วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

"ชวลิต" ห่วง ส.ว.ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นกลางทางการเมือง


"ชวลิต" ห่วง ส.ว.ส่ออาจขัด รธน. ประเด็นความไม่เป็นกลางทางการเมือง และประเด็นว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ พร้อมแนะทางออก

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดว่า การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
           
การที่ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว. อยู่ 2 ประการ คือ
           
1. กระบวนการสรรหา ส.ว. ส่อว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 (1) ที่บัญญัติให้ คสช.แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองนั้น ในข้อเท็จจริง สังคมรับรู้ทั่วไปว่า กระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ใช้เงินงบประมาณถึง
1,300 ล้านบาท สุดท้ายจะได้ ส.ว. จากพวกพ้อง จากผู้ที่ทำงานร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งใน ครม.และใน สนช. ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งสิ้น และหัวหน้า คสช. ก็เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองหนึ่งเสนอรายชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี จึงนับว่ากระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. น่าจะไม่เป็นกลางทางการเมือง ขัดกับ รธน.ม.269 (1) หรือไม่?
           
2. การทำหน้าที่ของ ส.ว.ในวาระเริ่มแรก คือ  การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ส่อว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้

"ส.ส.และ ส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"
           
แต่โดยข้อเท็จจริง เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า ในกระบวนการสรรหา ส.ว.นั้น ท้ายที่สุดแล้ว คสช.เป็นผู้เลือก ส.ว. จำนวน 250 คน ถือได้ว่า ส.ว.ทั้งหมด "อยู่ในความผูดมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ ของ คสช." ซึ่งนับเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114
         
เฉพาะอย่างยิ่ง สังคมเห็นภาพชัดเจนที่รัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติ จำนวนมาก ลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปเป็น ส.ว. ตามที่เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักที่จะไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหนึ่ง ในขณะเดียวกันบุคคลผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น ก็เป็นหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจตั้ง ส.ว. มาทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นับเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 หรือไม่?
           
ต่อประเด็นทางออกในเรื่องนี้  ส.ว. ควรทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่บัญญัติให้ ส.ว.เป็น "ผู้แทนปวงชนชาวไทย" เมื่อเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  ส.ว. ควรต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ แล้วโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือก ส.ส.เข้ามาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นกัน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ ส.ว.ใช้สิทธิ์งดออกเสียง ให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่ถืออำนาจอธิปไตยจากประชาชนที่เลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
           
ทั้งนี้ ความเห็นนี้ไม่รวมกับภาคส่วนอื่นที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความในประเด็นที่มาและความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของ ส.ว.
             
ประการสำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 269(3) บัญญัติให้หัวหน้า คสช.เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการแต่งตั้ง ส.ว. ซึ่งมีประเด็นว่า หัวหน้า คสช.ได้ตรวจสอบความถูกต้อง ชอบธรรม ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้หรือไม่ โดยตรวจสอบกับข้อเท็จจริงที่รัฐมนตรี และ สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายท่านลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปเป็น ส.ว. ตามข่าวที่ปรากฎครึกโครมอยู่ในปัจจุบัน หรือไม่ อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น