ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดย ขอให้เปิดเผยผลคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง ชี้แจงจำนวนบัตรที่เพิ่ม และเปิดเผยวิธีการคำนวณ สส. ระบบบัญชีรายชื่อที่ถูกต้อง มีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
และเปิดเผยวิธีการคำนวณ สส. ระบบบัญชีรายชื่อที่ถูกต้อง
ตามที่มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งประชาชนทุกภาคส่วนมีข้อสงสัยและตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง การนับคะแนน การเปิดเผยผลคะแนนที่ล่าช้า และมีตัวเลขที่มีข้อสงสัย รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับการคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อที่อาจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยขอแถลงดังนี้
1. พรรคขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดเผยผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งโดยพลัน เนื่องจากประชาชนมีสิทธิที่จะตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ จำนวนบัตรดีและบัตรเสีย รวมทั้งคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเลขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้แถลงนั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย 6 พรรค ได้ทำหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเปิดเผยผลคะแนนดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2562 แต่ขณะนี้ กกต. ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ
2. จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้แถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 33,775,230 คน (65.96% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง) แต่ 4 วันต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับแถลงว่า มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเท่ากับ 38,268,375 คน (74.69% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) จึงมีคำถามว่าทำไมจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์จึงแตกต่างและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 4,493,145 คน (ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8.73%) ซึ่งทราบรายงานข่าวว่า กกต. ชี้แจงว่า บัตรเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมาถึงกว่า 4 ล้านใบนั้น เป็นเพราะจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่แถลงไปในวันเลือกตั้ง ยังไม่ครบผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดและยังไม่ได้รวมจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตราว 2.3 ล้านใบ และบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรราว 100,000 ใบ พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการเปิดเผยตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ควรสามารถกระทำได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้ง ไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 4 วันภาย หลังจากที่มีการเรียกร้องจากหลายฝ่าย ค่อยเปิดเผยเช่นนี้ทำให้ประชาชนยังเคลือบแคลงและตั้งคำถามว่ากระบวนการจัดการและการนับคะแนนเลือกตั้งมีความโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีคำอธิบายที่รับฟังได้ จะเป็นการยากที่ประชาชนจะยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เสรีและเป็นธรรม และจะเป็นทางออกให้กับประเทศ
3. จากที่มีกระแสข่าวว่าอาจมีการคำนวณคะแนนและจัดสรรที่นั่ง สส. ตามระบบบัญชีรายชื่อให้แก่พรรคขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลถึงการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล พรรคขอเรียกร้องให้ กกต. ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ว่าเป็นไปตามข่าวหรือไม่ พรรคมีความเห็นว่าการคำนวณที่นั่ง สส. ระบบบัญชีรายชื่อ ให้แต่ละพรรคการเมืองนั้น มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน มิอาจกระทำได้ตามอำเภอใจ โดยต้องกระทำตามบทบัญญัติมาตรา 91 แห่งรัฐธรรมนูญและมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย รัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4) บัญญัติว่า “ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ให้พรรคการเมืองนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชี รายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (๒)” ซึ่งความตอนท้ายของมาตรา 91(4) ที่ระบุว่า “แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (๒)” เป็นสาระสำคัญที่ห้ามมิให้จัดสรรที่นั่งให้แก่พรรคที่ไม่มี สส. ที่พึงมีตั้งแต่ต้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง สส. ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมนั้น จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี สส. พึงมีอย่างน้อย 1 คนขึ้นไปเท่านั้น
ดังนั้น พรรคจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดเผยแนวทางและวิธีการคำนวณ สส. ระบบบัญชีรายชื่อที่ถูกต้องให้แก่สาธารณชนได้ทราบ มิใช่ปล่อยให้คลุมเครือและมีการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตนเอง
พรรคเพื่อไทย
1 เมษายน 2562
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น