วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

"เพื่อไทย" แนะสังคมจับตา รัฐใช้งบโครงการไทยนิยมยั่งยืน


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ตรวจสอบที่มาของงบประมาณโครงการไทยนิยมยั่งยืนแล้ว เป็นงบประมาณเพิ่มเติมปี 2561 โดยแหล่งที่มาของงบ เป็นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท เป็นเงินจากภาษีประชาชน 50,000 ล้านบาท ซึ่งต้องไปจ่ายชดใช้เงินคงคลัง 50,000 ล้านบาท ใช้ในโครงการไทยนิยมจริงๆ ถึง 100,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงควรใช้อย่างประหยัด โปร่งใส มีผลตอบแทนคุ้มค่ากับเม็ดเงิน แต่การณ์กลับตรงข้าม ไม่ได้ใช้งบอย่างประหยัด และคุ้มค่ากับเม็ดเงิน นอกจากนั้น วิธีการจัดทำโครงการยังสุ่มเสี่ยงกับการทุจริต คอรัปชั่นได้ง่าย ส่อไร้วินัยการเงินการคลัง ซึ่งจะชี้ให้เห็นเป็นข้อๆได้ ดังนี้
       
1. โครงสร้างทีมขับเคลื่อนมีมากถึง 7,663 ทีม ไม่นับข้าราชการจากส่วนกลาง และฝ่ายบริหารที่จะลงไปตรวจเยี่ยม เข้าลักษณะขี่ช้างจับตั๊กแตน เฉพาะค่าอาหาร 2,000 ล้านบาท ไม่นับค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะอีกมหาศาล
       
2. รัฐบาลนี้ประกาศจะปฏิรูปประเทศ แต่ลักษณะการจัดทำโครงการกลับโบราณ ย้อนยุคมาก คือ ตั้งงบไว้ แล้วไปหาโครงการเอาข้างหน้าตามหมู่บ้านที่จะไปเยี่ยมเยียน เพื่อให้ทันกับการใช้งบประมาณตามวงรอบงบประมาณเป็นหลัก ผลประโยชน์คุ้มค่าเป็นรอง ทั้งยังสุ่มเสี่ยงกับการทุจริต คอรัปชั่นได้ง่าย อยากสอบถามว่า ถ้าเป็นเอกชน เป็นธนาคาร มีประชาชนมาขอกู้เงินโดยยังไม่มีโครงการ ยังไม่รู้ว่าโครงการนั้นจะมีผลตอบแทนอย่างไร? คุ้มค่าหรือไม่? ธนาคารจะให้กู้หรือไม่? ในทางตรงข้าม ทีกับพรรคการเมือง รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมยุ่บยั่บ จนแทบจะออกนโยบายมาช่วยเหลือประชาชนได้ยากอย่างยิ่ง ทั้งยังต้องจัดทำรายละเอียดขออนุญาตต่อ กกต. อีกด้วย
       
นายชวลิต กล่าวว่า “ในการคัดเลือกโครงการ เหตุใดไม่บูรณาการด้วยการใช้โครงการในแผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาท้องถิ่น หรือแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์และเรียงลำดับความสำคัญไว้แล้ว ทำไมจะต้องจัดทัพใหญ่โต ตีเกราะเคาะไม้ ให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ จึงอาจกล่าวได้ว่าองคาพยพของทีมขับเคลื่อนที่ใหญ่โต เข้าลักษณะขี่ช้างจับตั๊กแตน การใช้งบสุรุ่ยสุร่าย เข้าลักษณะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และตีปี๊บหาเสียงซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน ที่สำคัญเป็นเงินไปกู้มา เฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งงบยอดรวมไว้ แล้วไปหาโครงการเอาข้างหน้า ตามตำบล หมู่บ้าน เปรียบเสมือนแบล๊งคเช็คไว้ แล้วไปเติมเงิน เติมโครงการเอาข้างหน้าดังกล่าวข้างต้น นับเป็นการใช้งบประมาณอย่างไร้วินัย การเงิน การคลัง สุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทบทวนการจัดทำโครงการให้รอบคอบ เริ่มตั้งแต่งบค่าอาหาร 2,000 ล้านบาท ส่อผิดวัตถุประสงค์โครงการหรือไม่? หรือมีในวัตถุประสงค์โครงการหรือไม่? นอกจากนี้องค์กรในการตรวจสอบ ได้แก่ สตง. ควรให้คำแนะนำในการใช้งบประมาณให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัดต่อไป”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น