"เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบความจริง และหาทางแก้ไขปัญหาการแต่งงานกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เกิดกระแสความไม่พอใจในประเทศมาเลเซีย หลังข่าวการแต่งงานของเจ้าบ่าวอายุ 41 ปี เข้าพิธีวิวาห์กับเด็กหญิงสัญชาติไทยอายุ 11 ขวบ ตอกย้ำกระแสการฉกฉวยโอกาสและบีบบังคับเยาวชนให้แต่งงานก่อนวัยอันควร ทางด้านนางมารีแอน คลาร์ก ฮัตติงห์ ผู้แทนยูนิเซฟประจำประเทศมาเลเซีย ระบุว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจและรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง ทางยูนิเซฟขอเรียกร้องให้รัฐบาล (มาเลเซีย) รักษาคำมั่นที่เคยให้ไว้ด้วยการกวาดล้างการบีบบังคับให้เด็กผู้หญิงแต่งงาน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวนี้ว่าการแต่งงานก่อนวัยอันควร เป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 26 ซึ่งกล่าวว่าการปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองของตน พร้อมเสนอให้ประเทศไทยออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรทุกกรณี นอกจากนี้ การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะความยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยเฉพาะชายสามีที่เป็นผู้ใหญ่ ย่อมถือว่าได้กระทำผิดต่อเด็กหลายกรณี
สื่ออังกฤษลงบทสัมภาษณ์นักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งที่กล่าวด้วยความกังวลว่าการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของทางการไทยจะทำให้เกิดความชอบธรรมในการใคร่เด็ก (pedophilia) ในระดับโลกมีการศึกษามาแล้วว่าเด็กที่แต่งงานก่อนวัย 18 ปีนั้นจะมีความเสียหายทั้งต่อร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดวงจรความยากจนซ้ำซ้อน เช่น กรณีเด็กในสามจังหวัดชายแดนใต้ มักจะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปแต่งงานและมักจะหย่าร้างพร้อมกับลูกติดมาด้วยในช่วงก่อนที่พวกเธอจะอายุ 18 ปี หนึ่งในสาเหตุของปัญหานี้คือการที่พ่อแม่ของเด็กยากจนมาก มีภาระทางการเงินจนการให้ลูกแต่งงานเป็นทางเลือกที่ดีกว่าจากสถิติของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนไทยก็ระบุว่าในปี 2559 ปีเดียว มีหญิงวัยรุ่นคลอดลูกจากการแต่งงาน 1,100 กรณีในโรงพยาบาลของรัฐที่นราธิวาส ยังไม่รวมตัวเลขจังหวัดอื่นและคนที่คลอดในสถานที่อื่นๆ
สื่อต่างประเทศยังรายงานอีกว่าสังคมมุสลิมในที่อื่นๆ นอกจากไทยก็เริ่มทำให้การแต่งงานกับเด็กกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เช่น แอลจีเรีย โอมาน บังกลาเทศ ปากีสถาน อียิปต์ โมร็อกโก และตุรกี พวกเขากำกับให้การแต่งงานทำได้เมื่ออายุขั้นต่ำ 18 ปี เท่านั้น และเมื่อไม่นานนี้อินโดนีเซียก็เตรียมออกกฤษฎีกาพิเศษของประธานาธิบดีเพื่อปิดช่องโหว่กฎหมายซึ่งทำให้เกิดการแต่งงานกับเด็กได้
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่สื่อต่างประเทศนำมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ในเรื่องนี้ ทางรัฐบาลไทยไม่ควรนิ่งเฉย เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อสิทธิเด็กโดยตรง ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาปรึกษาหารือกันถึงต้นเหตุของปัญหาและการแก้ปัญหา ซึ่งในเบื้องต้นนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องความยากจน และความไม่เข้าใจถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของเด็กผู้หญิงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากการแต่งงานและมีบุตรก่อนวัยอันควร ซึ่งในหลักการมนุษยธรรม มนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและปลอดภัย กฎเกณท์ ความเชื่อ หรือกฎหมายใด ที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้คนในสังคม ย่อมสามารถแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้นได้ วันนี้ยังไม่สายเกินแก้สำหรับประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องรักษาภาพพจน์ ชื่อเสียง เกียรติภูมิ ความดีงามของประเทศไทยและของคนไทยทุกคน อย่าให้เรื่องที่สื่อต่างประเทศนำไปตีแผ่นี้ ทำลายคุณค่า ศักดิ์ศรีและความเหมาะสมที่ นิตยสาร Conde Nast Traveller ได้จัดอันดับคนไทยเป็นประชาชนที่ดีที่สุดในโลก หรือ The best people in the world นอกจากนี้ยังติด Top 3 ประเทศที่น่าเที่ยวหรือ Best Country โดยอันดับที่ 1.อิตาลี อันดับที่ 2.กรีซ อันดับที่ 3.ประเทศไทย"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น