เมื่อวันจันทร์ผมไปเดินแถวเขตบางซื่อ แวะไปหลายที่ ตั้งแต่ แยกประชานุกูล ศูนย์สาธารณสุข 19 ชุมชนตึกแดง ตลาดเตาปูน ช่วงบ่ายๆแวะไปชุมชนวัดเซิงหวาย ซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 21 ที่วิถีชีวิตของชุมชนเริ่มเปลี่ยนไปพร้อมๆกับการมาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ปากซอย ขณะที่ผมกำลังคุยกับร้านขายอาหารตามสั่งปากซอย มีพี่ผู้หญิงเข็นรถเก็บขวด กระดาษผ่านไป พี่เขาดูไม่เหมือนคนเก็บของเก่าที่เราเคยเห็น ผมเลยเข้าไปคุยด้วย
พี่โปอายุ 61 เพิ่งออกจากโรงงานเย็บผ้าใกล้ๆเมื่อปีที่แล้ว สามีไม่สบาย เป็นถุงลมโป่งพอง พี่เขาต้องดูแลใกล้ชิดจึงทำงานประจำไม่ได้ ต้องออกไปเก็บขวด กระดาษ พลาสติก ทุกคืนตั้งแต่สามทุ่ม บางคืนเก็บถึงตีสี่ กว่าจะได้กลับบ้าน แล้วบ่ายๆเอาออกไปขายที่ร้านรับขายของเก่าที่ซอย 18 ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามห่างไปสักเกือบกิโลเมตร
ผมสนใจเรื่องขบวนการ recycle ขยะ เลยอาสาพี่โปเข็นรถไปที่ร้านรับซื้อของเก่าให้ ตอนแรกคิดว่าง่ายๆ แต่พอเข็นจริง ไม่ง่ายเพราะรถเยอะ วิ่งเร็ว บางจุดมีรถจอดริมถนน ขนาดผมยังรู้สึกว่ายาก และ อันตราย ไม่ต้องพูดถึงคนอายุ 61 และต้องเข็นหาของทั้งคืน
เข็นไปถึงร้านรับซื้อของเก่า คุยกับพี่เจ้าของร้าน บอกว่าราคารับซื้อของทุกอย่างลดลงมาก เป็นเพราะสินค้าใหม่ราคาถูกจากจีนมาตีตลาด ทำให้ราคารับซื้อวัสดุเพื่อไป recycle ถูกลงด้วย ชั่งน้ำหนักเสร็จ พี่โปได้ตังค์ 205 บาท พี่เขาพูดยิ้มๆว่า ได้ค่ากับข้าวแล้ว
ในอนาคต เราจะเจอคนแบบพี่โปมากขึ้น คนที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต แต่พอเกษียณแล้ว ไม่มีเงินเก็บและไม่มีรายได้มากพอที่จะดำรงชีวิตได้เหมือนตอนที่ยังมีรายได้ พี่โปยังโชคดีที่ยังสามารถพอหารายได้บ้างในตอนนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปได้อีกนานแค่ไหน
เรื่องนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาแต่จริงๆแล้วสะท้อนปัญหาหลายอย่างของกรุงเทพ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง คุณภาพชีวิตในชุมชน ความเหลื่อมล้ำ การทำมาหากิน การเดินทาง การจัดการขยะ ทุกปัญหานับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น