วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

"จาตุรนต์ ฉายแสง" - อนาคตประเทศไทย: ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง?


ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการอภิปรายเสวนาในหัวข้อ "อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง" จัดโดย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน โดยมี นายจตุพร พรหมพันธุ์  แกนนำ นปช. น.พ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ นายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกกลุ่มยังบลัดพรรคชาติไทยพัฒนา นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันเสวนา

โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง" ตอนหนึ่งว่า ข้อจำกัดในวันนี้ ไม่ให้พรรคการเมืองทำนโยบาย มีการใช้อำนาจ กฎหมายไม่ให้ประชาชนมีสิทธิแสดงความเห็น มีความพยายามให้การหาเสียงใช้เวลาน้อยที่สุด ซึ่งต่างเป็นการทำลายความหมายการเลือกตั้ง ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจเคยพูดว่า ต้องปฏิรูปการเมือง เปลี่ยนระบบเลือกตั้งในครั้งก่อนเสียก่อน ปฏิรูปประเทศก่อน แต่เมื่อทำทั้งหมดแล้ว กลับมาบอกว่า จะไม่ขอใช้แบบนั้นแล้ว ก็เป็นเรื่องแปลก คงไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นความจงใจมาตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญ เป็นแผนเดียวกัน"


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งก็ได้แค่นี้ พรรคการเมือง ก็ไม่มีนโยบายอะไรเด่นๆ ทำให้วนกลับมาที่ผู้นำ คสช. แล้วบีบให้นักการเมืองเลือก จะเอานายกฯ คนนี้ไหม ถ้าไม่เอา อาจยุบสภาฯ ประเทศวุ่นวาย เกิดสุญญากาศ ประเทศวุ่นวาย ทำให้รัฐสภาฯ มีเสียงเกินครึ่งหนึ่งแล้วบริหารประเทศได้ สิ่งที่สำคัญคือ เขาต้องรวบพรรคการเมือง นักการเมืองให้ได้เสียงเกินครึ่ง จากนั้นผู้นำรัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก รวมถึงเสียง ส.ว.อีก 250 คน ทำให้การที่เขียนกติกา เขียนรัฐธรรมนูญมานั้นประสบความสำเร็จ แล้วก็บริหารประเทศไปยาวๆ

"พรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจจาก คสช. คนนอกมาเป็นนายกฯ ความหมายนี้ รวมไปถึงจะมาเป็น 1 ใน 3 บัญชีรายชื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง เราไม่สนับสนุน หากผู้นำ คสช. จะมาตั้งรัฐบาล และไม่ว่า จะอยู่ในรอบแรก หรือรอบ 2 ที่ใช้เสียง 500 คน อยู่ในญัตติ แม้ผู้นำ คสช.ตั้งรัฐบาลได้ เราก็จะเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย เปิดโอกาสเป็นพันธมิตรพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ถ้าผู้นำ คสช.เป็นรัฐบาล เราก็ยินดีร่วมมือกับทุกพรรคที่ไม่รับผู้นำ คสช.พร้อมไปเป็นฝ่ายค้าน" นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เราก็ยอมรับผลประชามติ ในอนาคต หากจะแก้รัฐธรรมนูญ จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ไม่ต้องห่วงว่า เราจะเป็นต้นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย แต่ถ้ามีเงื่อนไข ถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้จะวุ่นวาย เชื่อว่า ไม่วุ่นวาย ใครได้เสียงข้างมากก็ต้องรัฐบาลไป  ถ้าไม่ตรงกับอุดมการณ์เรา ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน หากเป็นรัฐบาลไม่มีฝ่ายค้าน ไม่ถูกต้อง การไปร่วมๆ กันให้มีแต่รัฐบาล ไม่มี เราจะเป็นฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ ตนไม่ได้พูดเอง แม้จะมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จุดยืนไม่ร่วมผู้นำ คสช. สืบทอดอำนาจ จุดยืนก็ยังเป็นเช่นนี้

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า หนทางที่จะทำให้ตันหรือไม่ตัน ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ที่จะไปเป็นเงื่อนไข แต่ถ้าพรรคไหนได้รับเสียงข้างมากเกิน 250 เสียง ได้จัดตั้งรัฐบาล คนในพรรคนั้นได้เป็นนายกฯ แต่สิ่งนี้เป็นหลักการในรัฐธรรมนูญเก่า วันนี้ไม่ใช่แบบนั้น ไม่ว่า ใครจะได้รับเลือกมาที่เท่าไหร่ หากรวบรวมเสียงได้มากกว่า ก็มีสิทธิ์เป็นนายกฯ ปัญหายังอยู่ที่รัฐธรรมนูญต้องแก้


"ถ้าไม่แก้ ประเทศไปต่อยาก แต่ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ เมื่อบ้านเมืองแย่ รัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ ก็เป็นวิกฤต สุดท้ายก็อาจนำไปสู่การฉีกอีก สังคมไทยจะปล่อยไปเรื่อยๆ รอคนมาฉีก หรือจะมาแก้เสียเอง ปัญหาวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครจะมาแก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นความแตกต่างของ 2 ระบบ คสช. ใช้ความคิดตัวเองเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือให้อีกพรรคมาแก้รัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น เป็นทางแพร่ง 2 ทางที่สังคมไทยต้องเลือก ไม่ใช่แค่ใครจะมีเสียงเป็นที่หนึ่งหรือสอง แต่ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญ" นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า  ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยไม่ควรตัดสินใจแต่เนิ่นๆ ที่จะปิดทางในการเปิดทางร่วมมือกับพรรคการเมืองใด แต่พรรคนั้นต้องไม่สนับสนุนผู้นำ คสช. ไม่เอานายกฯ คนนอก ถ้าทั้งพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ร่วมรัฐบาล ยินดีเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน โดยตนยินดีที่จะเป็นวิปฝ่ายค้านร่วมกับนายจุรินทร์ด้วย






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น