นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด พรป. จะหักล้างหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
คุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ในรัฐธรรมนูญในมาตรา 232 ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้ที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 216
กรรมการ ป.ป.ช. บางคนในชุดนี้สรรหาโดยการที่ คสช. ออกคำสั่งกำหนดองค์ประกอบกรรมการสรรหาขึ้นใหม่ให้ประธาน สนช. และรองนายกฯร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ใช้กับกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับ ป.ป.ช. ซึ่งอิงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงอ่อนกว่าที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปัจจุบันอย่างมาก ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ คือ ถ้าเป็นข้าราชการประจำจะต้องเคยเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และถ้าเคยเป็นข้าราชการการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
กรรมการบางคนขาดคุณสมบัติ บางคนเข้าลักษณะต้องห้าม โดยเฉพาะประธาน ป.ป.ช. ขาดทั้งคุณสมบัติและเข้าลักษณะต้องห้ามด้วย จึงไม่สามารถเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่ากรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับจะอยู่ในตำแหน่งอีกนานเท่าใด ให้กำหนดโดย พรป.
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สนช. จะใช้ พรป. ต่ออายุให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือทั้งสองอย่างได้หรือไม่?
ดูจากเจตนาของการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ที่ต่อมาเรียกกันว่าเป็นคุณสมบัติขั้นเทพ กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้เข้มงวดเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาล อย่างที่โอ้อวดกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง รัฐธรรมนูญนี้ย่อมมีเจตนาให้ใช้เรื่องเหล่านี้ทันที ไม่ใช่อีก 7-8 ปีข้างหน้า
สนช. จะทำได้อย่างมาก ก็คือ กำหนดใน พรป. ให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้พ้นไปทันทีที่ พรป. ใช้บังคับ แต่ให้รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่หรือมากกว่านั้น ก็คือ ให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ใช่ให้ชุดนี้เป็นไปจนครบวาระ ทั้งที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามอย่างที่เป็นอยู่
การออก พรป. นั้น ต้องทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ซึ่งกำหนดว่า เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และต้องมุ่งหมายให้มีการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ
การต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ทั้งชุดไปจนกว่าจะหมดวาระเดิมนั้น จึงขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน
หาก ป.ป.ช. ชุดนี้ยังทำหน้าที่ต่อไป ก็เท่ากับเรากำลังมี ป.ป.ช. ที่ตั้งโดยการแทรกแซงของ คสช. จนได้คนของ คสช. มาคุม ป.ป.ช. ในขณะที่ คสช. กำลังทำทุกอย่างเพื่อให้พวกตนได้อยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง
ปัญหาก็คือ ถ้า คสช. ทำสำเร็จ ตั้งรัฐบาลนายกฯคนนอกได้ ใครจะตรวจสอบรัฐบาล จะไม่เกิดการทุจริตคอรัปชั่นกันใหญ่หรือ?
นี่หรือ คือ รัฐธรรมนูญปราบโกง
นี่หรือ คือ ที่ คสช. บอกว่าเข้ามาเพื่อปราบคอรัปชั่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น