"หน้าที่ของกองทัพคือ "การเตรียมกำลังและใช้กำลังเพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อราชอาณาจักร" ซึ่งสอดคล้องกับชื่อภาษาอังกฤษของกระทรวงกลาโหมคือ "Ministry of Defense" อันหมายถึงการป้องกัน แต่ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารกระทรวงกลาโหมจะถูกขยายอำนาจ จนล่าสุดถึงขั้นมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติทั้งที่มีหน่วยงานอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว เพื่อเป็นข้ออ้างในการเพิ่มงบประมาณและขยายกำลังพล
ปัจจุบันกองทัพมีกำลังประจำการประมาณ 335,000 นาย เมื่อรวมกับทหารเกณฑ์ปีนี้ที่สูงกว่า 100,000 นาย ทำให้มีกำลังประจำการมากถึง 440,000 นาย ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับมหาอำนาจที่มีขนาดและประชากรใกล้เคียงกัน เช่น กำลังประจำการของสหราชอาณาจักร 150,000 คน ฝรั่งเศส 215,000 คน หรือเยอรมัน 180,000 คน ยิ่งเมื่อคำนึงถึงหน้าที่ของกองทัพคือการ "ป้องกัน" ไม่ใช่ "รุกราน" รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศที่ตั้งอยู่ท่ามกลางมิตรประเทศได้แก่ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมาร์ ซึ่งรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวคือ "ประชาคมอาเซียน" ดังนั้น การมีกำลังพลจำนวนมากจึงเกินความจำเป็นและเป็นภาระแก่งบประมาณ
นับจากการรัฐประหารในปี 2549 งบประมาณกระทรวงกลาโหมถูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 85,000 ล้านบาท ในปี 2549 เพิ่มเป็น 227,000 ล้านบาทในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นถึง 167% งบประมาณจำนวนมากหมดไปกับการเพิ่มกำลังพลและการซื้ออาวุธที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจและภัยคุกคาม เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำที่ยังไม่จำเป็นแต่กลับซื้อมาถึง 3 ลำ ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนหลังการเลือกตั้งคือการปฏิรูปกองทัพให้มีขนาดที่เหมาะสม มีความทันสมัยและมีขีดความสามารถต่อการป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ให้เป็นกองทัพของประชาชนที่ปฏิบัติหน้าที่ตรงตามภารกิจ ไม่ซ้ำซ้อน และไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนกองทัพกลายเป็นภัยคุกคามเสียเอง"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น