พรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องให้ประธานคณะกรรมาธิการ. ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามตรวจสอบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการทางวินัยและออกคำสั่งให้ พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่? จากกรณีโดนรองอธิบดีร้องเรียนว่าใช้สื่อของรัฐช่วยพรรคการเมืองหาเสียง
พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือของพรรคเพื่อไทย ซึ่งลงนาม โดย นาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค ต่อ พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. ปปช) เพื่อให้ติดตามกำกับว่ารัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และจะออกคำสั่งให้ พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นคำร้องไว้ก่อนหน้านี้กับ นาย เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเห็นว่าคำร้องของอดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือในการช่วยพรรคการเมืองหาเสียงและประเด็นการทุจริตอื่น ๆ นั้น ถือว่ามีมูลและมีน้ำหนัก จัดเป็นพยานบุคคลชั้นดี ที่รัฐบาลต้องรับฟังและให้ความสำคัญกับข้อมูลดังกล่าว เพราะผู้ร้องเรียนเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรดังกล่าวย่อมต้องทราบข้อเเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบต่าง ๆ
แต่ถ้า พล.ท. สรรเสริญ ยังนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อยู่ ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน เพราะคณะกรรมการสอบสวนอาจเกรงใจ พล.ท. สรรเสริญ เพราะเป็นนายทหารระดับสูงที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจในรัฐบาลและเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคณะรัฐประหาร ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นคนแต่งตั้ง พล.ท.สรรเสริญ เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เองกับมือ โดยใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ดังนั้น กรรมการสอบสวนก็อาจไม่กล้าตรวจสอบ พล.ท สรรเสริญ อย่างเต็มที่ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงเกรงว่ากระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของรัฐบาลจะไม่มีความเที่ยงธรรม หรืออาจมีคนในรัฐบาลแอบช่วยเหลือกันก็เป็นได้
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงต้องการใช้กลไกของรัฐสภา คือ คณะกรรมาธิการ ปปช. เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลซึ่งจะเป็นการแสดงให้สังคมเห็นว่าประชาชนจะสามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างไร กล่าวโดยสรุปคือ นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสื่อ มีอำนาจพิจารณาดำเนินการทางวินัยอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้บังคับบัญชา ตาม มาตรา 101 ของ พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ในขณะที่ คณะกรรมาธิการ ปปช. สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล
ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เลือกใช้ทุกช่องทางเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการในประเด็นนี้ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวใด ๆ กับ พล.ท. สรรเสริญ หากท่านพิสูจน์ตนเองได้ว่าบริสุทธิ์ ก็สามารถกลับเจ้ารับราชการได้ ทั้งนี้ การให้ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่มากเกินไป เพราะตามปกติ ก็มีการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการที่ถูกร้องเรียนออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ต่อการสอบสวน เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงน่าจับตามองว่าในกรณีของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ และผู้มีอำนาจหลายคนในรัฐบาลจะได้รับอภิสิทธิ์เหนือบุคคลอื่น หรือมีเส้นใหญ่กว่าข้าราชการทั่วๆ ไป หรือไม่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น