วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2562
"สุดารัตน์" เตือนประชาธิปไตยไทยต้องสง่างาม-ไม่ใช่ที่ชุบตัวเผด็จการ
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24มีนาคม ที่ผ่านมา คือความหวังของคนไทยที่รักและเชื่อมั่น ในระบอบประชาธิปไตย
เป็นการเลือกตั้งที่คนไทยเกือบทั้งประเทศ รอคอยมานานร่วม 5 ปี
พวกเราตั้งความหวังไว้สูง ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำพา “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ยั่งยืนกลับคืนสู่บ้านเมืองของเราได้
หลังการเลือกตั้ง เราคาดหวังจะมีรัฐบาลพลเรือน ผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นที่ยอมรับต่อประชาคมโลก จึงทำให้เราอดทน ยอมอยู่ภายใต้การปกครองที่เราไม่ต้องการมานานเกือบ 5 ปี
บัดนี้การเลือกตั้งที่เรารอคอย ได้ผ่านพ้นไปกว่า 1เดือนแล้ว คนไทยทุกคนรับรู้และสัมผัสได้ ว่าความพึงพอใจในสิ่งที่เราอดทนรอคอยด้วยความหวังนั้น เราได้ความสุขคืนกลับมามากน้อยแค่ไหน..?
พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้ที่ตัดสินใจกระทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ สถาปนาคสช.ขึ้นมาเป็นองค์กรหลัก แต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กำกับดูแลประเทศชาติให้เดินมาในทิศทางนี้ ได้เคยทบทวนในสิ่งที่ตัวเองกระทำ และประเมินหรือไม่ว่า ประชาชนไทยได้รับความสุขกลับคืนตามที่ คสช.เคยสัญญาไว้ คุ้มค่ากับที่รอคอยมา 5ปีหรือไม่?
การคืนความสุขให้กับคนไทย หัวหน้าคสช.ควรกระทำอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีร่องรอยของเจตนารมณ์อื่นแอบแฝงให้ผิดสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อครหาในเรื่อง “การสืบทอดอำนาจ”
หากพลเอกประยุทธ์ ไม่นำตัวเองลงมาเป็นคู่แข่งขัน หรือเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และดำรงตนในสถานะคนกลางที่ยอมเสียสละ มีความจริงใจในการคืนประชาธิปไตย มีความเป็นกลางที่เที่ยงธรรมโดยไม่ยอมให้มี Conflict of Interest เกิดขึ้น ย่อมจะทำให้เงื่อนไขความไม่เข้าใจ รวมถึงข้อสงสัยในความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ลดลงไปได้มาก
คงไม่มีการแข่งขันแบบ Fair Gameใดๆในโลก ที่การแข่งขันผ่านพ้นไปเดือนกว่าแล้ว รู้คะแนนกันหมดแล้ว แต่ก็ยังสรุปวิธีนับคะแนนไม่ได้ ทั้งคู่แข่งขัน-กองเชียร์-คนดู หรือแม้กระทั่งกรรมการตัดสิน ทุกฝ่ายล้วนมีความงง และสับสนในกติกาที่เขียนไว้อย่างสลับซับซ้อนด้วยกันทั้งสิ้น
โชคดีที่ในความสลับซับซ้อน ยังมีนักวิชาการและพรรคการเมืองหลายพรรค ที่ตีโจทย์วิธีการคำนวณได้แตก และตรงตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญ “ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” จึงสามารถนำมาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ยุ่งยาก ขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้อง ว่าจะหยิบเอามาใช้หรือไม่?
หากจะเลือกวิธีอื่น ที่จะทำให้ขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนไป แต่ก็เสี่ยงกับการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ถือเป็น “ทาง 2 แพร่ง” ด่านสำคัญที่จะพิสูจน์ความ “เป็นกลาง” และจะกำหนดต้นทุนความเชื่อมั่นของสังคม ต่อองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง
ด่านความเชื่อมั่นต่อไป ที่จะตามมาคือ สว.250คน ที่มีหน้าที่อันสำคัญยิ่ง คือการได้สิทธิ์ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีถึง 2สมัย กลับมีกระบวนการคัดเลือกที่เป็นความลับสุดยอด ที่ประชาชนไทยทั้งประเทศรู้แค่เพียง คสช.เป็นผู้เลือกฯ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคัดเลือก ส่วนคณะกรรมการฯ, กระบวนการคัดสรร, ตัวบุคคลที่เป็นแคนดิเดตและข้อมูลอื่น เป็นความลับที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์รับทราบ
สิ่งที่เรารู้อีกอย่างเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.ก็คือ มีการเบิกงบประมาณจากภาษีของประชาชนทุกคน ไปใช้เป็นเงินมากกว่า 1,300 ล้านบาท แต่ประชาชนกลับมีส่วนร่วมแค่เพียงคอยร่วมลุ้นว่า ส.ว.250 คนที่ได้รับการคัดเลือกแบบลับๆมา จะมีสัก1คนหรือไม่? ที่จะกล้าแสดงความคิดเห็นว่า ตนเองไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา..?
ประชาธิปไตยที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ในสายตาของประชาคมโลกได้นั้น ต้องเป็นประชาธิปไตยอันสง่างาม ที่ทำให้ประชาชนไทยและคนชาติอื่นในโลก มีความเชื่อมั่นว่าอำนาจอธิปไตยที่ได้มานั้น มีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง
หากกระบวนการต่างๆ ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย, การคัดสรร, กติกา, คณะกรรมการฯ และความชอบธรรมในการเลือกตั้ง ผิดเพี้ยนไปจากหลักการ ทำให้ประเทศไทยไม่ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา
เท่ากับว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้ดูเหมือนมีการ “คืนความสุข” ให้ประชาชน และการที่ประชาชนออกไปหย่อนบัตรลงคะแนน เปรียบเสมือนการช่วยชุบตัวให้เผด็จการดูเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น
เห็นด้วยที่จะเดินหน้าประเทศไทย เห็นด้วยที่ประเทศไทยต้องไปต่อ แต่ขอไปต่อตาม “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยที่ไม่มีโซ่ตรวนแห่งการสืบทอดอำนาจเผด็จการแอบผูกล่ามเอาไว้
คนไทยทนรอคืนความสุขกันมา 5 ปี ขอโอกาสเพียงเท่านี้ พอจะมีสิทธิ์ได้มั้ยคะ..?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น