ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย เผยแพร่คำแถลง เรื่อง หยุดละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และคุกคามประชาชนที่เห็นต่าง โดยมีเนื้อหาดังนี้
คำแถลงพรรคเพื่อไทย
เรื่อง ให้ คสช.และรัฐบาล ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำประเทศกลับสู่ความเป็นปกติสุข
พรรคเพื่อไทยได้ติดตามสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ ตั้งแต่มีการยึดอำนาจโดย คสช. เมื่อปี 2557 ด้วยความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา และผู้มีอำนาจกลับไม่ตระหนัก และไม่ตั้งใจที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะท่าทีของรัฐบาลและ คสช. ที่ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง พรรคฯ จึงขอแถลงดังต่อไปนี้
1. การรัฐประหาร เมื่อปี 2557 คือ ต้นธารของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คสช. ได้ออกประกาศและคำสั่ง และมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ประกาศให้มีการจับกุมคุมขังโดยไม่ต้องมีหมาย การห้ามชุมนุมทางการเมือง การห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การนำสื่อมวลชน นักการเมืองและผู้เห็นต่างควบคุมตัวในค่ายทหาร การปิดรายการโทรทัศน์ อีกทั้งยังมีการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการใช้กฎหมายปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช. อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาเกี่ยวกับความมั่นคง ที่รุนแรงเกินจริงตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญากับนักการเมือง สื่อมวลชนที่เห็นต่างดังเช่นที่กระทำกับนักศึกษาและประชาชนกลุ่ม “We walk” และกลุ่ม “MBK 39” ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาความเดือดร้อน และจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิโดยชอบธรรม และเป็นการทวงสัญญาที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ แต่ไม่ทำตามหลายครั้ง
2. การประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ มิได้ช่วยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนยุติลง แต่กลับทำให้ได้เห็นความย้อนแย้งในพฤติกรรมของ คสช.และรัฐบาลอย่างชัดแจ้ง ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยนั้นถูกจับตามองจากมิตรประเทศ เช่น สหภาพยุโรปที่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการละเมิด และคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง รวมทั้งสิทธิของคนไทยที่จะได้เลือกตั้งผู้แทนมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ จนตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่เจรจาและลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นหลายองค์กรได้ลดระดับของไทยในเรื่องเสรีภาพ เช่น ฟรีด้อมเฮาส์ ที่จัดลำดับไทยต่ำกว่าสหภาพพม่า ทำให้เกียรติภูมิของประเทศเสียหาย
พรรคเพื่อไทย เห็นว่า แม้รัฐบาลจะประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่ทำไปเพียงที่จะลดแรงกดดันจากต่างประเทศ และเป็นความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงอยู่ตลอดมานับแต่การรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน แม้แต่พลเอกประยุทธ์ ฯ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่กล่าวในวันสิทธิมนุษยชนสากลที่ผ่านมา ก็ยังไม่เข้าใจและตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริง เช่นที่กล่าวว่ามีการไปดึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมาย หรือไม่ต้องการให้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือที่กล่าวว่าอย่าเอาสิทธิมนุษยชนไปล้มทุกอย่าง คำกล่าวเหล่านี้สะท้อนความไม่เข้าใจของผู้นำถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศที่มีอยู่ เนื่องจากกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนมิใช่เรื่องเดียวกัน เช่น คำสั่ง คสช. ที่ห้ามประชาชนชุมนุมเกิน 5 คนนั้น แม้เป็นกฎหมาย แต่ก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองในตัวของมันเอง ขัดต่อทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นการยากที่จะทำให้นโยบายการนำสิทธิมนุษยชนมาเป็นวาระแห่งชาติ โดยการเอาสิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ให้สำเร็จตามที่มีการปฏิบัติการไอโอ ชวนเชื่อ
3. พรรคฯ เรียกร้องให้ คสช. และรัฐบาล ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยพลัน โดย...
3.1 ยกเลิกประกาศและคำสั่งที่เป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน , ประกาศ คสช. ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังโดยไม่ต้องมีหมาย, ประกาศ คสช. ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น
3.2 ยุติการดำเนินคดีกับพี่น้องนักศึกษาและประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในนามกลุ่ม “We walk” และในนามกลุ่ม “MBK 39”
3.3 ยุติการใช้กฎหมายปิดปาก และยุติการดำเนินคดีกับสื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนที่เห็นต่าง และตรวจสอบ และวิจารณ์การทำงานของ คสช. และรัฐบาล และเปิดพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างจริงจัง
พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้ คสช. และรัฐบาล หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน หยุดคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง ปรับทัศนคติของ คสช. และรัฐบาลให้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เกิดเป็นผลขึ้นจริงในทางปฏิบัติ มิใช่เป็นเพียงวาทกรรมที่ว่างเปล่าเท่านั้น พรรคฯ เห็นว่าความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติ และการนำประเทศกลับคืนสู่ความเป็นปกติสุข มิอาจเกิดขึ้นได้เลย ถ้าปราศจากการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
พรรคเพื่อไทย
14 กุมภาพันธ์ 2561
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น