจับจ่ายเกิดการชะลอตัว รวมทั้งมาตรการตั้งทีมประชารัฐ 7,000 กว่าทีมลงไปทุกตำบลเพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในระดับรากหญ้าก็เป็นมาตราการที่หวังผลทางการเมืองมากกว่าที่จะเน้นการแก้ไขปัญหาปากท้อง"
"นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือและการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะฝืดเคือง ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่สภาพที่อดมื้อกินมื้อ แต่ไม่กล้าแสดงออกหรือเรียกต่อภาครัฐเพราะการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐบาลทำให้ประชาชนถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ส่งผลให้ขณะนี้ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เพราะประชาชนขาดรายได้ รายจ่ายที่จำเป็นปรับสูงขึ้น ประชาชนผู้มีรายได้ จำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบเพิ่มมากขึ้น"
"สำหรับการลงทุนภาครัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. เน้นแต่นโยบายการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้เม็ดเงินงบประมาณไม่กระจายตัว แต่กลับกระจุกตัวกับการจ้างงานบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับประโยชน์เพียงไม่กี่ราย ประกอบกับการจ้างงานของบริษัทขนาดใหญ่ก็เน้นแต่การจ้างแรงงานต่างด้าวเพราะมีค่าแรงถูกกว่า จนทำให้แรงงานไทยไม่มีงานทำ ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลต่อไปต้องเร่งแก้ไข การยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ของรัฐบาล คสช. จะหวังผลทางการเมืองอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงมากที่สุด คือปากท้องของพี่น้องประชาชน ความเดือดร้อนในวันนี้มันมากเสียจนจะหมดความอดทน กลัวอดตายมากกว่า มาตรา 44 ของรัฐบาล ซึ่งเกรงว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลที่มีอำนาจมากอย่าง คสช. จะแก้ไขได้" นายวิม รุ่งวัฒนจินดา กล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น