วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"สุดารัตน์" ลงพื้นที่อุดรธานี รับฟังปัญหาภัยแล้ง

เพื่อไทย ลงพื้นที่อุดรธานี จี้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินเยียวยาภัยแล้ง และเพิ่มเงินชดเชยเป็นขั้นบันได เอื้อเกษตรกรรายย่อยมีเงินลงทุนก่อนฝนตก ติงรัฐบาลรู้ตัวช้า แก้ปัญหาภัยแล้งไม่ทันการณ์



คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย, นาย ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมทั้ง ส.ส. จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ นายศราวุธ เพชรพนมพร, นายอนันต์ ศรีพันธุ์, นายขจิตร ชัยนิคม, นางอาภรณ์ สาราคำ, นางจุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์, นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น, นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม, นางเทียบจุฑา ขาวขำ, ส.ส. บึงกาฬ นายเชิดพงศ์ ราชป้องขันธ์, ส.ส. หนองคาย นายเอกธนัช อินทร์รอด และนายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์, ส.ส. หนองบัวลำภู นายสยาม หัตถสงเคราะห์ และนายณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี, ส.ส. สกลนคร นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย, นายพัฒนา สัพโส, และนางอนุรักษ์ บุญศล ร่วมรับฟังการบรรยาสถานการณ์น้ำในอำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ที่เขื่อนห้วยหลวงทุ่งนามน จากกำนันผู้ใหญ่บ้าน และรับฟังการสะท้อนปัญหาจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าน้ำแล้งไม่มีน้ำทำนา ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่ก็อยากให้มีการขุดลอกหนองน้ำทุ่งนามนเพื่อให้เก็บน้ำได้มากขึ้น เนื่องจากหนองน้ำเริ่มตื้นเขิน และอยากให้มีการพัฒนาหนองน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกับหนองประจักษ์ ซึ่ง ส.ส. ที่มาก็รับเรื่องเพื่อที่จะไปเข้าที่ประชุมสภาตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณางบประมาณในการขุดลอกหนองน้ำ และการผลักดันงบประมาณทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวขอบคุณประชาชนที่ไว้วางใจเลือก ส.ส. พรรคเพื่อไทย และตนเคยกล่าวอะไรไว้กับประชาชนตอนหาเสียงจำได้หมด แต่เสียใจที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาล ตนเห็นว่าปัญหาสำคัญที่สุดคือราคาพืชผลการเกษตร แล้วยังมาเจอภัยแล้งซ้ำ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยจะเข้าไปทวงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนจากรัฐบาลให้ได้ อีกทั้งจะยังช่วยเจรจาและหาวิธีทำให้ราคาสินค้าการเกษตรสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ส.ส. พรรคก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการราคาพืชผลการเกษตร เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยให้กับเกษตรกร วันนี้ตนมาให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากตนได้ยิน ส.ส. ในพื้นที่หลายคนสะท้อนปัญหาของประชาชนให้ฟังอยู่เสมอ

ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความรู้ในการจัดการกับภัยแล้ง กว่าจะประกาศพื้นที่ภัยแล้งก็ฝนตกนำ้ท่วมเสียแล้ว แต่ตนเชื่อว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำได้

หลังจากนั้น ชาวบ้าน และกลุ่มแม่บ้าน เข้ามากอด ถ่ายรูป และเล่าปัญหาความทุกข์ยากให้กับคุณหญิงสุดารัตน์ฟัง ก่อนที่คุณหญิงและคณะเดินทางไปดูระดับน้ำบนเขื่อนเก็บน้ำห้วยหลวง พร้อมฟังบรรยาจากสำนักชลประทานที่ 5 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี

คุณหญิงสุดารัตน์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการบริหารจัดการน้ำและการแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาลว่า ช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาน้ำแล้งจัดจนข้าวในนาหรือพืชไร่ต่างๆ ยืนต้นตาย และเพิ่งมีฝนในสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อฝนมาบางพื้นที่ก็น้ำท่วม พี่น้องประชาชนยากลำบากมากเพราะนอกจากจะประสบภัยแล้งแล้วยังโดนน้ำท่วมซัดสาด สำหรับจังหวัดอุดรธานีมีน้ำในเขื่อนแค่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ และกรมชลประทานเองก็ยังคาดเดาสถานการณ์ข้างหน้าได้ไม่ชัด หากฝนตกและสามารถเก็บน้ำในเขื่อนได้เพียงพอก็สามารถปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรได้ แต่ถ้าฝนตกแล้วไม่เข้าเขื่อนก็ต้องเก็บน้ำที่เหลือสำรองไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค ซึ่งหากถ้ารัฐบาลเชื่อตั้งแต่เมื่อสองสามเดือนก่อนที่พรรคเพื่อไทยออกมาเรียกร้อง และพูดความจริงกับประชาชนว่าพื้นที่ไหนไม่มีน้ำช่วยเหลือทางกาาเกษตรให้ก็ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติและให้เงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ต้องเสียแรง เสียเวลา เสียเงินในการลงทุนปลูกข้าวหรือพืชอื่นๆ แล้วเก็บผลไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำตาม จนตอนนี้นำ้เพื่อการเกษตรแทบจะไม่มีเลย และได้รับผลกระทบกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นพรรคจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินชดเชยภัยแล้งให้เร็วที่สุดภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพราะหากมีฝนตกช่วงปลายปี ประชาชนก็จะสามารถเอาเงินไปลงทุนผลิตอย่างอื่นได้บ้าง ข้อที่สองคือจากมติ ครม. ที่ผ่านมา จำนวนเงินชดเชยน้อยมาก ข้าวเพียง 1,113 บาทต่อไร่ ราคาใกล้เคียงกับพืชไร่ พืชสวนประมาณ 1,600 บาท และกำหนดเพดานการชดเชยที่ 30 ไร่ แต่ในความจริงทุกวันนี้เกษตรกรไม่ได้มีที่ดินเยอะขนาดนั้น มีเพียงแค่ 5-10 ไร่ต่อราย ดังนั้นพรรคจึงอยากเสนอให้ขยับเพดานการชดเชยเป็นขั้นบันได เช่น 5-10 ไร่แรก ชดเชย 2,500 บาทขึ้นไป เพราะข้าวแต่ละไร่ต้นทุนสามพันกว่าบาทแล้วไม่รวมค่าปุ๋ยค่ายา และเลย 10 ไร่ขึ้นไปจึงค่อยลดเงินค่าชดเชย ไม่เช่นนั้นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินเพียง 5 ไร่ก็จะได้เงินชดเชยเพียง 5,000 บาท แทบจะเอาไปทำอะไรไม่ได้เลย ทั้งนี้ พรรคจะให้ ส.ส. ไปตั้งกระทู้ถามในสภาถึงระยะเวลการชดเชย เพราะหากชดเชยช้ากว่านี้ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ทันลงทุนใหม่ ถ้าฝนมา และให้เงินชดเชยเป็นขั้นบันได เพื่อให้เกษตรกรต่อรายได้เงินอย่างน้อยหนึ่งหมื่นบาท คุณหญิงสุดารัตน์ยังกล่าวย้ำว่า ขอให้รัฐบาลเร่งรัดและเอาจริงเอาจังในการลงพื้นที่มาดูปัญหาภัยแล้ง แม้ตอนนี้จะฝนตกแล้ว แต่ความเสียหายจากภัยแล้งเกิดขึ้นไปแล้ว จะอ้างว่าฝนตกไม่มีภัยแล้งแล้วก็ไม่ได้ และสำรวจไปแล้วแต่ยังไม่จ่ายเงิน

“ฝนตกแล้ว ข้าวที่ตายไปแล้วก็ฟื้นคืนไม่ได้...วันนี้เป็นข้อเรียกร้องเป็นครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ของพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็หวังว่ารัฐบาลจะฟังนะคะ”

นอกจากนี้ชาวบ้านยังสะท้อนปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ยางพารา และข้าว ประชาชนบอกว่าแม้วันนี้จะบอกว่าข้าวราคาสูงขึ้น แต่ก็ไม่มีข้าวขายเพราะเสียหายจากภัยแล้งไปหมดแล้ว รัฐบาลจึงต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเดือดร้อน

ด้านนายขจิตร และ ส.ส. ในพื้นที่ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนเก็บน้ำห้วยหลวงที่ปล่อยน้ำหนองน้ำทุ่งนามนต์ และแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมอื่นๆ ปีนี้มีน้ำเหลือ 28 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยลงกว่าปีที่แล้ว 3 เท่า ทั้งที่มีความจุสูงสุดถึง 135 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากฝนแล้งกว่าทุกๆ ปี ขณะที่ต้องปล่อยน้ำออกวันละ 200,000 ลบ.ม. แต่มีน้ำเข้าเขื่อนเพียงวันละ 100,000 ลบ.ม. จังหวัดอุดรธานียังไม่การประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง และชาวบ้านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งพวกตนจะไปเร่งรัดติดตามในสภาเร็วๆนี้ นอกจากนี้ยังมีแนวทางแก้ปัญหาน้ำแล้งอย่างยั่งยืน คือ โครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาสู่แม่น้ำเลย-ชี-มูล เนื่องจากเขื่อนนี้รับน้ำจากสันเขาอำเภอหนองวัวซอ และจังหวัดหนองบัวลำภู ดังนั้นโครงการนี้จะทำให้หลายจังหวัดที่ผันน้ำผ่านหมดปัญหาไม่มีน้ำสำหรับการเกษตรและน้ำประปา และจะสามารถทำนาปรังได้ โดยจะต้องร่วมมือกับรัฐบาลทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป

จากนั้นคุณหญิงสุดารัตน์และคณะเดินทางไปศูนย์เรียนรู้กลุ่มผ้าทอโบราณบ้านโนนกอก เพื่อเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในช่วงเย็น







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น