นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี "หมอเลี้ยบ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เลขาธิการพรรคพลังประชาชน และหนึ่งในกลุ่มคนเดือนตุลา โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
"30 บาทรักษาทุกโรค" ควรก้าวต่อไปอย่างไร (ตอนที่ 1) :
......................................................
.
ทำไมผมจึงไปนำเสนอข้อมูลเรื่อง "30 บาท" ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
.
......................................................
.
ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ข่าวคราวเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นข่าวที่มี "อารมณ์ข่าว" แตกต่างไปจากหลายครั้งที่ผ่านมา
.
4-5 ปีก่อนหน้านี้ เราได้รับฟังแต่ปัญหาของนโยบาย 30 บาท ในเรื่องงบประมาณไม่พอบ้าง ต้องให้มีการร่วมจ่ายเมื่อเจ็บป่วยบ้าง (ซึ่งไม่มีการลงรายละเอียดว่า จะให้ร่วมจ่ายอย่างไร เท่าไร) ผู้ป่วยมารักษาพยาบาลจนแออัดทั้งตึกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในบ้าง ความขัดแย้งระหว่างแพทย์ พยาบาลกับผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินบ้าง
.
สารพัดปัญหาเหล่านั้น ทำให้เกิดการโยนหินถามทางว่า ควรยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้อยู่หรือไม่ แต่คนที่โยนหินก็กล้าๆกลัวๆ สองจิตสองใจ ไม่มั่นใจว่าควรทำอย่างไรต่อไป
.
ผมรับฟัง "ข่าวร้าย" ด้วยความรู้สึกหดหู่และหงุดหงิด แต่ก็บอกกับตนเองว่า "ปล่อยวางเถอะ เราได้ทำสิ่งที่เราควรทำแล้ว เดี๋ยวนี้และต่อจากนี้ ปล่อยให้เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ ให้เขาทำต่อไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนเถิด ใครทำอะไรก็ย่อมได้รับผลของการกระทำนั้น"
.
....................................
.
หลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนตุลาคม 2545 ผมไม่ได้กลับไปที่กระทรวงสาธารณสุขอีกเลย ส่วนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมมีโอกาสไปร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 2 ครั้งในช่วงเวลา 16 ปี
.
ผมติดตามและเอาใจช่วยการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเริ่มต้นอย่างมีชีวิตชีวาในยุคของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต่อเนื่องมาถึงยุคของนายแพทย์วินัย สวัสดิวร แต่ผมเริ่มรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับปัญหาที่เริ่มผุดโผล่ขึ้นมาในช่วงหลัง ซึ่งบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบ
.
สื่อมวลชนหลายแขนงทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ มาขอความเห็นผมเมื่อใด ผมก็แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและระมัดระวัง ไม่ข้ามเส้น ไม่ทำให้ใครคาดการณ์ไปได้ว่า ผมจะหวนกลับมาผลักดัน 30 บาทอีกครั้ง
.
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบางท่านเอ่ยปากเมื่อมีโอกาสพบกันว่า อยากให้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมรับปากด้วยความยินดี แต่เมื่อท่านไม่นัดหมาย ผมก็ไม่ขวนขวายขอเข้าพบแต่อย่างใด
.
........................................
.
วันนี้ ผมเป็นประชาชนที่อยู่ในวรรณะ "จัณฑาลทางการเมือง" มีเพียงสิทธิในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต แต่ผมก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ แต่กลับสบายใจที่ไม่ต้องหาเหตุผลมาตอบมิตรสหายที่แวะเวียนมาสม่ำเสมอเพื่อชักชวนเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง
.
ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
ผมไปโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559
ผมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
ผมสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมืองกันให้มากๆ
ผมไปลงคะแนนในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ด้วยการเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ตามแนวทาง "เลือกอย่างมียุทธศาสตร์"
และผมไม่เห็นด้วยการสืบทอดอำนาจ
.
แต่ผมก็ไม่ยอมเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพังทลายลงต่อหน้าต่อตา โดยนิ่งดูดาย ไม่ทำอะไร
.
ดังนั้นเมื่อทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ติดต่อมาว่า รัฐมนตรีอยากแลกเปลี่ยนความคิดเรื่อง 30 บาท ผมจึงตอบรับ (แต่ก็แอบคิดไม่ได้ว่า คงไม่ตั้งใจนัดหมายจริงจังเหมือนรัฐมนตรีท่านก่อนๆนั่นแหละ)
.
ในวันแรกที่พบกัน ผมเล่าความคิดเห็นของผมอย่างคร่าวๆ คุณอนุทินตั้งใจฟังและจดประเด็นสำคัญๆในสมุดบันทึกไปด้วย ผมเอ่ยปากชัดเจนในวันนั้นว่า ผมพร้อมให้ความเห็นทั้งในที่ประชุมย่อย ที่ประชุมใหญ่ และในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผมพูดกี่ครั้งก็จะพูดเหมือนเดิม เพราะหลักการที่ถูกต้องของระบบ 30 บาทไม่เคยเปลี่ยนแปลง
.
แต่เงื่อนไขสำคัญที่ผมแจ้งคุณอนุทินไปคือ
"ผมไม่ใช่ทีมงานของท่าน ผมไม่รับตำแหน่งใดๆ ไม่รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานใดๆ ไม่รับเบี้ยประชุม ไม่รับค่าเดินทางหรือค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น"
.
"ผมมาในฐานะประชาชนชื่อ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่อยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พัฒนาไปอย่างยั่งยืน เป็นกำแพงพิงหลังให้ผู้ทนทุกข์ ไม่มีใครต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย และเป็นแบบอย่างที่งดงามให้กับองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศ"
.
หลังจากนั้น ทีมงานรัฐมนตรีติดต่อประสานงานกับผมอีกหลายครั้ง จนผมรู้สึกได้ว่า "คราวนี้ รัฐมนตรีฯท่าจะเอาจริงแฮะ" และนำไปสู่การนัดหมายครั้งที่ 2 เพื่อให้ผมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
.
วันที่ 2 สิงหาคม 2562 ผมจึงขับรถเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความตื่นเต้น เพราะเป็นการเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุขครั้งแรกในรอบ 16 ปี
.
(ยังมีต่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น