วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“วัฒนรักษ์” เตือนรัฐ สร้างทางเลียบเจ้าพระยา ได้ไม่คุ้มเสีย


...วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ รัฐบาลพยายามผลักดันที่จะก่อสร้างโครงการทางเลียบสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณกว่า 14,000 ล้านบาท  โดยทำเป็นทางคอนกรีตขนาดใหญ่ ยาวเป็น 14 กม. ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และหลักมนุษยธรรม  แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่  จากการที่รัฐบาลทำการศึกษา โดยทำแบบก่อสร้างเพียงแค่ฉบับเดียวนั้น นับว่าขาดการวิเคราะห์และตัดทางเลือกของประชาชนโดยสิ้นเชิง เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเปรียบเสมือนเป็นแม่น้ำสายหลักของคนไทยที่พักอาศัยใน กทม. ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งอยู่อาศัย ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ  และการสัญจรทางน้ำ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างมากมายมหาศาล ดังนั้น การสร้างถนนคร่อมแม่น้ำ จึงเป็นการทำลายเจ้าพระยาทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ โครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่จะขวางทางน้ำ ส่งผลให้ลำน้ำแคบลง  เกิดน้ำท่วมได้ง่าย กระแสน้ำอาจจะเปลี่ยนทิศและไหลเชี่ยวกราก ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางเรือได้ง่าย พร้อมทั้งยังกัดเซาะตลิ่ง และกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวจะพัดพาตะกอนมากมายทำให้แม่น้ำตื้นเขินมากขึ้น  และสุดท้ายจะกลายเป็นที่ดักขยะ ซึ่งทำลายคุณภาพน้ำและระบบนิเวศน์วิทยาส่งผลกระทบกลับมาให้ประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

...วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ประโยชน์ที่ดิน 17 เขต โดยพื้นที่ทั้งหมดแบ่งเป็น พื้นที่ชุมชน 66.81% พื้นที่ราชการ 13.68% พื้นที่โรงงาน 12.75% และยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นอีก อาทิเช่น ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยสถานศึกษา 204 แห่ง โบราณสถาน 57 แห่ง โรงแรม 66 แห่ง แหล่งท่องเที่ยว 84 แห่ง และสวนสาธารณะ 16 แห่ง และยังส่งผลไปถึงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย เช่นกัน โดยมี สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานพยาบาล 318 แห่ง และโบราณสถาน 111 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบในเชิงกว้าง  ดังนั้นรัฐจึงควรที่จะหันมาพัฒนาระบบนิเวศน์วิทยาในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยขยายลุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม และจัดทำนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวบริเวณแม่น้ำเชิงบูรณาการ  พร้อมทั้งควรเปิดเผยข้อมูล ต่อสังคมให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลดีและผลเสีย ที่จะตามมาจากการทำโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพิจารณาและวิเคราะห์อย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วนและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ซึ่งหาก รบ.ดึงดันที่จะใช้งบประมาณจำนวนมากซึ่งมาจากภาษีของประชาชน  จะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น