วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561
"จาตุรนต์" ยืนยัน "เพื่อไทย" ไม่หวั่นถูกยุบ-เดินหน้าสู่เลือกตั้ง มุ่งสร้างประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (Free, Fair & Fruitful Election : FFFE) จัดกิจกรรมเสวนา “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย” ในวันนี้ (วันที่ 14 ตุลาคม 2561) ณ ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระหว่างเวลา 12.00 - 16.30 น. โดยภายในงานมีการประกาศจุดยืนผ่านแถลงการณ์ร่วมของภาคประชาชนและพรรคการเมือง และการเสวนา โดยแบ่งเป็นภาคประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งมีผู้แทนระดับแกนนำพรรคการเมืองเข้าร่วมทั้งเวทีแถลงการณ์และการเสวนาด้วย โดยมีประชาชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวในงานเสวนา ว่า "เรามีความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบ เพราะว่าเราไม่เห็นข้อเท็จจริงใดๆที่เพียงพอที่จะยุบพรรคเพื่อไทย เมื่อดูจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะยุบพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีคนจำนวนมากเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะถูกยุบ และเขาก็มีเหตุผลเหมือนกัน เพราะพรรคเพื่อไทยสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ซึ่งทั้งสองพรรคนั้น ถูกยุบไปโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ สุดท้ายการสอบสวนทั้งหมดในคดีนี้ไม่พบว่ามีการจ้างอะไรเลย แต่ยุบไปแล้ว พอพรรคพลังประชาชน กรรมการบริหารทั้งชุดถูกเพิกถอนสิทธิ มีผลทำให้ล้มรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ฉะนั้นคนที่เป็นห่วงพรรคเพื่อไทยก็มีเหตุผล เพราะจะหาเหตุอะไรมาก็ได้มายุบ"
นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวต่อว่า "เรื่องที่น่าเป็นห่วงในการเมืองไทย คือ ครั้งที่แล้วคือการสกัดกั้นไม่พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล ทำให้ต้องหาทางล้มแล้วล้มอีก ครั้งนี้ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือการทำให้พรรคการเมืองทั้งหมดและการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีความหมายหรือเป็นช่องทางให้ประชาชนมากำหนดอนาคตของประเทศอีกต่อไป คำถามคือ เรามีการเลือกตั้งเพื่ออะไร เราเลือกตั้งเพื่อกำหนดให้ใครมาบริหารประเทศ และกำหนดว่าจะบริหารประเทศด้วยนโยบายอะไร ซึ่งการเลือกตั้งมีวิธีการดีกว่าอย่างอื่น เพราะไม่ใช่วิธีป่าเถื่อน ทั้งนี้ขอให้พรรคการเมืองร่วมมือกันต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. เป็นห่วงว่าการเลือกตั้งจะถูกทำลายการเลือกตั้งจนไม่สามารถกำหนดอนาคตของประเทศไทยได้ เพราะไม่เสรี ไม่เป็นธรรม และไม่มีผลทางปฏิบัติ การกำหนดนโยบายก็ไม่สามารถสืบสานกับสมาชิกและสอดคล้องกับประชาชนได้ สุดท้ายอาจจะบอกว่า ก็ไม่ต้องทำนโยบายแค่ประกาศว่าทำตามยุทธศาสตร์ชาติก็พอ ขอให้ทุกคนมาร่วมกันผนึกกำลังเรียกร้องให้การเลือกตั้งนี้เสรี เป็นธรรม มีความหมายเช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่มีอารยะทั่วไป"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น