ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง เดินทางมาร่วมงานเสวนาวิชาการ “เงื่อนไขและข้อจำกัดทางกฎหมายและการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560” ณ บัณฑิตวิทยาลัย โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยมีนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก
นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า "เรื่องรัฐธรรมนูญ ความจริงเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก โดยเฉพาะหากท่านที่ไม่ได้ติดตามมาแต่แรก จะสังเกตว่ามีการพูดคุยในเรื่องนี้มากขึ้น โดยในช่วงหลังมีหลายเวทีในหลายมิติ มีความรับรู้เรื่องรัฐธรรมนูญมากขึ้น ประเด็นจึงสามารถพูดได้ในเรื่องที่เป็นปัญหาและได้รับความสนใจมากขึ้น"
“รัฐธรรมนูญนี้ แปลกที่ประกาศใช้ ปี พ.ศ. 2560 แล้วเรื่องนี้ยังเป็นที่พูดคุยกันอยู่ว่า เนื้อหารัฐธรรมนูญ เป็นแบบนี้หรือ?”
นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า "ในระหว่างที่มี คสช. อยู่ เราปกครองบริหารประเทศเหมือนเราไม่มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเอามีอำนาจตามมาตรา 44 ที่จำกัดเสรีภาพ ใครพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญก็พูดกันไม่ค่อยได้ และช่วงใกล้ประชามติผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็แสดงความเห็นไม่ค่อยได้ จะมีแค่สถานีโทรทัศน์ไม่กี่ช่องที่ได้ออกอากาศและก็ออกเพียงข่าวสั้นๆ แต่ข่าวที่มีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญตลอด คือ เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญนี้ดีอย่างไร ประชามติควรให้ผ่านเพราะอะไร เพราะถ้าไม่ให้ผ่าน บ้านเมืองก็ชะงักไป อะไรแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้มีว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร? สองปีที่ผ่านมา สังคมไทยก็ผ่านรัฐธรรมนูญไป โดยที่ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาอย่างไร และก็อยู่กันมาจนรู้สึกว่า มีรัฐธรรมนูญแล้วก็เห็นว่า ก็ไม่เห็นจะต่างอะไรจากก่อนหน้านั้น"
"จนกระทั่งมามีการเลือกตั้ง และมีการตั้งรัฐบาล เราก็จะค้นพบกันว่า ทำไมเราเลือกพรรคนี้ไป ได้เสียงมาก แล้วทำไมเราไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำไมรวมเสียงพรรคการเมืองแล้วตั้งรัฐบาลไม่ได้ เราก็พบว่ามี ส.ว. 250 คน บางคนบอก ส.ว. เขาต้องลงมติยก 2 ไม่ใช่หรือ? หมายความว่า สภาฯ เลือกกันไม่ได้แล้ว ส.ว.ถึงมาลงมติ คนที่ติดตามการเมืองมากๆยังเข้าใจอย่างนี้ไม่น้อย ผมบอกว่าไม่ใช่ เขาลงกันตั้งแต่รอบแรก ลงมติเลือกนายกฯตั้งแต่รอบแรก เขาถึงเข้าใจกันว่าเป็นอย่างนี้ ในระหว่างนั้น พรรคการเมืองเล็กๆ ก็ได้เสียงกันขึ้นมา ได้เปลี่ยนดุลคะแนนของพรรคการเมือง ในรัฐธรรมนูญนี้ ทำให้พรรคใหญ่ ได้เสียงน้อยโดยอัตโนมัติ โดยตัวชี้ขาดให้เขาได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้มาจาก ส.ส. แต่ได้มาจาก ส.ว. 250 เสียง"
นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวเพิ่มเติมว่า "การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาเน้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่มีอำนาจอยู่ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญก็คือ คสช. ต้องมีอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นระบบให้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เขตมาก กลายเป็นเสียงข้างน้อย ที่สำคัญมันกระทบหลักใหญ่ที่ประชาชนเข้าใจทั่วโลกเข้าใจ ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับระบบ ส.ส.เขต"
นายจาตุรนต์ ตอบคำถาม ในประเด็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดกับบริบทของประเทศไทย ณ วันนี้? ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในขณะนี้และในอนาคต"
"รัฐบาลนี้ไม่ปรับตัวตามเสียงเรียกร้องของประชาชน เพราะว่าเสียงสนับสนุนแท้จริงมันคือเสียง 250 ส.ว." นายจาตุรนต์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น