วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

"พงศ์เทพ" แนะจับตามาตรฐาน ลักษณะต้องห้ามรัฐมนตรี


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ว่า "หากมีปัญหาในประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี หมายความว่าหากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก็ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ หากมีการแต่งตั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมาแล้วต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีการส่งเรื่องไปยังศาลฯ ซึ่งโดยปกติการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. สามารถเข้าชื่อกันได้ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ก็สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมๆ เช่นมีการระบุคุณสมบัติไว้ว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งแต่เดิมไม่มี การที่ระบุว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น หากตีความตามความเป็นจริง เมื่อมีเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริตแต่ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องใช่หรือไม่ การเขียนเช่นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัย และหากเป็นกรณีตรงกันข้าม นอกจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์แล้ว แต่กลับมีพฤติการณ์ที่ดูแล้วไม่ซื่อสัตย์สุจริต จะเป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้ กกต.ที่ตรวจคุณสมบัติของผู้สมัคร และต่อมาเป็นประเด็นปัญหาที่ศาลวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการไปบอกให้ กกต.ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อศาลวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว เมื่อ กกต.ทราบบรรทัดฐานแล้วต่อมายังไปยังอนุมัติให้ผ่านคุณสมบัติ กกต.อาจจะต้องรับผิดชอบส่วนหนึ่ง"

นายพงศ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในส่วนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนำชื่อคณะรัฐมนตรีเสนอ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น แน่นอนว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเสนอคนที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม นายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยาก อดีต รมว.ยุติธรรม ยังเห็นว่า การอภิปรายคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีของพรรคฝ่ายค้านในการแถลงนโยบายของรัฐบาล จะทำให้เห็นว่ารัฐมนตรีผู้นั้นสามารถเป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่ แต่การที่จะดำเนินการต่อไป ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยมี ส.ส.เข้าชื่อกันเสนอไปยังรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.จะดำเนินการเอง"

"ข้อมูลบางอย่างปรากฏต่อสาธารณชน และปรากฏต่อตัวนายกรัฐมนตรีแล้วก่อนที่จะมีการนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีเสนอ เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้ไม่คิดว่าการไปเรียกร้องจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เว้นเสียแต่ว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน และยังไม่มีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีด้วย การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของพลเอกประยุทธ์นั้น คือกรณีที่ศาลมีเหตุอันควรเชื่อหรือมีมูล โดยปกติศาลต้องสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้ว อย่างการที่ศาลสั่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือกรณีของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ก่อนหน้านี้ที่มีหลายคนถูกร้องเรียน แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนักกฎหมายจึงยังสับสนเช่นกันว่า บรรทัดฐานจะดูเช่นไร ซึ่งคงต้องศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสั่งอย่างไร ต้องสั่งให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หลักกฎหมายเดียวกัน ซึ่งในภายหลังจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และเกิดการยอมรับในคำสั่งที่สั่งมาในแต่ละเรื่องแต่ละคดี" นายพงศ์เทพ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น