วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

"เรืองไกร" ส่งหนังสือด่วนถึง "ประยุทธ์" ตรวจสอบตัวเลขหนี้สาธารณะ


#TV24 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องหนี้สาธารณะมา 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 27 กันยายน "นายกรัฐมนตรีย้ำฐานะประเทศแข็งแกร่ง หนี้สาธารณะไม่เกิน 42%" และต่อมาเมื่อวันที่ 3 ต.ค. พูดอีกที่ จ.ลำพูน ว่า "ท้องถิ่น คอยดูนะ เรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะอย่าให้ใครมาบิดเบือน เราบริหารอย่างเหมาะสม"

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีหนี้สาธารณะไม่เกิน 42% นั้น ดูข้อมูลการประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0905/9456 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 เรื่อง การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 2 เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี หน้า 8 ข้อ 7. ประมาณการการคลังและพื้นที่การคลังที่เหลือ (Fiscal Space) ในช่วงปีงบประมาณ 2561 – 2570 จะเห็นได้ว่า มีการแสดงกราฟหนี้สาธารณะไว้ 10 ปี สูงกว่า 42 % แทบทุกปี (ปี 2565 สูงสุด 47.8% ปี 2570 ต่ำสุด 41.7%)

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีเรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะ หากไปดูคำเบิกความต่อศาลฎีกานักการเมืองเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ของนางสาวสุภา ปิยะจิตติ หน้า 11 ไว้ส่วนหนึ่งว่า "จากการที่ข้าพเจ้า เบิกความไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. หนี้สาธารณะมีช่องโหว่ ทำให้มีการซ่อนหนี้ดังกล่าวไว้ที่ ธกส." (ยังไม่รวมหนี้ที่อาจซ่อนไว้ทำนองเดียวกันในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธอส. เป็นต้น)

นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อไปดูงบการเงิน ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 จะพบหนี้ 2 ส่วน คือ 1.โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมเป็นเงิน 325,776.78 ล้านบาท และ 2.หนี้สำหรับธุรกรรมนโยบายรัฐ รวมเป็นเงิน 574,401.63 ล้านบาท (หนี้ก้อนนี้ส่วนใหญ่เกิดสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) รวมทั้ง 2 ส่วนจะเป็นยอดเงินจำนวน 900,178.41 ล้านบาท

เมื่อไปดูงบการเงินรายไตรมาส ธนาคารออมสิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 จะพบหนี้สำหรับธุรกรรมนโยบายรัฐ รวมเป็นเงิน 189,233.58 ล้านบาท (หนี้ก้อนนี้ส่วนใหญ่เกิดสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ดังนั้นถ้ารวมตัวเลขภาระหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐของ ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน จะได้ยอดเงิน = 1,089,411.99 ล้านบาท ที่ต้องถามพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ได้นำไปคิดรวมเป็นยอดหนี้สาธารณะ/GDP แล้วหรือไม่? (ถ้าไม่) อาจแสดงว่า ยอดหนี้สาธารณะ/GDP จะต้องสูงกว่า 42% ไปอีกอย่างมีนัยสำคัญ ใช่หรือไม่?

นายเรืองไกร กล่าวว่า หากย้อนไปดูเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 โดยสังเขป ที่เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ สนช. หน้า 108 ระบุว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 มีจำนวนรวม 5,922,895.1 ล้านบาท

โดยมีสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 35.9% และในหมายเหตุระบุว่า เปรียบเทียบกับ GDP ปี 2561 จำนวน 16,457,500 ล้านบาท แต่หนี้สาธารณะตามข้อมูลในเว็บไซต์ www.pdmo.go.th ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 มีทั้งสิ้น 6,441,357.86 ล้านบาท และประมาณการ GDP 15,528,575.67 ล้านบาท อัตราส่วน Debt : GDP = 41.48 %

นายเรืองไกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะอย่าให้ใครมาบิดเบือน หรือตัวเลขหนี้สาธารณะ/GDP ไม่เกิน 42% นั้น ตนตรวจสอบเอกสารต่างๆ ของราชการแล้ว พบว่า ตัวเลขต่างๆ ของส่วนราชการไม่ตรงกัน จึงตั้งข้อสังเกตว่า มีใครบิดเบือนตัวเลขเหล่านั้นหรือซ่อนหนี้หรือไม่? หรือมีใครบิดเบือนหรือไม่? ดังนั้น จึงต้องนำเรื่องนี้ไปให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบต่อไป โดยได้ส่งหนังสือร้องไปทางไปไปรษณีย์ EMS แล้วเช้าวันที่ 4 ตุลาคมนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น