วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561
"จาตุรนต์" แนะรัฐวางแผนรับโครงสร้างสังคมผู้สูงวัย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
สังคมผู้สูงอายุ
เห็นข่าวกระทรวงการคลังพูดเรื่องสังคมสูงวัย มีข้อมูลว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ตามคำนิยามของสหประชาชาติ คือจะมีผู้สูงอายุ(อายุ 60 ปีขึ้นไป) ถึงร้อยละ 20 ของประชากร
ผมเห็น chart ของสศค. นำเสนอภาพเพื่อให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วอย่างไร ในด้านล่างของ chart ปรากฏข้อความว่า “ดังนั้น โจทย์คือ เพิ่มสวัสดิการสังคมดูแลผู้สูงอายุ”
เห็น chart นี้แล้วทำให้ผมคิดต่อว่า ก็ใช่นะ แต่เรามีโจทย์แค่นี้จริงหรือ เราต้องเพิ่มสวัสดิการสังคมดูแลผู้สูงอายุแน่ แต่เราจะเอาทรัพยากรมาจากไหน ใน chart นั้นเองก็แสดงให้เห็นอยู่ว่า ประชากรวัยทำงานก็กำลังลดลงเรื่อยๆ แล้วใครจะทำงานทำการผลิตเพื่อให้มีสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ถ้าแรงงานเรามีน้อยลง เราจะเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการผลิตได้อย่างไร เศรษฐกิจของไทยเราจะเพิ่ม productivity ให้สูงขึ้นได้อย่างไร แม้แต่การดูแลผู้สูงอายุ เรามี know how ดีพอหรือยัง คิดระบบ เตรียมคนหรือยัง
นอกจากนั้นก็ยังมีโจทย์ว่า จะให้ผู้สูงอายุช่วยตัวเองได้มากขึ้นดีขึ้นได้อย่างไรด้วย ประเด็นหลังนี้ พูดแล้วคงไม่มีใครว่าผมไม่เห็นใจผู้สูงอายุ เพราะผมเองก็เข้าตามนิยามว่าเป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่แนวความคิดสมัยใหม่ส่วนใหญ่เขาก็ส่งเสริมให้คนสูงอายุได้ช่วยตัวเองและช่วยสังคมกันทั้งนั้นแล้วด้วย
การเข้าสู่สังคมสูงวัยยังหมายถึงโครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยนไป ควบคู่กับการมีผู้สูงอายุจำนวนมาก คือ มีคนวัยทำงานน้อยและมีเด็กและเยาวชนหรือคนในวัยเรียนจำนวนน้อย ถ้าคนวัยทำงานน้อย เราจะมีนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติอย่างไร จะสร้างอุปสรรคมากมายแก่การจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างที่เป็นอยู่ไปเรื่อยหรือไม่ การมีนักเรียนและนักศึกษาน้อยลงอย่างฮวบฮาบจนทำให้โรงเรียนจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาและกำลังเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่ในขณะนี้ เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับสังคมสูงวัยทั้งสิ้น
ความจริง การที่สังคมไทยกำลังจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาคและกำลังเร็วทำลายสถิติประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆประเทศด้วยนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก การยกเรื่องนี้ขึ้นมาบ่อยๆจึงเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ สังคมไทยยังขาดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้อยู่มาก ที่สำคัญยังไม่มีแผนรองรับที่เป็นระบบ ทั้งที่กำลังจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่หลวง
การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ถอยหลังย้อนเวลาไม่ได้ เมื่อถึงเวลานั้นสังคมอยู่ในสภาพอย่างไร มีความพร้อมรับมือได้แค่ไหน ก็จะเป็นอย่างนั้น แก้อะไรได้ไม่ง่าย เช่น จะเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของคนวัยทำงานทั้งหลาย จะไปทำปุบปับตอนนั้นก็ย่อมไม่ได้ และก็คงแก้ปัญหากันอย่างทุลักทุเลเต็มที สิ่งที่ต้องทำจึงได้แก่ การเตรียมการวางแผนล่วงหน้าและรีบลงมือทำตามแผนกันแต่เนิ่นๆ
ผมมีโอกาสฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้จริงจังมาบ้าง คงจะต้องพูดถึงเรื่องนี้กันอีกครับ ใครมีความเห็นยังไงก็เชิญนะครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น