วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

"ทนายวันชัย" ชี้ ต้องไม่เลือกปฏิบัติคดีฟอกเงินกรุงไทย


วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 น. นายวันชัย บุญนาค นักวิชาการด้านกฎหมาย เดินทางมายื่นหนังสือต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อเรียกร้องให้กล่าวโทษดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับบุคคลต้นทางหรือต้นเหตุที่ทำให้เกิดการฟอกเงินจากการนำสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยไปชำระหนี้ให้กับธนาคารกรุงเทพ ของกลุ่มกฤษดานคร

1. เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดแจ้งและเป็นข้อยุติแล้วในคดีอาญาที่ศาลฎีกาตัดสินคดีการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกฤษดานคร คือ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียลพาร์ค จำกัด กับพวก ช่วงระหว่างกลางปี 2546 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2546 วงเงินให้กู้ 500 ล้านบาท 1,400 ล้านบาท และ 8,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของวงเงิน 8,000 ล้านบาทนั้นเป็นวงเงินที่ให้กู้เพื่อนำไปใช้หนี้คืน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม และศาลฎีกาได้พิพากษาแล้ว ในคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ว่าจำเลยในคดีดังกล่าวกระทำความผิดและคดีถึงที่สุดแล้ว และยุติแล้วว่านำเงินกู้ที่ได้ไปใช้ผิดประเภทในการขอกู้เงิน และในคดีดังกล่าวเป็นคดีมูลฐานความผิดที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงินด้วย และไม่มีกฎหมายใดยกเว้นไว้ว่า บุคคลใดที่เข้าข่ายกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้น หากไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดที่เป็นคดีมูลฐานแล้วจะไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานความผิดฟอกเงิน และข้อเท็จจริงที่ยุติและเป็นความผิดในคดีมูลฐานดังกล่าว มีว่า บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียลพาร์ค จำกัด กับพวก เป็นลูกหนี้เจ้าหนี้เดิมอยู่ เงินต้น 7,848,738,400.00 บาท ดอกเบี้ย 6,499,883,269.90 บาท รวมหนี้ทั้งสิ้น 14,383,621,669.90 บาท แต่เจ้าหนี้เดิม (ธนาคารกรุงเทพ) รับชำระหนี้เพียง 4,500 ล้านบาทเท่านั้น


2. ถ้าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายวิโรจน์ นวลแข , ร้อยโทสุชาย เชาวิศิษฐ์ , นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา , นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน ทั้ง 5 คนร่วมกันอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งถ้าคนใดคนหนึ่งไม่อนุมัติสินเชื่อก็จะไม่สามารถให้กู้ได้เลย และจะไม่มีเงินจำนวน 8,000 ล้านบาทที่อ้างว่าออกจาก ธนาคารกรุงไทย ไปเพื่อชำระหนี้คืน ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งผลสรุปต่อมาว่าเป็นเงินที่ถูกนำไปฟอก


3. เพราะในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 เจ้าหนี้เดิม คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยนายเดชา ตุลานันท์ ทำหนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยระบุว่าถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นเงิน 4,500 ล้านบาท และถ้าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมไม่เอาเงินทั้ง 8,000 ล้านบาทชำระหนี้ทั้งหมด  จึงทำให้กลุ่มกฤษดานคร และบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียลพาร์ค จำกัด กับพวก มีเงินเหลือจากการกู้ตามคดีมูลฐานที่ศาลฎีกาตัดสินว่าผิดกฎหมายไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ขอกู้เพื่อไปชำระหนี้คืนเจ้าหนี้เดิม


ธนาคารกรุงเทพ เจ้าหนี้เดิม โดยนายเดชา ตุลานันท์ นั่นเองเป็นผู้ทำให้ ลูกหนี้ได้เงินกว่า 3,300 ล้านบาท ไปใช้ผิดประเภทอันเป็นการเข้าข่ายผิดฐานฟอกเงิน และเงิน 3,300 กว่าล้านบาทนี้กระจายไปยังหลายคนจำนวนมากเป็นร้อยๆคน แต่กลับปรากฏว่า ปปง.เลือกดำเนินคดีเลือกร้องทุกข์เพียงบางรายเท่านั้น และดำเนินคดีฟอกเงินในส่วนทางแพ่ง และทางอาญา เพียงบางรายเท่านั้น เมื่อใกล้จะขาดอายุความ ในเดือน ธันวาคม 2561 เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน จึงขอกล่าวโทษต่อ DSI ให้ดำเนินคดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น