วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

"สุรพงษ์" หนุนคนรุ่นใหม่มุ่งการเมือง แนะพรรคใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มศักยภาพ


นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ทำไมพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544”

วันนี้เมื่อ 17 ปีที่แล้ว การเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ทำให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป ไม่ย้อนกลับไปเหมือนเดิมอีก พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (248 คนจาก 500 คน) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผลการเลือกตั้งทำให้หลายฝ่ายงุนงง แทบไม่เชื่อว่าเป็นความจริง บางคนบอกว่า มีการซื้อเสียงกันมโหฬาร บางคนบอกว่า เป็นปาฏิหารย์ แล้วอะไรกันแน่? ทำให้พรรคไทยรักไทยซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเพียง 2 ปี 5 เดือน เอาชนะพรรคเก่าแก่ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนาได้

เมื่อทบทวนผลการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น 3 ครั้ง พบว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้จำนวน ส.ส. เพียง 22% - 32% และ ใกล้เคียงกับอันดับ 2 มาก ส่วนการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทยทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์เกือบเท่าตัว (248 :128) ปัจจัยที่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องซื้อเสียงที่เล่าขานกันมาทุกยุคทุกสมัย เพราะการซื้อเสียงย่อมไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากการเลือกตั้ง 3 ครั้งก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญขนาดนี้ ผมคิดว่า มีปัจจัยอย่างน้อย 3 ประการที่สร้าง "ปาฏิหาริย์" น่าตื่นตะลึงนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สร้างระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนขึ้นมา เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพรรคเป็นครั้งแรก และยังแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เขตที่เล็กลง ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. หาเสียงแบบเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงมากขึ้น ทุกพรรคการเมืองใช้เพียงเบอร์เดียวในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ ทำให้ง่ายต่อการจดจำของประชาชนผู้มาเลือกตั้ง การเกิดขึ้นของคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เป็นอีกหนึ่ง "นวัตกรรม" ของรัฐธรรมนูญนี้ และการทำงานของ กกต. ชุดแรกซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นชุด "ดรีมทีม" ที่ทำงานอย่างเข้มงวดจริงจัง ทำให้คืนหมาหอนคลายมนต์ขลังลงไปมาก

2. พรรคไทยรักไทยตั้งเป้าเป็นพรรคการเมืองแนวทางใหม่ที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ชูนโยบาย "คิดใหม่ ทำใหม่" ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส พัฒนาคน พัฒนาประเทศ จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ เกษตร การศึกษา สาธารณสุข ยาเสพติด การต่างประเทศ ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งนักคิด นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน มาร่วมให้ความเห็น มีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่นโยบายด้วยหลากหลายรูปแบบ เช่น ทำหนังสือคู่มือนโยบายด้านต่างๆ จัดนิทรรศการ SME ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดประชุมใหญ่ตัวแทนสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศเพื่อประกาศ 11 วาระแห่งชาติ ที่ยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นต้น ที่น่าสนใจมากคือ การติดตั้งป้ายฟิวเจอร์บอร์ดที่เราเห็นคุ้นตากันตามถนนเมื่อมีการเลือกตั้ง แต่พรรคไทยรักไทยทำป้ายแบบนี้ หลายหมื่นแผ่นไปติดตั้งที่กลางหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนเลือกตั้งนานแรมปี จนมีคนแซวว่า ป้ายคงผุพังไปก่อนได้เลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่นโยบายอย่าง "พักหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค" ได้เข้าไปอยู่ในใจประชาชนจำนวนมากไปแล้วก่อนประกาศวันเลือกตั้งเสียอีก

3. พรรคไทยรักไทยใช้การบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ในการวางแผนเลือกตั้ง และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปีเข้ามาทำงานการเมือง มีทั้ง นักวิชาการ แพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน คนรุ่นใหม่เหล่านี้ มีพลังมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ จุดอ่อนคือ ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เราเรียกกันเล่นๆ ว่า "นกแล" แต่นกแลเหล่านี้แหละที่เดินหาเสียงอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนเข้าโค้งสุดท้าย นักการเมืองอาวุโสเจ้าของพื้นที่ ชนะเลือกตั้งมาแล้วหลายสมัยเริ่มหวั่นไหว เมื่อผลเลือกตั้งออกมา ปรากฎว่า "ช้างล้ม" ไปจำนวนมากเพราะ "นกแล" หนุ่มสาวนี้เอง ดูจากรายชื่อ ส.ส. ที่พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งมาในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 จำนวน 248 คน พบว่า เป็น ส.ส. เก่าจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 เพียง 93 คนเท่านั้น ที่เหลืออีก 155 คน บางคนเป็นอดีต ส.ส. ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในปี 2539 แต่ส่วนใหญ่ คือ "นกแล" ที่มีพลังสร้างสรรค์

การเลือกตั้งใหญ่ที่เราอยากให้มาถึงปลายปีนี้ ไม่มีใครรู้ว่า ผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จะเปลี่ยนระบบนิเวศของการเลือกตั้งไปมากขนาดไหน?

ไม่มีใครรู้ว่า Social media อย่าง Facebook, Twitter, Instagram จะส่งผลในการรับรู้ข่าวสารการเลือกตั้ง แล้วมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนมากมายเหมือนใน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ หรือไม่?

ไม่มีใครรู้ว่า คนที่เคยไปเลือกตั้งเมื่อ 7 ปีที่แล้วยังคิดเหมือนเดิมไหม? และคนที่อายุ 11-17 ปีที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเมื่อ 7 ปีที่แล้วอีกหลายล้านคน คิดอย่างไรกับอนาคตของเขาเมื่อไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง?

แต่ผมรู้แน่ว่า แนวทาง วิธีคิด วิธีบริหารจัดการ เป๊ะๆอย่างที่พรรคไทยรักไทยเคยเริ่มไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และพรรคการเมืองอื่นทำตามอย่าง ไม่เพียงพอแล้วในวันนี้ วันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก พรรคการเมืองทุกพรรคต้องทำมากกว่านั้น ต้องมีนโยบายที่รองรับอนาคตของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่น พรรคการเมืองต้องดึงดูดคนรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปีที่เก่งกาจสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กฎหมาย รัฐศาสตร์ การจัดการ จำนวนมากมายในสังคมนี้ เข้ามาทำงานการเมือง เข้ามาร่วมรับผิดชอบ คิด และขับเคลื่อนนโยบายที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก พรรคการเมืองต้องมี Platform ของการจัดการแบบใหม่ที่ใช้ศักยภาพของ Social Network ได้เต็มที่ในทุกระดับ ทั้งกระบวนการจัดการภายใน การทำนโยบาย การรณรงค์หาเสียง และการระดมทุน

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราพูดกันว่า Differentiate or Die
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราพูดกันว่า Innovate or Die

วันนี้ ผมเชื่อว่า พรรคการเมืองต้อง Disrupt or Die

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น