วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561

“จาตุรนต์” ห่วงปัญหาแรงงานต่างด้าว แนะต้องรื้อทั้งระบบ


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"ปัญหาแรงงานต่างด้าว ต้องรื้อทั้งระบบ"                                     

ผมเคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าวมาบ้างแล้ว และก็ยังติดตามเรื่องนี้อยู่บ้าง 2-3 วันมานี้เห็นเรื่องแรงงานต่างด้าวเป็นข่าวขึ้นมาอีก ก็อยากจะแสดงความเห็นอีกสักหน่อย แต่ก่อนอื่นจะขอเริ่มด้วยการเล่าประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟังหรือได้พบเห็นเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าวสักหน่อย

ร้านอาหารร้านหนึ่งในแปดริ้ว เป็นร้านขายดี เพราะคนชอบรสชาติและราคาไม่แพง สะดวกและค่อนข้างเร็วดี เมื่อประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้ เจ้าของร้านมีธุระต้องหยุดพัก พอดีกับลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวขอลากลับบ้าน ผมลองสอบถามว่าจะเปิดร้านอีกเมื่อไหร่ ทีแรกก็ตอบว่า 1 เดือน เมื่อเร็วๆนี้ถามใหม่ เขาบอกว่าคงต้องอีกอย่างน้อย 2 เดือนและไม่แน่ด้วยว่าจะเปิดร้านได้ เพราะลูกจ้างชุดเดิมนั้นคงไม่กลับมาแล้ว จะหาลูกจ้างใหม่ก็หาไม่ได้

ผมคุยกับนักธุรกิจในกรุงเทพคนหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เขาย้ายโรงงานของเขาไปอยู่แถวชายแดนในจังหวัดกาญจนบุรีมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะสะดวกในเรื่องแรงงานต่างด้าว ส่วนกิจการในกรุงเทพนั้นเหลือเพียงกิจการเล็กๆ มีแรงงานต่างด้าวอยู่ 3-4 คน ซึ่งหายากมาก จะต่ออายุแต่ละครั้งก็ยุ่งยากและสิ้นเปลืองมาก

คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ที่จ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานบ้าน เขาจัดการขออนุญาตให้แม่บ้านด้วยตนเอง เขาบอกว่าต้องใช้เวลานานและยุ่งยากมาก ใช้ค่าใช้จ่ายไปประมาณ 20,000 บาทโดยไม่เกี่ยวกับค่าจ้าง เวลานี้จะต้องทำเรื่องต่ออายุ เขาตัดเสินใจเลือกให้เอเย่นต์เป็นคนทำให้ มีค่าบริการที่จ่ายให้เอเย่นต์ 8,500 บาท ไม่นับค่าใช้จ่ายอื่น

เพื่อนอีกคนมีกิจการก่อสร้าง เล่าให้ฟังว่า เวลาจ้างแรงงานต่างด้าว ต้องทำผ่านเอเย่นต์ จ้างมาเป็นชุด เวลาครบอายุก็ไปเป็นชุด เอเย่นต์ก็บอกว่าต้องหาชุดใหม่ ก็เลยต้องเริ่มใหม่หมดเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าต่ออายุ แต่ไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องสุดแล้วแต่เอเย่นต์ จะหาเองก็ยุ่งยากถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย พลาดขึ้นมาก็จะถูกลงโทษร้ายแรง ธุรกิจคงล้มไปเลย

สองวันก่อน เห็นข่าวกรมการจัดหางานกำลังเร่งให้นายจ้างมาทำทะเบียนประวัติ-ขอใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวกัมพูชา-เมียนมา-ลาวให้แล้วเสร็จ ภายใน 31 มี..นี้ โดยมั่นใจว่าจะไม่ขยายเวลาแล้ว มีการชี้แจงด้วยว่าหากไม่มาดำเนินการ  แรงงานต่างด้าวจะมีความผิดตาม ...บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ..2560 ทำงาน โดยไม่มีใบอนุญาต โทษปรับ 5,000-50,000 บาท ส่วนนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน 

หากพบว่า ทำผิดซ้ำอีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี 

ยังมีการชี้แจงด้วยว่า หลังจากเปิดดำเนินการทั่วประเทศมาตั้งแต่วันที่ 5 ..2561 ในกลุ่มประมงทะเล แปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง และกลุ่มบัตรสีชมพู มียอดมาดำเนินการกว่า 5 แสนคน แต่ตอนนี้ยังเหลือ 1.1 ล้านคน (อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1232032)

วันนี้วันที่ 30 มีนาคมและเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของเดือนนี้แล้ว อย่างไรเสียก็คงทำไม่ทันแน่ๆ จึงน่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียน-ขออนุญาตไม่ทัน

ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นกับการอาศัยแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ซึ่งมีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วอย่างลุกลี้ลุกลนและสับสนอลหม่านมาตลอด เริ่มจากการออก  ... ซึ่งเป็นการออกกฎหมายอย่างเร่งด่วน ประกาศแล้วก็มีผลบังคับใช้ได้เลย ซึ่งน่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้ามาอย่างดีแล้ว แต่ก็เปล่า พอประกาศ ...ออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ไปหมด จนต้องมีการใช้คำสั่งคสช.ออกมาแก้พ...ในทางผ่อนผันกฎระเบียบมาครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมาก็มีการแก้ไขอีก แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังพบปัญหาของระบบที่ใช้ดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างมากมาตลอด 

ผมเคยเสนอความเห็นไว้แล้วว่า ระบบที่ใช้ในการดูแลแรงงานต่างด้าว ตามที่ได้มีการออกพ... มานั้นเป็นระบบที่มุ่งหากินเอากับแรงงานต่างด้าวและสร้างปัญหาแก่นายจ้างมากกว่าที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการอาศัยแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นธรรมกับเขา และจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหรือเศรษฐกิจของประเทศ หรือแม้แต่การช่วยแก้ปัญหาของครัวเรือนต่างๆ ระบบนี้ให้อำนาจกรมการจัดหางานอย่างล้นเหลือและเน้นบทบาทของบริษัทจัดหางานที่ทั้งสองส่วนนี้จะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันในการหาประโยชน์จากการจ้างแรงงานต่างด้าว ประโยชน์ที่ได้นี้ โดยหลักๆจะตกกับ 3 ฝ่าย คือ รัฐ บริษัทจัดหางานและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจ

พูดอีกแบบ ก็คือ แทนที่จะวางระบบในการดูแลแรงงานต่างด้าวให้ธุรกิจเดินได้ เศรษฐกิจเติบโตและทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม แต่กลับทำกันเสียจนเดือดร้อนไปตามๆกัน ธุรกิจก็เดินไม่ได้และเศรษฐกิจของประเทศก็เสียหาย หยุดชะงัก

เมื่อระบบถูกวางไว้อย่างนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะพบปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้า และค่าใช้จ่ายที่สูง สิ้นเปลือง กับสภาพที่แรงงานต่างด้าวทยอยกลับประเทศของตนระลอกแล้วระลอกเล่า ทั้งๆที่ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนและมีความจำเป็นต่องอาศัยแรงงานต่างด้าวอีกมาก

ขณะนี้ ผมไม่มีข้อเสนออะไรในรายละเอียด เพราะเข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องรื้อใหม่ทั้งระบบครับ


_________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น