วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
“ชวลิต” เตือนเกิดวิกฤติศรัทธา ผู้นำรัฐบาลไม่รักษาสัจจะ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นถึงสภาพการณ์ปัจจุบันของรัฐบาลว่า ได้เกิดวิกฤติศรัทธายังศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาล ทั้งผู้นำรัฐบาล และรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ประการสำคัญ วิกฤติศรัทธานั้นเกิดจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น มิได้มีผู้ใดกลั่นแกล้งแต่อย่างใด ทั้งเป็นความจริงเชิงประจักษ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ว่าไม่เป็นความจริง กล่าวคือ
1. ผู้นำรัฐบาลไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนและชาวโลกในประเด็น เลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง ไปญี่ปุ่นบอกเลือกตั้ง ปี 2559 ไปยูเอ็น บอกเลือกตั้ง ปี 2560 ไปอเมริกาบอกเลือกตั้ง ปี 2561 ปัจจุบันมีแนวโน้มจะเลื่อนเป็นปี 2562 จะเห็นได้ว่าเลื่อนมาตลอด จนอาจกล่าวได้ว่า หากสัญญาอีก ก็จะไม่มีใครเชื่อ จึงอย่าไปต่อว่านักศึกษาที่อยากเลือกตั้ง
2. รัฐมนตรีในคณะรัฐบาล บริภาษกันเองข้ามทวีปด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า "อย่างหนา ตราช้าง" เป็นข่าวฉาวน่าอับอายไปทั่วโลก แต่เมื่อถูกผู้นำรัฐบาลไกล่เกลี่ยเพื่อให้เรื่องจบ รัฐมนตรีผู้บริภาษจึงเอ่ยปากขอโทษ ผลที่ไม่คาดก็คือ ยังนั่งประชุม ครม. ร่วมกันได้ตามปกติอย่างไม่อายประชาชนและชาวโลก
วิกฤติศรัทธาทั้ง 2 ประการดังกล่าว ละเมิดคุณธรรม จริยธรรมของผู้บริหารประเทศ ทั้งเป็นการกระทำด้วยตัวเองทั้งสิ้น มิได้เป็นการกระทำโดยบุคคลอื่น หรือถูกกลั่นแกล้งแต่อย่างใด ซึ่งส่งผลทำลายความเชื่อมั่นประเทศอย่างรุนแรงตามมา
อนึ่ง ปัจจุบันรัฐบาลได้บริหารประเทศมาจะครบ 4 ปี มีปัญหานโยบายสำคัญเชิงประจักษ์ที่น่าอับอายและไม่น่าเกิดขึ้น คือ ปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น ที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด ทั้งๆที่อ้างว่าเข้ามาปราบโกง แม้แต่รัฐธรรมนูญยังตั้งสมญากันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง"
ปรากฏการณ์ที่ฟ้องประชาชนและสั่นสะเทือนต่อนโยบายปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้รายงานผลดัชนีคอรัปชั่นไทย เดือนธันวาคม 2560 พบว่ารุนแรงสุดในรอบ 3 ปี พร้อมทั้งระบุมีเงินใต้โต๊ะที่เอกชนต้องจ่ายเฉียด 200,000 ล้านบาท เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ของมูลค่าโครงการ สร้างความเสียหายต่อ GDP 0.41-1.23% รายงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดังกล่าว สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลลงอย่างสิ้นเชิง
ทั้งหมดทั้งมวลโดยสรุปดังกล่าวข้างต้น เป็นวิกฤติศรัทธาที่เกิดแก่รัฐบาลนี้ ตั้งแต่ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี และการบริหารนโยบายสำคัญของรัฐบาลจนก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาแก่รัฐบาลเอง หากเปรียบรัฐบาลเป็นคน ก็เป็นคนป่วยที่ทำตนเองให้ป่วย ทั้งยังต้องมีภาระแบกของหนัก คือ แบกความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศชาติและประชาชน ยากที่จะทู่ซี้ หรือลากถูลู่ถูกังนำพารัฐนาวาไปได้ ยิ่งปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ยังแก้ไม่ได้ ยิ่งน่าห่วงความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องมาแบกรับ
จึงขอให้ข้อคิดว่า จากสภาพการณ์ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ถึงเวลาที่ผู้นำรัฐบาลและคณะจะเสียสละแสดงสปิริตความรับผิดชอบให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่า ไม่ยึดติดในตำแหน่ง ด้วยการคืนอำนาจแก่ประชาชน เฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศของเรายังมีงานสำคัญรออยู่ ควรได้รัฐบาลจากประชาชนที่จะส่งเสริมให้ประเทศมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ในฐานะคนไทยคนหนึ่งอยากเห็นสปิริตด้วยการได้ยินคำว่า "ผมพอแล้ว"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น