วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"สมพงษ์" นำฝ่ายค้านลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวเชียงใหม่


นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ได้เดินทางไปพบปะกรรมการและสมาชิกสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและมีคณะกรรมการบริหารนับตั้งแต่ก่อตั้งถึงปัจจุบัน รวม 46 ชุด มีสมาชิกมากกว่า 6,000 คน โดยมีนาย ชัยวิเศษ ดีสุวรรณ ประธานสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด ให้การต้อนรับ โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ระบุว่ากิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเยี่ยมเยียนและเรียนรู้ ตลอดจน รับทราบปัญหาและข้อจำกัดของเกษตรกร พร้อมกันนี้ นาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ได้ชื่นชมในความสำเร็จสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด ที่ยังคงเป็นกลไกและยึดโยงเกษตรกรไว้กับระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  พร้อมทั้ง ขอให้กรรมการและสมาชิกได้ช่วยกันรวบรวมและสะท้อนปัญหาเพื่อส่งให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้านและจะได้ร่วมกันหาวิธีการและแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนผ่านระบบของรัฐสภา แต่ต้องไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง หรือ นำเงินมาแจกเป็นครั้งเป็นคราว และในโอกาสเดียวกันนี้ผู้แทนของสหกรณ์ได้ขอให้พรรคฝ่ายค้านจัดหา หรือ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง รวมถึง แก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ เช่น ข้าวเปลือกข้าวเหนียวขายอยู่ที่ตันละ 14,000.- บาท แต่ข้าวสารเหนียวมีราคาแพง หรือ  ตันละ 40,000 บาท โดยประมาณ  หรือ เกษตรกรต้องใช้ข้าวเปลือกถึง 3.5 ตันเพื่อนำไปสีและให้ได้ข้าวสารเหนียว 1 ตัน เป็นต้น














"เผ่าภูมิ" แนะรัฐ หนุนสลับนักเที่ยวจีน-อินเดีย

“เพื่อไทย” แนะรัฐบาล สลับส่งเสริมการท่องเที่ยวแบ่งตามฤดูกาล ชู “ตลาดอินเดีย” ทางออกท่องเที่ยวไทยช่วง low season


ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปัญหาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยว่า

การท่องเที่ยวจากที่เคยเป็นโอกาส กลับกลายเป็นปัญหา ทั้งต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ และกระทบต่อรายได้ของประเทศจากการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง

ลักษณะจำเพาะของการท่องเที่ยวคือแปรผันตรงต่อเศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นั่นหมายถึงความเปราะบางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกมีสูง และไทยยังพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนในสัดส่วนที่สูงมาก ฉะนั้นรายได้การท่องเที่ยวไทย จึงผูกกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนเป็นอย่างมาก

อีกหนึ่งลักษณะจำเพาะที่สำคัญของการท่องเที่ยวคือ “ฤดูกาล” โดยจะเฟื่องฟูในฤดูกาลท่องเที่ยว และจะฟุบในช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน โรงแรม ร้านค้า ผู้ประกอบการขนาดย่อม ต่างประสบปัญหาในช่วง low season ธุรกิจที่สายป่านสั้นก็จะมีปัญหา เฉพาะผู้ประกอบการที่สายป่านยาวเท่านั้น ที่จะทนผ่านช่วง low season ได้

หนึ่งในทางแก้ไขปัญหานี้ ผมมองไปที่การสร้างการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว โดยการ “สลับส่งเสริมการท่องเที่ยวแบ่งตามฤดูกาล” ผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวจาก “อินเดีย” ในช่วง low season

จุดเด่นที่สำคัญของอินเดีย คือ “ฤดูกาลท่องเที่ยว” ของ “อินเดีย” ตรงกับช่วง low season ของไทย โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของทุกปี ซึ่ง “สลับ” กับนักท่องเที่ยวจีน ตรงนี้น่าสนใจ เพราะจะสามารถแก้ปัญหาทั้งของผู้ประกอบการและรายได้ประเทศจากการท่องเที่ยวหดตัวในช่วง low season ได้ หากเราสามารถสร้างตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียในช่วง low season และสร้างตลาดจีนในช่วง high season

ต้องแยกยุทธศาสตร์การสร้างตลาด 2 ประเทศนี้ออกจากกัน โดยแบ่งตามฤดูกาล เพราะมีลักษณะจำเพาะที่แตกต่างกัน เช่น นักท่องเที่ยวอินเดียจะเน้นไปที่การท่องเที่ยวสุขภาพ กลุ่มคู่รักหลังแต่งงาน กลุ่มการจัดงานแต่งงาน ซึ่งชาวอินเดียใช้เงินสำหรับการแต่งงานเฉลี่ยคิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้สะสมตลอดชีวิต

ชนชั้นกลางของอินเดียกำลังขยายตัวอย่างมหาศาล จะขยายจำนวนถึง 7 เท่า ในอีก 7 ปีข้างหน้า อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก และจะมีประชากรเป็นอันดับ 1 แทนจีนในปี 2565 ซึ่งเป็นโอกาสอันมหาศาลของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

อยากฝากไปยังรัฐบาลว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ และผูกพันหลายภาคส่วนในวงกว้าง เป็นโอกาสอันมหาศาลถ้ามองอย่างชาญฉลาด แต่สามารถเป็นปัญหาทรุดทั้งระบบได้ถ้าปล่อยไปตามยถากรรม

31 ส.ค. 2562

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ยกฟ้อง "ดร.ทักษิณ" คดีกรุงไทย ชี้ไม่ใช่ผู้สั่งอนุมัติสินเชื่อ


ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี นายทักษิณ ชินวัตร ร่วมทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อธ.กรุงไทยฯ กับกลุ่มกฤษฎามหานคร คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ดร.ทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เป็นจำเลยที่ 1

คดีนี้ ดร.ทักษิณ จำเลยได้มอบอำนาจให้ทนายความร่วมโต้แย้งคดีเป็นสำนวนแรกและสำนวนเดียวที่ได้ถูกยื่นฟ้องคดีในศาลฎีกาฯ ซึ่งวันนี้ทนายความก็ได้มาฟังคำพิพากษาด้วย ทั้งนี้องค์คณะฯ พิเคราะห์แล้ว นายทักษิณ จำเลยที่ 1 กระทำผิดหรือไม่ องค์คณะเห็นว่าพยานของอัยการโจทก์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการของธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย เบิกความเกี่ยวกับซุปเปอร์บอสหรือบิ๊กบอส เห็นชอบและสั่งการให้อนุมัติสินเชื่อให้กลับกลุ่มกฤษฎามหาคร จำเลยที่ 19 ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพราะพยานได้รับฟังมาจากจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ พยานปากนี้จึงยังเป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักว่า ดร. ทักษิณ จำเลยที่ 1 สั่งการให้จำเลยที่ 2-4 ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มกฤษฎามหานคร จำเลยที่ 19 จึงพิพากษายกฟ้อง



"เรืองไกร" เดินหน้า สอบนายกฯถวายสัตย์ไม่ครบ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคาร A โดย กล่าวว่า ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งผลการตรวจสอบว่า นายกฯกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญานตามมาตรา 161 ไม่ครบจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น

นายเรืองไกร แจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.  ตนก็ยื่นเรื่องให้ อสส. ตรวจสอบกรณีนายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามมาตรา 161 และยังยื่นกรณีนายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ตามมาตรา 162 ด้วย

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า เรื่องที่ตนยื่น อสส. บัดนี้เลย 15 วันแล้ว ตนจึงจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ยื่นเรื่องโดยตรงไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยการกระทำของนายกฯ ว่าขัดหรือแย้งต่อมาตรา 161 และมาตรา 162 หรือไม่? และการกระทำดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 หรือไม่?

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"เพื่อไทยพลัส" ชวนฟังสัมมนา สงครามการค้าจีน-สหรัฐ

เลขาธิการเพื่อไทยพลัส แนะรัฐเร่งสร้าง เสถียรภาพการเมือง ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนพร้อมเปิดพื้นที่ ตลาดส่งออกให้กว้างขึ้น ป้องกัน ผลกระทบสงครามการค้าจีน สหรัฐ ขณะที่ 2 กันยายน ชวนฟังสัมมนาใหญ่ ถกผลกระทบ สงครามการค้า จีน-สหรัฐ เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมพูดคุย


นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส มองว่าผลกระทบของสงครามการค้าจีน สหรัฐส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งต่อเนื่อง เป็นผลมาจากค่าเงิน ของมหาอำนาจทั้งสองประเทศอ่อนตัวลง และเห็นว่าการที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก ไปยังสหรัฐและจีนเป็นหลัก ประเทศไทยจึงจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้นต้องสื่อสารไปถึงกระทรวงพาณิชย์ ว่าต้องไม่พึ่งพาตลาด จีนและสหรัฐเพียงอย่างเดียว จะต้องเพิ่มศักยภาพในมิติของการส่งออกไปประเทศ อื่นๆเช่นประเทศเพื่อนบ้านประเทศในแถบยุโรป
เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุดหากเกิด ปัญหาสงครามการค้าในครั้งนี้

นายตรีรัตน์เห็นว่าประเทศไทยมีของดีอยู่มาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตรซึ่งต้องนำเทคโนโลยี มาเป็นกลไกเพื่อเปิดตลาดเพิ่มขึ้น

"การเพิ่มตลาดมันสามารถทำให้ได้มากกว่านี้ ซึ่งในการเปิดพื้นที่มันต้องมีแบบฟอร์มออนไลน์ ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณด้วยกระทั่งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย หากจีนมีปัญหาเราจะสามารถเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวได้อย่างไร เพราะวันนี้การท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวจีนเยอะมาก ซึ่งหากมีทางเลือก เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาตินอกจากจีนให้เข้ามาในประเทศไทยให้มาก"

เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัสเห็นว่า นโยบายฟรีวีซ่า ถือเป็นช่องทางดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องพิจารณาควบคู่ไปกับ การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นกับเพื่อนบ้าน ที่มีแรงจูงใจไม่แพ้ประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของบริการ บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าวันนี้ประเทศไทยดีพอหรือไม่ รวมถึงการควบคุมนักท่องเที่ยวให้ได้รับความปลอดภัย ทั้งสถานที่ อาหาร และการบริการ และเห็นว่ามาตรการฟรีวีซ่าควรเพิ่มระยะเวลาให้เกิดความเหมาะสมไม่สั้นจนเกินไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ

นายตรีรัตน์ฝากสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจให้เร่งสร้างความเชื่อมั่น เร่งสร้างการเมืองให้มีเสถียรภาพ จะช่วยดึงความมั่นใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรวมถึงภาคการลงทุนให้กลับมาลงทุนในประเทศไทย
ซึ่งการดำเนินธุรกิจจะเป็นรูปแบบ ของการ ทำโดยคนรวยขายให้คนรวย เงินจะไม่ไปถึง ระดับฐานราก ดังนั้นจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เงินลงไปสู่ฐานราก และต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เงินกระจุกตัวอยู่เพียงด้านบน

ขณะเดียวกันมองว่ามาตรการแจกแถมของรัฐบาล เป็นนโยบายที่ใครก็สามารถทำได้ ดังนั้นจะต้องคำนึงด้วยว่าการแจกแถมจะมีความยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องรัฐบาลที่ต้องเร่งทำการบ้านให้หนักขึ้น จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง และดึงความเชื่อมั่นให้คนกลับมาลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ //


"เพื่อไทย" ชวนรับฟังสัมมนาใหญ่ ถกผลกระทบ สงครามการค้า จีน-สหรัฐเชิญ ผู้ก่อตั้งสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจจีนร่วมถกหาทางออกให้ภาคธุรกิจไทย

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส พร้อมด้วย นายเทพฤทธิ์ สีนำ้เงิน ผู้อำนวยการสถาบันสร้างไทย ยังได้ร่วมกันแถลงข่าวจัดงานเสวนาใหญ่ "สงครามการค้าจีน-สหรัฐ" สถานะทางยุทธศาสตร์และการรับมือของไทย โดย Professor Dr. Xiang Bing จากปักกิ่ง ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2562 นี้

โดยนายตรีรัตน์ กล่าวว่า กิจกรรมนี้อยู่ในแคมเปญ "ประชาชนคิดเพื่อไทยทำ" ซึ่งย้อนไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีกิจกรรมพบปะประชาชน ส่วนกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้ คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการค้า

ด้านผู้อำนวยการสถาบันสร้างไทยบอกว่า ถ้ามองการค้าของทั้ง 2 ประเทศแล้ว สามารถส่งผลต่อประเทศไทยได้พอสมควร การนำเข้าจากจีนเป็นเครื่องจักร ซึ่งทำให้ราคามาไทยถูกลง บทบาทหน้าที่ของรัฐที่ตกต่ำตอนนี้น่าคิด ว่ารัฐจะทำอย่างไร การส่งออกของประเทศไทยเป็นยา ,พาสติก ฯลฯ ซึ่งมันก็เกี่ยวกับอาชีพของคนรากหญ้า การค้าไทยถ้าตกต่ำ มันจะกระทบถึงประชาชนอย่างแน่นอน งานนี้ตั้งใจหาทางออกให้ประชาชน พรรคเพื่อไทยเป็นห่วงเรื่องนี้ ส่วนตัวดีใจ ที่จะได้จัดกิจกรรมในส่วนนี้ ในงานจะได้เจอ ดร.เซียงปิง ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ครั้งนี้ด้วย ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการฟังภาษาไม่เข้าใจ เพราะในส่วนของงาน ได้เตรียมเครื่องแปลภาษาไว้ด้วย

ในส่วนของช่วงที่ 2 ได้เชิญบุคลากรชั้นนำของไทยอีกมากมาย อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งตนเน้นย้ำ ว่าจัดกิจกรรมเพื่อต้องการหาทางออกให้รัฐ  และงานจะบอกด้วยว่าประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไรต่อไป กิจกรรมนี้ เป็นครั้งแรกที่จัด ซึ่งจะเปิดให้ทุกคนเข้ามารับฟังได้ และจะมีกิจกรรมเรื่อยๆทุกสัปดาห์


นายเทพฤทธิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ทีมเศรษฐกิจยังไม่เคยนำเอาปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐและจีน มาพูดคุยหรือหารือเลย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทย จะไม่ได้รับผลกระทบเลย หากทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ ทำสงครามทางการค้ากัน แม้ประเทศไทยจะอยู่ตรงกลาง และผู้ผลิตรายใหญ่ จะไม่ได้รับผลกระทบกับสงครามทางการค้า แต่ผู้ประกอบการรายเล็ก จะได้รับผลกระทบนี้โดยตรง พรรคเพื่อไทยได้เห็นถึงปัญหานี้ และนำเอาข้อมูลที่ได้ศึกษามา มาเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยน โดยหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนา จะนำเอารายงาน ไปเสนอต่อให้กับภาคเอกชนต่างๆ และรัฐบาล

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"ภูมิธรรม" ขอโทษอนาคตใหม่ หลังเพื่อไทยจัดกิจกรรมพาดพิงถูกยุบพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง หลังพรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรม "จับมือดาวสภาเพื่อไทย" ให้ประชาชนจับมือ น.พ. ชลน่าน ศรีแก้ว นายสุทิน คลังแสง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ และ นางสาวจิราพร สินธุไพร โดยภายในงานดังกล่าว มีการกล่าวพาดพิงพรรคอนาคตใหม่ โดยเปิดประเด็นเรื่องการยุบพรรคเพื่อนบ้าน จนเป็นประเด็นร้อน ล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ได้ทราบเรื่องความเห็นของสมาชิกพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ด้วยความไม่สบายใจ

ต้องขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น.. ผมเชื่อว่าผู้แสดงความเห็น
ไม่ได้มีเจตนาร้ายเพียงแต่อาจไม่ได้คาดคิดว่าจะส่งผลกระทบใดๆต่อพรรคที่เป็นเพื่อนมิตร ...

เหตุที่เป็นเช่นนี้คงเริ่มจากความห่วงกังวลใจที่ฝ่ายประชาธิปไตยถูกกระทำมาโดยตลอด ก็คงต้องถือเป็นข้อระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาในวันหน้า

วันนี้...เราต่างมีความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหมือนกัน
มีความต้องการช่วยเหลือและปรารถนาที่จะทำงานรับใช้ประชาชนเช่นเดียวกัน...

การมีท่วงทำนองที่เริ่มต้นจากความเข้าใจกัน ถนอมมิตรไมตรีต่อกันและอภัยให้กันและกันคือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ภารกิจสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยที่จะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติประสบความสำเร็จ

ขอโทษด้วยใจจริงอีกครั้งครับ
ภูมิธรรม เวชยชัย
27 สิงหาคม 2562

"พานทองแท้" เชิญชวนคนไทย ร่วมงานวิ่งเฉลิมพระเกียรติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้



มูลนิธิไทยคม ร่วมสนับสนุนงาน “แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 5 เฉลิมพระเกียรติ”

โดยให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ครับ

มาร่วมกันออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง และร่วมทำบุญกันนะครับ งานนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ณ ท้องสนามหลวง

สนใจสมัครได้ที่ www.runningconnect.com ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 ก.ย.นี้ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ


“พิชัย” เตือน คนรุ่นใหม่เตรียมรับเศรษฐกิจแย่

“พิชัย” เตือน คนรุ่นใหม่เตรียมรับเศรษฐกิจแย่อีกหลายปี ชี้ ต้องคิดเป็นและกำจัดตรรกะวิบัติ เชื่อ ไทยกลับมารุ่งเรืองได้ถ้าเปลี่ยนแปลง



นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สงครามการค้าสหรัฐและจีน และ ผลกระทบกันไทย” ให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยบุรพาว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าสหรัฐจะกลับมาใช้นโยบายโดดเดี่ยว (Isolation policy) ที่มุ้งเน้นสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก และตั้งใจจะถ่วงความพัฒนาของประเทศจีนเพื่อไม่ให้แซงหน้าสหรัฐ

โดยที่ประเทศไทยไม่ได้เตรียมรับปัญหานี้ไว้เลยมาตลอด 5 ปี ต่างกับประเทศเวียดนามที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์เตรียมรับเรื่องนี้ไว้แล้ว ทำให้การลงทุนและการส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้นสูงมาก ในขณะที่ประเทศไทยกลับแย่ลง ดังนั้นจึงอยากให้นักศึกษาเตรียมรับเศรษฐกิจไทยที่น่าจะแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่แย่ลง การจัางงานที่จะน้อยลง และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเช่น Robotic, Ai จะนำมาสู่การว่างงานเพิ่มขึ้นด้วย คนรุ่นใหม่จะไม่มีโอกาสได้เห็นเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรื่องขยายตัว 7-8 % เหมือนในอดีตแล้ว ถ้าหากยังบริหารประเทศกันแบบนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะแน่อีกหลายปี

ทั้งนี้นักศึกษาต้องรู้จักปรับตัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ จะต้องรู้จักการใช้ความคิดกลั่นกรอง (critical thinking) และ แยกแยะ ตรรกะวิบัติ ให้ได้ เพื่อประเทศไทยจะได้ก้าวหน้าต่อไปได้ อีกทั้งจะต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนเร็วมาก ในอดีตโลกจะพัฒนาและฉลาดขึ้น 1 เท่าต้องใช้เวลา 50 ปี แต่ในปัจจุบันโลกใช้เพียง 3 ปีในการพัฒนาและก้าวหน้าขึ้นแต่ไทย 5 ปีที่ผ่านมาถามว่าเราฉลาดขึ้นพัฒนาขึ้นหรือแย่ลง คงมีคำตอบในใจแล้ว แล้วไทยจะแข่งขันได้อย่างไร

ดังนั้น อนาคตของประเทศต้องขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่แล้วที่จะตัดสินใจว่าประเทศไทยจะก้าวไปได้อย่างไรในอนาคต ไม่อยากให้ประเทศไทยต้องเป็นเหมือนกับ พม่า และ ฟิลิปปินส์ในอดีตที่มีศักยภาพแต่ต้องถูกการเมืองถ่วงความเจริญมาหลายสิบปี อย่าปล่อยให้ประเทศเป็นเหมือนกบต้มที่รอวันสุก ต้องคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีเพื่ออนาคต เชื่อว่าหากไทยเปลี่ยนแปลงกลับมาตั้งหลักตั้งฐานได้ไหม่ด้วยหลีกคิดที่ดีและให้สังคมโลกยอมรับไทยจะฟื้นตัวได้เร็ว

"เพื่อไทย" เผย 5 ปี ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ส.ส.พรรคเพื่อไทย เผยเกษตรกร สะท้อน 5 ปี แห่งยุคข้าวยากหมากแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ภาระหนี้สิน ทั้งเก่าและใหม่เพิ่มขึ้น


นางสาวชนก จันทาทอง ส.ส.จังหวัดหนองคายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อน ของเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคข้าวยากหมากแพง ผู้บริหารประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เพราะผู้นำประเทศ ไม่เข้าใจพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

ซึ่งจากการติดตามปัญหา พบว่ารายรับ จากการขายสินค้าเกษตร เช่น ข้าวยางพารา ยาเส้น หรือสินค้าเกษตรตัวหลัก ที่กลับเข้าสู่ครัวเรือน ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับเกษตรกรต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน

ผลผลิตที่หว่านไปก่อนหน้านี้ 2-3 รอบ ก็ยืนต้นตาย และเชื่อว่าจะกลายเป็นปัญหาในระยะยาวของไตรมาสต่อๆไปเช่น สต๊อกข้าวที่ขาดแคลน เมื่อเกษตรกรขาดรายได้ หรือต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

ส.ส.จังหวัดหนองคายพรรคเพื่อไทยเห็นว่ามาตรการ ประกันราคาที่เตรียมจะได้รับการผลักดันนั้น ส่วนตัวพร้อมสนับสนุน เพราะจะเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนความทุกข์ยากของประชาชนที่ปัจจุบันกำลังจะอดตายจึงไม่สามารถรอได้ แต่ในระยะยาว ภาครัฐจะต้องสนับสนุนการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการรวมกลุ่มให้ความรู้กับประชาชนเพื่อพัฒนาตนเอง ผ่านโครงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่มุ่งแต่แนวทางของการแจกเงิน ซึ่งไม่ ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในเวลานี้

"เพื่อไทย" ยื่นสอบ พปชร.ไม่ทำตามสัญญาตอนหาเสียง

"อนุสรณ์" ชี้ กำลังให้ฝ่ายกฎหมาย เตรียมยื่นเรื่องให้กกต.พิจารณาพปชร.ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ระบุยังไม่มีแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ถือสิทธิของพรรคพลังประชารัฐที่จะพูด แต่ต้องให้ความเคารพประชาชน ความหมายของคำว่านโยบายเร่งด่วน พรรคพลังประชารัฐจะตีความเป็นอื่นได้อย่างไร การที่พรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมามีส่วนร่วม เพราะแม้แต่ในนโยบายของรัฐบาลที่เสนอต่อรัฐสภาในข้อ 12 ก็บอกว่าจะศึกษาแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ โอกาสนี้ควรมาร่วมมือกันดำเนินการ หรือที่ไม่มาร่วมและยังไม่เห็นความจำเป็น เพราะตัวเองได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนหน้านี้พรรคพลังประชารัฐ บอกตลอดว่ารัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อพรรคพลังประชารัฐ หลายนโยบายตอนหาเสียงบอกว่า ทำทันที แต่พอได้เป็นรัฐบาลกลับมีเงื่อนไข ไม่สามารถทำได้ทันทีและไม่จัดเป็นเรื่องเร่งด่วน พรรคเพื่อไทยกำลังให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมและตรวจสอบ หากพบว่านโยบายใดที่แถลงแล้วไม่ดำเนินการจะยื่นเรื่องให้กกต.พิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เช่น นโยบายเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น 20,000 บาท เงินเดือนอาชีวะเริ่มต้น 18,000 บาท ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 - 425 บาทต่อวัน ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ปลดหนี้นอกระบบผู้ใช้แรงงาน 10 ล้านราย ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาทให้เข้าสู่ในระบบ นโยบายมารดาประชารัฐ ตั้งครรภ์ รับเงิน 3,000 บาทต่อเดือน เงินทำคลอด 10,000 บาท ช่วยค่าเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ 2,000 บาทต่อเดือน

“ประชาชนจะได้เห็นจุดยืนว่าพรรคใดพูดแล้วทำ พรรคใดพันธสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงเป็นเพียงสัญญาปากเปล่า ป้ายหาเสียงที่ติดทั่วเมือง กลายเป็นของแสลงต้องห้ามนำมาแสดงในสภา เพราะเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจว่าพูดแล้วไม่ทำหรือไม่? พรรคพลังประชารัฐต้องไปตอบคำถามนี้ต่อสังคมเอง” นายอนุสรณ์ กล่าว

"ภราดร" แนะรัฐสรุปบทเรียน ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษ

พล.ท.ภราดร แนะรัฐสรุปบทเรียนการ เสียชีวิตของ "อับดุลเลาะ"ทบทวนการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ปรับเปลี่ยนมาตรการคุมตัวให้เกิดความโปร่งใส สร้างความสบายใจให้คนในพื้นที่


พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ว่าจะต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวน การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง และภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้บังคับแล้ว ผู้มีอำนาจจะต้องตระหนักว่า ในแง่สิทธิมนุษยชนจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะต้องได้รับความคุ้มครอง

ดังนั้น การประกาศกฎอัยการศึก การคงพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ การบังคับใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จะต้องได้รับการทบทวนทั้งหมด โดยเฉพาะกฎอัยการศึก ซึ่งโดยหลักแล้วจะใช้เฉพาะเหตุภัยสงครามเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นภายในประเทศเท่านั้น แต่ประเทศไทยกลับหยิยยกมาใช้โดยตลอด

ซึ่งในระยะยาวเจ้าหน้าที่อาจขาดความรอบคอบ เพราะ กฎหมายเอื้อให้เกิดความสะดวกสบาย โดยเฉพาะการใช้อำนาจไปเชิญตัวควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีหมายได้ภายใน 7 วัน ซึ่งถือเป็นความสุ่มเสี่ยง และอาจทำลายบรรยากาศของความไว้ใจในพื้นที่
การพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ สร้างสันติสุข จึงมีผลกระทบตามไปด้วย

ดังนั้นหากกฎหมายที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ได้รับการทบทวนบรรยากาศต่างๆโดยเฉพาะในแง่ของสิทธิมนุษยชนจะดีขึ้นตามลำดับ เชื่อพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยไม่ต้องใช้กฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งบังคับใช้มากว่า 10 ปี เป็นประเด็นที่ ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้ ซึ่งหากหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นผลดี

พลโทภราดรเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษเช่น พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก ยังเป็นตัวชี้วัดด้วยว่า ขีดความสามารถ ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศกำลังมีปัญหา ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐต้องสรุปบทเรียน

"มาตรการที่เข้าไปดำเนินการต่อประชาชนโดยเฉพาะประเด็นการพูดคุยซักถามเพื่อหาข้อมูลต่างๆรูปแบบจะต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความโปร่งใสเกิดความสบายใจต่อพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าเช่นกรณีที่เอาไปซักถามในค่ายทหาร ก็ต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดเผย อาจเป็นห้องกระจก ไปซักถามและสามารถให้ญาติพี่น้องมาเฝ้าดู บรรยากาศเพื่อความมั่นใจว่าลูกหลานเขาปลอดภัย และเมื่อพูดคุยซักถามเสร็จกระบวนการเรื่องที่พัก จะต้องสามารถเข้ามาเยี่ยมเยียน แวะเวียนดูแลได้ ไม่ให้เกิดบรรยากาศของความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน"

อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติระบุว่า หากปรับเปลี่ยนมาตรการดังกล่าวได้จะสร้างความสบายใจให้กับประชาชนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอย่างน้อยที่สุดได้รู้เห็นว่าลูกหลานที่ถูกควบคุมตัว บรรยากาศเป็นอย่างไร และจะนำมาซึ่งความสบายใจ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่รัฐต้องเร่งแก้ไข

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"พิชัย" ห่วงเศรษฐกิจไทยถดถอย


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐและจีน ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก อีกทั้ง สถานการณ์ในฮ่องกงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่ง Inverted Yield Curve เป็นสัญญาณอันตายที่แสดงว่าโลกอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมและหาบุคคลากรที่รู้เรื่องเศรษฐกิจจริงๆเข้ามาบริหาร หลังจากที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำมา 5 ปีแล้ว โดยล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้ยืนยันว่ารู้เรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างดี พร้อมกับพูดถึง การปฏิวัติอุตสาหกรรม และ ในระยะยาวต้องมีการลงทุน ซึ่งพลเอกประยุทธ์อาจไม่ทราบว่า การปฏิวัติอุตสามหรรมนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1760-1850 หรือ 169-259 ปีมาแล้ว ในสมัยที่ เจมส์ วัตต์ คิดค้นกลจักรไอน้ำได้ ซึ่งน่าจะเป็นการพูดเรื่องที่ยัอนยุคอย่างมาก

ดังนั้น จึงขอแนะนำว่า ในปัจจุบันนายกฯ จะต้องศึกษาและเข้าใจดีในเรื่องดังนี้เช่น Disruption, Inverted Yield Curve, Libra, 0% interest 30 years German bond, Hong Kong impact etc. ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์มั่นใจว่ารู้เรื่องเศรษฐกิจดี ตนจะขอสัมภาษณ์พลเอกประยุทธ์ออกอากาศช่องไหนก็ได้ และจะส่งคำถามให้ก่อนด้วยเพื่อเตรียมตัว

นอกจากนี้ การที่พลเอกประยุทธ์แสดงความรู้และเข้าใจดีว่าในระยะยาวประเทศต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนา ดังนั้นจึงอยากถามว่า 5 ปีที่ผ่านมาทำไมการลงทุนไทยถึงได้หดหาย เศรษฐกิจไทยถึงได้ย่ำแย่ ขยายได้เพียง 2.3% เท่านั้น ทั้งๆที่เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หากเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอยจริง เศรษฐกิจไทยจะยิ่งย่ำแย่ขนาดไหน ไม่อยากจะนึกเลย เพราะทุกวันนี้ก็มีข่าวว่าคนไทยฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจกันแทบทุกวันแล้ว

ที่น่ากังวลยิ่งไปอีกก็คือการที่ นายอุตตม สาวนายน รมว. คลังคนที่คิดว่าน่าจะพอรู้เศรษฐกิจบ้างกลับกล้าโม้ว่าจากมาตรการรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายได้ ถึง 3.5% ซึ่งขอยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวได้เพียง 2.6% เท่านั้น ถ้าปีนี้จะขยายถึง 3.5% ครึ่งปีหลังต้องขยายถึง 4.4% ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เลยในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ถ้านายอุตตมมั่นใจว่าสามารถทำได้อย่างที่พูดก็ควรจะรับผิดชอบด้วยตำแหน่ง ซึ่งมั่นใจว่าหากยอมเดิมพันด้วยตำแหน่ง ประเทศไทยได้เปลี่ยน รมว. คลัง ปลายปีนี้แน่นอน หรือแค่ประกาศไตรมาส 3 ก็คงจะรู้แล้วว่าไม่มีทาง ซึ่งหากนายอุตตมสามารถทำได้จริง ตนจะไม่วิจารณ์นายอุตตมอีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือคดีแบงค์กรุงไทย

ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ขยายตัวได้แค่ 2.3% คนที่ฉลาดและรู้เศรษฐกิจบ้างจะพูดน้อยๆหรือไม่พูดเลย ดังจะเห็นได้ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หลังจากโยนเศรษฐกิจแย่ๆให้กับ พลเอกประยุทธ์เป็น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรับไปแล้วก็เก็บตัวเงียบ และพูดน้อยมาก ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ดูนายสมคิดเป็นตัวอย่าง ซึ่งตนได้แนะนำพลเอกประยุทธ์ก่อนหน้านี้แล้วว่าถ้าไม่รู้จริงไม่ควรพูด เพราะจะยิ่งแสดงความไม่รู้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เสียหน้าเปล่าๆ

"ณัฐวุฒิ" เผยพลังดูดไม่กระทบฝ่ายค้าน-ท้า "บิ๊กป้อม" คอยดู ไม่หมู!

ไม่แปลกใจ ‘ประวิตร’ เข้า ‘พลังประชารัฐ’ พรรคที่ต้องคิดหนักคือ ‘ประชาธิปัตย์’ ไม่ใช่ฝ่ายค้าน ‘ณัฐวุฒิ’ วิเคราะห์กลุ่มอนุรักษ์นิยมเลิกใช้งานปชป.แล้ว เหตุเป่านกหวีดปฏิรูปจนทหารเข้ามาแทนที่ 100% ประชด พลังดูดไม่ธรรมดา ‘ไพบูลย์’ ยังยุบพรรคตัวเองหอบผ้าหนีตาม ไม่เกี่ยวอุดมการณ์หรือบารมีพี่ใหญ่ แต่รัฐธรรมนูญนี้กติกาชัดเจนออกมาเอื้อพวกใคร - นักการเมืองต่างขั้วโชว์ตัวกับรัฐบาล เชื่อคนละเรื่องหากต้องยกมือโหวตในสภา ท้า ‘บิ๊กป้อม’ คอยดู ไม่หมู!!!


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) กล่าวในรายการ ‘หัวใจไม่หยุด เต้น’ เผยแพร่ทางแฟนเพจ ‘นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 62

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ‘พล.อ.ประวิตร ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว ไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจล่ะครับ เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทย 10 กว่าปีที่ผ่านมา ชัดเจนอยู่ในตัวว่านายทหารใหญ่ 3 คนแห่งคสช. มีบทบาทสำคัญในแต่ละขั้นตอน

ไม่เชื่อลองไปถามสนธิ ลิ้มทองกุล, พุทธะอิสระ หรือสุเทพ เทือกสุบรรณดูก็ได้ครับ
ตั้งแต่การยึดอำนาจโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
การตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในค่ายทหาร
การตั้งกองบัญชาการศอฉ. ในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552-2553
กระทั่งการยึดอำนาจอีกครั้งโดยคสช. เรื่อยมาจนถึงการมีรัฐบาลชุดปัจจุบัน
บิ๊กป้อมเข้าพรรคพลังประชารัฐจะทำให้พรรคเป็นเอกภาพขึ้นไหม เข้มแข็งขึ้นอย่างไร
ตอบว่า เป็นอย่างเก่า เท่าเดิมครับ เพราะพลังประชารัฐตั้งมา คนที่เฮโลสาระพากันเข้าไป ไม่มีใครคิดว่าคุณอุตตม หัวหน้าพรรคและคุณสนธิรัตน์ เลขาธิการพรรค คือผู้มีอำนาจตัวจริงอยู่แล้ว
คนในแวดวงการเมืองเค้ารู้กันทั่วว่าหลายกลุ่มหลายคนก่อนที่จะเดินเข้าพรรคพลังประชารัฐ ได้พบผู้ยิ่งใหญ่ในรัฐบาลคสช.คนหนึ่ง เดินตุ๊ต๊ะตุ้มตุ้ยคล้ายๆ พล.อ.ประวิตรนี่ล่ะครับ
.
น่ากลัวแค่ไหนบารมีพี่ใหญ่พล.อ.ประวิตร?
ผู้คนพากันเข้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจบารมีของพล.อ.ประวิตรล่ะครับ แต่เค้าติดใจข้อความสำคัญที่บางคนพูดว่า

กติกานี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา (สมศักดิ์ เทพสุทิน)
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างขึ้นมาเพื่อให้พลังประชารัฐเป็นรัฐบาลเท่านั้น (วีระกร คำประกอบ)
หลังจากนี้คงมีการใช้พลังดูดในอัตราเข้มข้นมหาศาล เพราะพล.อ.ประวิตร คงต้องการโชว์ผลงานว่าพอเข้ามานั่งปุ๊บ ดูดได้ปั๊บ

แต่เชื่อขนมกินได้ครับว่าไม่ง่ายอย่างเก่า เพราะการต่อสู้ทางการเมืองกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ยกระดับการเมืองไทยให้มาถึงจุดที่เผด็จการกับประชาธิปไตยแบ่งข้างแยกฝ่ายกันชัดเจน

นักการเมืองที่ทรยศต่อหลักการ นักการเมืองที่หักหลังประชาชนจะได้รับบทเรียนอย่างหนักหนาสาหัส
เรียกบางคนในพรรคฝ่ายค้านไปรับวิตามิน ไปกินข้าวกินปลาโชว์หน้าโชว์ตัวกันภายใน ทำได้ครับ แต่ถ้าจะให้เค้าโหวตลงคะแนนในสภาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ผมว่าไม่หมู หรือลุงป้อมจะลองดูก็ไม่มีปัญหานะครับ
.
กระทบฝ่ายค้านไหมเมื่อพี่ใหญ่เขาเดินเกมส์?
หักลบกลบหนี้แล้ว พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรเพิ่มเติม ที่ต้องคิดหนักคือประชาธิปัตย์ต่างหากครับ
เพราะการเดินแบบนี้ เท่ากับว่าโรดแมปของคสช. เกือบจะสมบูรณ์เต็มที่ เหลือจิ๊กซอว์อีกชิ้นเดียวครับคือพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป
พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นพรรคการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาหลาย 10 ปี มาวันนี้พลังประชารัฐเขาจะเข้ามาแทนที่ ไม่ใช่แทนธรรมดานะครับ แทนที่ 100%
เป็นไปได้ว่า ในใจคนคิดโรดแมปพลังประชารัฐ คิดจะดูดประชาธิปัตย์เข้าเป็นพรรคเดียวกันเสียด้วยซ้ำไป

นี่คือผลของการปฏิรูปที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ออกไปเป่านกหวีดคราวนั้นนั่นล่ะครับ

คือไปคิดกันเองว่าเขาจะยึดอำนาจ แล้วก็ทำเหมือนคณะของพล.อ.สนธิ ร่างกติกาเอื้อให้พรรคประชาธิปัตย์ แต่เที่ยวนี้ไม่ใช่อย่างงั้นสิครับ

เขาเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลกันเองอีกครั้งหนึ่ง นี่คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คาดคิดมาก่อน
.
แปลว่า อนาคตข้างหน้าคงสดใสสินะ?

แม้จะสะดุดขาตัวเองตุปัดตุเป๋ แต่ทฤษฎีการสมประโยชน์ของอำนาจ จะทำให้องคาพยพของฝ่ายอนุรักษ์นิยมฉุดกระชากลากถูถลอกปอกเปิกดึงกันไป

แต่อย่างไรก็ตาม มันก็จะหลีกเลี่ยงวันที่อำนาจกลับคืนสู่มือประชาชนไม่ได้
พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์จะกลายเป็นคู่ต่อสู้ ถ้าพลังประชารัฐเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ประชาธิปัตย์เล็กลงและอ่อนแอลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

แต่ก็ว่ากันไม่ได้นะครับ ทันทีที่พล.อ.ประวิตร เข้าพรรคพลังประชารัฐปั๊บ พลังดูดก็ทำงานทันที
พรรคการเมืองของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศยุบตัวเองหอบผ้าหอบผ่อนเตรียมหนีตามลุงป้อมเข้าพลังประชารัฐไป

นี่ธรรมดาซะที่ไหน ของเค้าแรงจริงๆ นะครับ
.
แต่ประชาธิปัตย์คุมทั้งพาณิชย์ ทั้งเกษตรฯ เชียวนะ?

เขาหมูซะที่ไหนล่ะครับ พลังประชารัฐไม่มีทางให้ประชาธิปัตย์บุกเดี่ยวเข้าไปยิงประตู
นายกฯ ลุงตู่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทุกอย่างที่รัฐบาลตัดสินใจขับเคลื่อน พลังประชารัฐเอี่ยวอย่างน้อยครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว ไม่เชื่อก็คอยดู’ณัฐวุฒิกล่าว

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"หมอเลี้ยบ" รับ เข้าพบ "อนุทิน" วิเคราะห์สถานการณ์ 30 บาท

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ "หมอเลี้ยบ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เลขาธิการพรรคพลังประชาชน และหนึ่งในกลุ่มคนเดือนตุลา โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


"30 บาทรักษาทุกโรค" ควรก้าวต่อไปอย่างไร (ตอนที่ 2) :
.
.............................
.
วิเคราะห์สถานการณ์ "30 บาท"
.
.............................
.
ผมจอดรถหน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนขึ้นลิฟท์ไปชั้น 4 เพื่อพบกับความทรงจำเมื่อ 16 ปีก่อน ที่ยังพอรื้อฟื้นได้บ้าง ไม่ลางเลือน
.
โครงสร้างของอาคารชั้น 4 ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่ดูสวยสดงดงามขึ้น ห้องทำงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ผมคุ้นเคยยังอยู่ตำแหน่งซ้ายมือ ห้องประชุมขนาดเล็กซึ่งนัดหมายกันอยู่ทางขวา ทีมงานของรัฐมนตรีอนุทินเชิญผมไปพบรัฐมนตรี และได้ทักทายกันเล็กน้อยก่อนเดินเข้าไปในห้องประชุม
.
กลางโต๊ะประชุม มีคน 2 คนนั่งเคียงกัน คนหนึ่งคือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อีกคนคือ นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้บริหารสูงสุดของ 2 องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
.
ผมนั่งข้างรัฐมนตรีอนุทิน ตรงข้ามผู้บริหารระดับสูงฝ่ายข้าราชการประจำทั้ง 2 คน พร้อมคิดทบทวนข้อเสนอที่ผมเตรียม "ทำการบ้าน" มาก่อน
.
.
..............................
.
.
ปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด หนีไม่พ้น 4 เรื่องหลักๆที่เป็นทฤษฎีพื้นฐานของการบริหาร นั่นคือ 4 M
.
1) "Man" แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขมีจำนวนน้อย ไม่พอรองรับการบริการผู้ป่วยซึ่งเพิ่มมากขึ้นทุกปี คนที่จบมาก็ไม่มีอัตรากำลังให้บรรจุ
.
2) "Money" งบประมาณมีน้อย ถ้าไม่ให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย สักวันต้องล่มจม ประเทศที่เขารวยกว่าเรา หลายประเทศก็ยังไม่มีระบบนี้ ส่วนประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขาเก็บภาษีแพงกว่าเรา 2-3 เท่า คนจนไม่ได้จ่ายภาษี จะเรียกร้องสวัสดิการอะไรกันนักหนา
.
3) "Material" เครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ที่มีอยู่ก็ไม่ทันสมัย ย้อนกลับไปเรื่องเงินอีกว่า มีไม่พอ จนต้องรบกวน "พี่ตูน" มาวิ่งระดมทุน
.
4) "Management" การบริหารจัดการมีปัญหา ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่หยุด รัฐมนตรีขัดแย้งกับปลัดกระทรวง แพทย์ชนบทขัดแย้งกับผู้บริหารกระทรวง ไม่มีนวัตกรรมทางการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาที่เห็นอยู่เลย
.
น่าเหนื่อยใจไหมครับ 
อดีตที่ผ่านมา แก้ปัญหาแบบ "ลิงแก้แห" ก็มักเป็นอย่างนี้
เกิดเรื่องตรงไหน ก็วิ่งโร่ไปดับไฟตรงนั้น
แล้วจะเอา "สติ" ที่ไหนมาตั้ง 
.
ที่จริงแล้ว ควรถอยห่างออกมาสักนิด 
แล้วมองกลับเข้าไปด้วยสายตาที่แจ่มใส ไม่มีอคติเคลือบแฝง
.
............................
.
ปฐมเหตุของปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่เรื่อง 4 M หรอกครับ
แต่เป็นเรื่องการเมือง จุดยืน และผลประโยชน์ล้วนๆ
.
ในบรรดาปัญหา 4 M เรื่องเงินเป็นปัญหาซึ่งถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยที่สุด และสร้างปัญหาให้แก่ M อื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่
.
ถามจริงๆเถอะว่า คนที่ออกมาบอกให้ผู้ป่วยในโครงการ "30 บาท" ร่วมจ่าย มีคนไหนบ้างที่ใช้สิทธิ "30 บาท" ผมเห็นมีแต่คนที่ใช้สิทธิ "ข้าราชการ" หรือสิทธิ "ประกันสังคม" ออกมาแสดงความเห็นทั้งสิ้น
.
ถ้าคุณบอกว่า สิทธิ "30 บาท" ต้องร่วมจ่ายเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติและความยั่งยืนของระบบ คุณก็ควรเรียกร้องให้สิทธิที่คุณใช้ ต้องร่วมจ่ายด้วยหลักเกณฑ์เดียวกัน
.
หรือจะให้ดีกว่านั้น เพื่อเข้าใจความทุกข์ของผู้ป่วยในระบบ "30 บาท" คุณก็ควรสละสิทธิเดิมของคุณ มาร่วมใช้สิทธิ "30 บาท" ด้วยกัน
.
กล้าไหม?
.
.............................
.
บางคนที่ใช้สิทธิ "ประกันสังคม" บอกว่า "ไม่ยุติธรรม เพราะผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน แต่คนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ดังนั้น ผู้ใช้สิทธิ "ประกันสังคม" ไม่ควรร่วมจ่ายเมื่อรักษาพยาบาลอีก"
.
ผมเห็นด้วยว่า ผู้ใช้สิทธิ "ประกันสังคม"ต้องไม่ถูกบังคับให้ร่วมจ่ายเมื่อรักษาพยาบาลอีก ซึ่งเช่นเดียวกับสิทธิ "30 บาท" และสิทธิ "ข้าราชการ"
.
แต่คำกล่าวที่บอกว่า "ไม่ยุติธรรม เพราะต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือนอยู่แล้ว" ผมมีข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้บางประเด็น
.
รัฐบาลจ่ายสมทบเงินประกันสังคมด้านสุขภาพ 1.5 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนมาตั้งแต่ต้น ถ้าคิดเฉลี่ยที่เงินเดือน 10,000 บาท เท่ากับรัฐบาลจ่ายเงินสมทบประกันสังคมด้านสุขภาพปีละ 1,800 บาทต่อคนอยู่แล้ว และตอนเริ่มโครงการ "30 บาท" เมื่อปี 2544 รัฐบาลจ่ายเงินงบประมาณระบบ "30 บาท" เพียง 1,270 บาทต่อคน ซึ่งน้อยกว่าที่สมทบในระบบ "ประกันสังคม"
.
แต่มาถึงวันนี้ รัฐบาลจ่ายเงินงบประมาณระบบ "30 บาท" ปี 2563 เท่ากับ 3,600 บาทต่อคน ซึ่งสูงเกินกว่าที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบด้านสุขภาพในระบบ "ประกันสังคม" (เพราะถ้าคิดเพดานสูงสุดที่เงินเดือน 20,000 บาท เท่ากับรัฐบาลจ่ายเงินสมทบด้านสุขภาพปีละ 3,600 บาท แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลย่อมสมทบน้อยกว่าเพดานสูงสุด) 
.
ดังนั้น เพื่อความยุติธรรม ผมเห็นด้วยว่า ระบบ"ประกันสังคม" ด้านสุขภาพควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณมากขึ้น และพัฒนาการบริการให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ด้วยการเรียกร้องให้ระบบ "30 บาท" ถอยหลังเข้าคลองไป
.
..............................
.
บางคนก็บอกว่า "คนชั้นกลางไม่ควรได้รับสิทธิ 30 บาท ควรไปซื้อประกันสุขภาพเอกชน"
.
ทุกวันนี้ ทราบไหมว่า คนชั้นกลางจำนวนมากยังพออยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพราะได้ระบบ "30 บาท" ยันหลังไว้ 
.
ถ้าเขาเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เขาจะไม่ไปโรงพยาบาลเพื่อใช้สิทธิ "30 บาท" เพราะเสียเวลามากในการทำมาหากิน 
.
มีตัวเลขว่า กว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเลือกไปซื้อยากับร้านขายยาใกล้บ้านก่อน เมื่อป่วยเรื้อรัง ไม่หาย จึงค่อยไปโรงพยาบาล และเมื่อป่วยด้วยโรคที่ทำให้ล้มละลายได้ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว ไตวาย มะเร็ง ฯลฯ ชนชั้นกลางจำนวนมากรอดชีวิตและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เพราะเข้ามาใช้บริการ "30 บาท"
.
ถ้าคุณป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ เบี้ยประกันสุขภาพจะสูงมาก และถ้าคุณป่วยด้วยโรคไตวาย ต้องฟอกไต หรือเป็นมะเร็ง ไม่มีบริษัทประกันสุขภาพไหนจะยินดีให้คุณซื้อประกัน
.
..............................
.
บ้างก็บอกว่า "พวกที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีพฤติกรรมสุขภาพแย่ พวกนี้ต้องร่วมจ่ายเสียให้เข็ด"
.
เรื่องความเจ็บป่วยไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนั้นหรอก อาจารย์แพทย์ที่ผ่านประสบการณ์มามากๆจึงสอนว่า "รักษาคนทั้งคน ไม่ใช่แค่ รักษาโรค" 
.
ปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน ความเป็นอยู่ เศรษฐฐานะ ฯลฯ ล้วนมีส่วนสำคัญทั้งสิ้น นี่ไม่นับว่า ความรู้ทางการแพทย์ก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา ความรู้ทางการแพทย์บางเรื่องกลับตาลปัตรเป็นตรงข้ามไปเลยก็มี
.
"รักษาคนทั้งคน" จึงไม่ใช่เพียงมองว่า เขาดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินดิบ
แต่ต้องถามว่า อะไรคือสาเหตุของพฤติกรรมสุขภาพนั้น 
จน เครียด กินเหล้า จริงไหม ทำไมถึงจน เพราะขี้เกียจหรือไร้โอกาส
ทุกอย่างมีที่มาที่ไปทั้งนั้น ตามหลักอิทัปปัจจยตา
.
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมรู้จักสูบบุหรี่มาทั้งชีวิต ทุกวันนี้ยังมีสุขภาพดี ไม่มีอาการแสดงว่าจะเป็นโรคมะเร็งปอดเลย
.
นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารสุขภาพ แต่เสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 55 ปี ด้วยโรคมะเร็ง ความเสี่ยงเพียงอย่างเดียวของนายแพทย์สงวนที่ผมพอนึกออกคือ ความเครียดจากการทำงานอย่างทุ่มเทของเขาตลอดชีวิตราชการ 
.
พฤติกรรมเสี่ยงแบบไหนล่ะ ที่เราควรฟันธงให้ร่วมจ่าย
ตอบแบบกำปั้นทุบดินไม่ได้ง่ายๆหรอก
.
.............................
.
พูดกันนักว่า "30 บาท" สร้างภาระขาดทุนให้โรงพยาบาล
.
แต่ทำไมไม่พูดบ้างว่า งบประมาณของระบบ "30 บาท" เป็นส่วนที่จ่ายเงินเดือนให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกคน 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อดูแลคนประมาณ 48 ล้านคน
.
แต่งบประมาณของระบบ "ข้าราชการ" และระบบ "ประกันสังคม"ที่ดูแลคนประมาณ 17 ล้านคน ไม่ได้จ่ายเงินเดือนของบุคลากรแม้แต่บาทเดียว
.
ผิดหลักการ Cost Allocation หรือไม่ นักบัญชีรู้ดี
ทำไมระบบ "30 บาท" รับผิดชอบเงินเดือนของบุคลากรในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขแต่เพียงฝ่ายเดียว
.
นี่ยังไม่นับว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวของระบบ "ข้าราชการ" สูงมาก จนสะท้อนได้ว่า ต้องมีปัญหาความคุ้มค่าของการบริหารงบประมาณเป็นแน่ เมื่อเทียบกับคุณภาพของการรักษาพยาบาลที่ได้รับ
.
...............................
.
ยังมีปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารต้นทุนยาและวัสดุการแพทย์สิ้นเปลือง
.
นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมและผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) คนแรก เล่าให้ผมฟังว่า ยาขับเหล็กที่ผู้ป่วยธาลัสซีเมียทาน เคยมีราคาสูงถึงเม็ดละ 60 บาท เมื่อองค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ เหลือเพียงเม็ดละ 2.50 บาท
.
ทำไมโก่งราคายากันได้ขนาดนั้น
.
เมื่อเร็วๆนี้ ผมมีโอกาสร่วมประชุมกับตัวแทนของกลุ่มเภสัชกร ก็ได้รับข้อมูลว่า เมื่อศึกษาราคายาขนานหนึ่งของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ พบว่า มีราคาตั้งแต่ 20 กว่าบาท ถึง ร้อยกว่าบาท
.
ทำไมแตกต่างกันได้ขนาดนั้น
...............................
.
ดังนั้น ก่อนจะถามว่า "เงินพอไหม" ต้องถามว่า "ใช้เงินเป็นไหม"
ไม่อย่างนั้น ทำไมคนรวยอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ เจฟฟ์ เบโซส์ จึงต้องจับมือกับบริษัท เจพี มอร์แกน ตั้งบริษัท Haven เพื่อหาทางลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่ไร้ประสิทธิภาพและมีต้นทุนแฝง โดยเริ่มต้นจากระบบประกันสุขภาพของพนักงานตนเอง แล้วค่อยขยายไปสู่คนกลุ่มอื่นต่อไป
.
ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพมีต้นทุนแฝงที่คนนอกวงการไม่รู้อีกมาก ถ้าเรามีข้อมูลเปิดมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะลดลงได้หลายเท่าตัว
...............................
.
วันนี้ ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่ 4 M แต่อยู่ที่ M ตัวที่ 5 นั่นคือ
.
"Mindset"
.
ถ้าเริ่มต้นก็บอกตนเองแล้วว่า ทำไม่ได้ คุณก็ไม่มีวันทำได้
แต่ถ้าเราเชื่อว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้น จะสร้าง "ปาฏิหารย์" ในชีวิตของคนไทย
เราจะคิดหาทางไปสู่ปาฏิหารย์นั้นได้เสมอ
เหมือนที่เราเคยทำกันไว้เมื่อ 18 ปีที่แล้ว
เมื่อเริ่มระบบ "30 บาท" ทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2544
แล้วกลายเป็นกรณีศึกษาของ สหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
.
................................
.
18 ปีที่แล้ว GDP ประเทศไทยเท่ากับ 3.7 ล้านล้านบาท
วันนี้ GDP ประเทศไทยเท่ากับ 15.6 ล้านล้านบาท
.
18 ปีที่แล้ว งบประมาณประจำปี 2544 เท่ากับ 9.1 แสนล้านบาท
วันนี้ งบประมาณประจำปี 2562 เท่ากับ 3 ล้านล้านบาท
.
18 ปีที่แล้ว เราใช้เทคโนโลยี 2G ส่งข่าวทาง SMS ผู้ป่วยมารอคิวตรวจรักษาตั้งแต่เช้าตรู่ และส่งต่อผู้ป่วยด้วยรายงานทางกระดาษ
.
วันนี้ เราใช้เทคโนโลยี 4G (ใกล้ 5G อยู่รอมร่อ) แชทกันด้วยไลน์ แสดงออกทางเฟสบุ๊ค แต่ผู้ป่วยยังมารอคิวตรวจรักษาตั้งแต่เช้าตรู่ และยังส่งต่อผู้ป่วยด้วยรายงานทางกระดาษ
.
18 ปีที่แล้ว เรามีโรงพยาบาลองค์การมหาชน 1 แห่งคือ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สมุทรสาคร เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีแพทย์ 3 คน
.
วันนี้ เรายังคงมีโรงพยาบาลองค์การมหาชนเพียง 1 แห่งที่บ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลขนาด 323 เตียง มีแพทย์กว่า 100 คน ปี 2560 มีรายรับ 1,569 ล้านบาท กำไร 52 ล้านบาท และตลอด 18 ปีนี้มีขาดทุนเพียงปีเดียว เพราะลงทุนขยายบริการ
.
ข้อมูลแบบนี้ สะกิดใจเราไหม
.
.
.................................
.
.
ผมทบทวนความคิดเกี่ยวกับข้อเสนอของผม ก่อนเอ่ยปากกับรัฐมนตรีอนุทิน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า
.
"เราอย่ามาเสียเวลาแก้ปัญหาปลีกย่อยกันเลย
ตามกฎของพาเรโต้ หรือ กฎ 80/20
เรามาทำส่วน 20 เปอร์เซ้นต์ที่จะส่งผลสะเทือนถึง 80 เปอร์เซ็นต์กันดีกว่า
เราควรทำสิ่งที่จะเกิด Butterfly Effect 
เหมือนที่เราเคยช่วยกันทำ "30 บาท" เมื่อ 18 ปีที่แล้ว 
ด้วยการปฎิรูประบบงบประมาณสาธารณสุขครั้งใหญ่
จนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาเป็นระลอกๆ
ถ้าใช้ศัพท์ทันสมัยวันนี้ก็คือ Disruption
.
วันนี้เรามา disrupt ระบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ทั้งระบบกันเถิด"
.
แล้วผมจึงกล่าวต่อว่า
"ผมมีข้อเสนอมานำเสนอทุกท่าน 3 ข้อ คือ...."
.
(ยังมีต่อ)
.
.
"30 บาทรักษาทุกโรค" ควรก้าวต่อไปอย่างไร (ตอนที่ 1) : 
ทำไมผมจึงไปนำเสนอข้อมูลเรื่อง "30 บาท" ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข