วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561
"เพื่อไทย" ชี้ปัจจัยความเชื่อมั่นลด "รัฐทุจริต-เลื่อนเลือกตั้ง-เศรษฐกิจแย่"
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การให้ข่าวเรื่องการทุจริต คอรัปชั่น อย่างมากในขณะนี้จะส่งผลให้นักลงทุนหนีหมด นั้น
นายชวลิต กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ "ความเชื่อมั่น" ถดถอยนั้น มีหลายปัจจัย และเป็นประเด็นในรัฐบาลนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. "การทุจริต คอรัปชั่น" ต้องยอมรับความจริงกันว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาตามระบอบประชาธิปไตยตรวจสอบไม่ได้ หรือตรวจสอบได้ยาก เห็นได้จากเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา สนช.ไม่เคยตรวจสอบรัฐบาลเลย ล่าสุดงบประมาณเพิ่มเติมปี 61 ก็ผ่าน 3 วาระรวดในเวลาอันรวดเร็ว
นอกจากนี้การตรวจสอบการทุจริตในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารในรัฐบาลนี้ไม่มีความคืบหน้า เช่น โครงการขุดลอกคู คลองของ อผศ.,การตรวจสอบปมนาฬิกาหรู,โครงการจัดซื้อเรือเหาะ, โครงการ GT 200 ไม้ล้างป่าช้าลวงโลก และกรณีหัวหน้าหน่วยนำงบหลวงโอนเข้าบัญชีคนใกล้ชิด เป็นต้น
2. "การเลื่อนการเลือกตั้ง" หลายครั้ง จนประชาชนและชาวโลกไม่เชื่อถือคำพูด
3. "เศรษฐกิจฐานรากย่ำแย่" แม้จะทุ่มเทงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล ที่สำคัญในห้วงเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตั้งงบขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ เกือบ 2 ล้านล้านบาท แต่ผลลัพท์ที่กลับมาปรากฎว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งห่างมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากย่ำแย่
4. "การเมือง การปกครองไม่ปกติ" โดยใช้เวลาในระยะเปลี่ยนผ่านนานเกินเหตุ ตลอดจนใช้อำนาจพิเศษจนความเชื่อมั่นถดถอย
ในปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้ความเชื่อมั่นถดถอย นั้น ตนเห็นว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ "การเมือง การปกครองที่ไม่ปกติ"
ตัวอย่างที่กระทบความเชื่อมั่นรุนแรงสูงสุด คือ หลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ เมื่อ 6 เม.ย. 2560 มีการใช้ ม.44 ทำให้ พรป. พรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่สามารถเดินหน้าไปได้ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายดังกล่าวผ่านกระบวนการจนประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ล่าสุดมีการใช้ ม.44 กับ กกต.ท่านหนึ่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้รับการวิพากษ์ วิจารณ์จากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย พรรคการเมือง และประชาชนทั่วไป เพราะ กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้รับการสรรหามาตามรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการถูกต้องจนนำขึ้นทูลเกล้า ฯ และได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา การใช้อำนาจบริหารตาม ม.44 กับองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้ง จึงได้รับการวิพากษ์ วิจารณ์อย่างมากว่า การบริหารจัดการเลือกตั้งจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนและชาวโลกได้อย่างไรเมื่อรัฐบาลและ คสช.สามารถแทรกแซงองค์กรอิสระได้ หากเห็นว่าบุคคลในองค์กรอิสระกระทำผิดกฎหมาย หรือผิดจรรยาบรรณ ก็มีกระบวนการในการตรวจสอบได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว
นอกจากนี้ จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า องค์กรอิสระอื่น ๆ เช่น ปปช. จะไม่ถูกรัฐบาลหรือ คสช. แทรกแซง เพราะมีตัวอย่างให้เห็นจากการใช้ ม.44 ให้ กกต.หยุดปฏิบัติหน้าที่
นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้นโดยสังเขป คือ ความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อระบบการเมือง การปกครอง ที่ไม่ปกติ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการกระทำของภาคส่วนอื่นเลย
อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่เห็นว่าจะหาทางออกจากความไม่ปกติดังกล่าวได้อย่างไร เพราะยังมีการใช้ ม.44 เข้ามาแก้ไขกระบวนการปกติที่มีกฎหมายปกติบังคับใช้อยู่ นอกจากเกิดปรากฎการณ์ฟ้าผ่าโดยฝนไม่ได้ตั้งเค้าทำให้ คสช.และรัฐบาล คืนอำนาจให้กับประชาชน ลำพังถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปเช่นนี้ประชาชนจะลำบากจนทุกข์เข็ญและประเทศชาติจะขาดความเชื่อมั่นไปเรื่อย ๆ จนติดลบ ซึ่งตนคิดว่าวิญญูชนทั่วไปหวังที่จะเห็นประเทศไทยกลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น