ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย เผยแพร่คำแถลง เรื่อง คสช.และรัฐบาล หมดความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลต่อไป โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ แต่ คสช. และรัฐบาลไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและประชาชนได้ แต่กลับสร้างปัญหาสำคัญที่จะเป็นวิกฤตของชาติในอนาคตต่อไป ซึ่งอาจสรุปได้ ดังนี้
- ได้ใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ออกประกาศและคำสั่ง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการ แม้เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ยังคงคำสั่งและประกาศที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
- มีการแต่งตั้งคนของตนเอง เพื่อทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและองค์กรต่างๆ ซึ่งทำให้องค์กรต่างๆ ขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ และถูกชี้นำโดย คสช. และหัวหน้า คสช.ได้
- ใช้กลไกที่ตนเองสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามาเป็นฐานอำนาจแก่ตนเองในอนาคต, การเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง, การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, การเขียน พ.ร.ป. พรรคการเมือง และใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อสร้างความอ่อนแอให้พรรคการเมืองเดิม และสร้างความได้เปรียบแก่พรรคการเมืองใหม่ (ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นพรรคที่จะสนับสนุนให้ตนเองได้สืบทอดอำนาจต่อไป)
- ไม่เคารพและยึดมั่นในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ด้วยการออกคำสั่งที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตน แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมือง นอกจากนั้น ล่าสุดผู้นำ คสช. (พลเอกประวิตร) ได้ออกมาข่มขู่ผู้ที่จะออกมาเรียกร้องให้คืนสิทธิ เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างว่าขณะนี้ตนเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่าไม่ยอมรับในการมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในขณะนี้
- ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไทย
- ล้มเหลวในการสร้างความสามัคคีปรองดอง เนื่องจาก คสช.ได้เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และกระบวนการสร้างความปรองดองผิดพลาด นำแต่พวกพ้องและเครือข่ายของตนเข้ามาเป็นกรรมการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและส่วนอื่นๆ
- ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำยังคงเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ประชาชนยังขาดกำลังซื้อ แม้จะทุ่มเทงบประมาณไปนับแสนล้านบาท / ปัญหาสังคม การค้ามนุษย์และยาเสพติด รวมถึงปัญหาอาชญากรรมยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น
- ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศก็มีข่าวเกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่างต่อเนื่อง ในฟากฝั่งคนในรัฐบาล ทั้งเรื่องการซื้อไมค์ราคาแพงใช้ในห้องประชุม ครม., อุทยานราชภักดิ์, การจัดซื้อเรือดำน้ำ, ข่าวการทุจริตในโครงการ 9101, การทุจริตใน อผศ., การอนุญาตให้เอกชนใช้พื้นป่าโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น เรื่องต่างๆ ดังกล่าว รวมถึงมีกรณีแกนนำ คสช.บางส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่อง GT200 และ เรือเหาะ ก็ไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง บางเรื่องก็ทำให้จบไปแบบง่ายๆ ล่าสุด เรื่องการครอบครองนาฬิการาคาแพงของพลเอกประวิตร ฯ กว่า 25 เรือนที่พลเอกประยุทธ์ ฯ ก็บอกปัดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคือ ใช้อำนาจแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระบางองค์กร แม้ว่าจะมีปัญหาขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม โดยกรรมการบางคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำ คสช. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างกลไกปกป้องพวกพ้องและเครือข่ายของกลุ่มตน ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
- ปัญหาวิกฤตผู้นำ เห็นว่า หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีมีปัญหาวิกฤตศรัทธาที่ไม่สามารถจะนำพาประเทศต่อไปได้ เนื่องจากเป็นผู้ไม่รักษาคำพูดในเรื่องต่างๆ ดังเช่น
- เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2556 ก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวยืนยันว่าทหารจะไม่ปฏิวัติ โดยกล่าวว่า ตนและกองทัพต้องอดทนแล้วหาทางออก หาข้อสรุปที่สงบ สันติ เพื่อยุติปัญหา หากทหารปฏิวัติอีกจะเป็นการแก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆ จะเกิดขึ้นอีก แล้วประเทศไทยจะยืนอยู่ในสังคมโลกได้อย่างไร แต่พลเอกประยุทธ์ก็ทำการรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
- เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เห็นว่า คสช. และรัฐบาล ไม่มีความจริงใจที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อจัดการเลือกตั้ง เริ่มจากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับนายบวรศักดิ์” และถูกคว่ำโดย สปช. อันเป็นหนึ่งในแม่น้ำทั้ง 5 สาย / กำหนดเงื่อนไขและจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลายกร่างยาวนาน แสดงให้เห็นเจตนาของการยืดเวลาเพื่ออยู่ในอำนาจชัดเจน ที่สำคัญ หัวหน้า คสช. เอง ก็ได้ให้สัญญากับประชาชนและนานาชาติว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ได้ผิดคำพูดมาโดยตลอด ล่าสุดให้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่กลับมีการยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การเลือกตั้งจะเลื่อนไป และคงไม่เกิดขึ้นก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรืออาจจะไม่มีในปี 2562 ด้วยซ้ำ การที่มีการเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อหัวหน้า คสช. อย่างรุนแรง
- การจำนนต่อหลักฐานว่าตนเองเป็นนักการเมือง นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา พลเอกประยุทธ์ได้ปฏิเสธมาอย่างต่อเนื่องถึง 9 ครั้งว่า ตนไม่ได้เป็นนักการเมือง ขณะเดียวกันก็โจมตีใส่ร้ายนักการเมืองต่างๆ นานา แต่เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 กลับเพิ่งยอมรับว่าตนเองเป็นนักการเมือง และปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เพื่อหวังกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง
จากข้อเท็จจริงและพฤติกรรมตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น พรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่า คสช. และรัฐบาล และแม่น้ำ 5 สาย เข้าข่ายสมคบคิดกัน เพื่อใช้กลไกทางอำนาจและกลไกตามรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการได้อยู่ในอำนาจต่อไป มีการโกงกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง ผิดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อนานาชาติและประชาชน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ คสช. และรัฐบาลหมดความชอบธรรม และสี่ปีของการยึดอำนาจการปกครอง ได้พิสูจน์ให้คนไทยและสังคมโลกเห็นอีกครั้งแล้วว่า การรัฐประหารโดยล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่อาจแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ในทางตรงกันข้ามกลับจะสร้างปัญหา และผลกระทบต่อประเทศในวงกว้าง ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดของ คสช.ในขณะนี้ คือ การคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
1 กุมภาพันธ์ 2561
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น