วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

'วันนอร์' ย้ำ 'ประชาชาติ' คือพรรคการเมืองของประชาชน


นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เปิด 'งานครบรอบ 1 ปีวันสถาปนาพรรคประชาชาติ' เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ โรงแรม ซีเอส ปัตตานีอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พร้อมทั้ง ระบุว่า พรรคประชาชาติ รักประชาธิปไตยเคารพกติกาและประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเชื่อว่าประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งสันติ มีผู้นำทางการเมืองที่มีจิตสำนึกและเข้าใจวัฒนธรรมของความเป็นประชาธิปไตยและต้องไม่คิดว่าแผ่นดินนี้เป็นของคนเพียงคนเดียว หรือ กลุ่มเดียว หรือ คิดเพียงแค่ประชาชนเป็นลูกจ้างและผู้พลอยอาศัย อีกทั้ง ทำทุกอย่างตามอำเภอใจและไม่แยแสต่อความรู้สึกของผู้อื่น นอกจากนี้ พวกอำนาจนิยมเผด็จการมักจะไม่ยอมรับรู้ระบบการปรึกษา การพึ่งพา การแบ่งปัน ฯลฯเพราะผู้นำลักษณะนี้จะเชื่อว่าวิถีชีวิตจริงต้องอยู่ภายใต้คำสั่ง หรือ อำนาจของตน ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังย้ำให้ผู้บริหารและสมาชิกภูมิใจความเป็น 'ประชาชาติ' และบุคคลที่ประชาชนเลือก หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประชาชาติ ต้องกล้าหาญที่จะสะท้อนปัญหา หรือ สาระทุกข์สุขดิบของประชาชน มีความองอาจที่จะตรวจสอบรัฐบาลตามภารกิจหน้าที่และต้องคิดถึงประชาชนเป็นสำคัญ


พรรคประชาชาติ เป็นพรรคที่ประกอบด้วยสมาชิกต่างชาติพันธุ์ หลากหลายวัฒนธรรม แต่เรามีอุดมการณ์ร่วมกัน คือ การเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์และเชื่อว่าทุกคนมีค่ามีความหมายมีความดีงาม ตลอดจน มีความปรารถนาดีที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน เห็นคุณค่าของความแตกต่าง มีการแบ่งปันพึ่งพาและพร้อมที่จะร่วมกันสร้างสังคมสันติสุข

     
นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทายังได้ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ที่หดหู่ไว้ 3  ประการ ประกอบด้วยประการที่หนึ่ง  พรรคการเมืองก่อนวันเลือกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ไม่เอาพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและฝ่ายที่มีนโยบายเสนอ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังเลือกตั้งมีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่เคยปฏิเสธ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้รับการเลือกตั้งเป็นกอบเป็นกำได้ลงมติสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่แถลงเหตุผลต่อประชาชนและปรากฏการณ์นี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ 'ไร้สัจจะและบกพร่องทางจริยธรรม'  สร้างความคับข้องใจและสับสนให้แก่ประชาชน ประการที่สอง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาผู้รับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 และได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่เลือกที่จะหยิบและอ่านข้อความที่เขียนใส่กระเป๋าเสื้อตัวเองมาอ่านและเป็นข้อความที่ไม่เหมือน หรือ แตกต่างจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและเมื่อมีคนทักท้วงกลับไม่แยแส ไม่สนใจ หรือ ไม่ตอบข้อสงสัยและการประพฤติตนของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าเป็น 'ประชาธิปไตยนอกนอกรัฐธรรมนูญ' เพราะผู้นำไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประการที่สาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำที่มีลักษณะปกปิดซ่อนเร้นเลื่อนลอย เช่นไม่มีความชัดเจนเรื่องคุณสมบัติว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและยังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่แสดงที่มาของงบประมาณตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญและขัดสาระสำคัญ มักแสดงอารมณ์เพื่อกลบเกลื่อนเบี่ยงเบนประเด็น เลี่ยงความจริงและปรากฏการณ์ เช่นนี้ สามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า'ประชาธิปไตยมืดคล้ำจริยธรรมอำพราง'

     
นอกจากนี้ นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังกล่าวด้วยว่า ได้มีเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นแล้ว กล่าวคือ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมพบพี่น้องประชาชน ณ จังหวัดปัตตานีและในที่สุดได้มีทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของ กอ.รมน.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจณสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี พร้อมทั้ง กล่าวหาว่า การปราศรัยบนเวทีในวันที่ 28 กันยายน 2562 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งหมายถึง การยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ กระด้างกระเดื่องเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและความผิดนี้ท้ายที่สุดอาจจะต้องติดคุก หรือ ประหารชีวิต หรือ จะเป็นประการใดไม่มีใครรู้และพรรคประชาชาติไม่ต้องการให้เหตุการณ์ ข้างต้น จบ หรือ ลงเอยเหมือนกับ 'ท่านหะยีสุหลง' นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวปัตตานีที่ถูกข้อหากล่าวหาว่า เป็นกบฏจากการที่เรียกร้องความเสมอภาค เสรีภาพทางศาสนาและการศึกษา อีกทั้ง ถูกเรียกไปชี้แจงและหายสาบสูญไปพร้อมกับผู้ติดตามเป็นเวลา 60 ปีแล้ว แต่ยังหาศพท่านไม่พบ


เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 ทำให้ประชาชนที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านตกใจกลัว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างความฮึกเหิมให้กับฝ่ายเผด็จการ เพราะได้สร้างให้เกิดความหวาดกลัวจากการแจ้งความอันเป็นเท็จ แต่อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค ก็มีจุดยืน พร้อมทั้ง ได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐฐานแจ้งความเท็จไว้ด้วยและในฐานะที่เป็นเจ้าของบ้าน นาย วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ได้กล่าวว่ารู้สึกอับอายที่เพื่อนฝ่ายประชาธิปไตยไปเยี่ยมบ้าน ไปพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับข้อหา หรือ คดีกลับบ้านไปเป็นของฝากทดแทนการกลับไปและไปบอกกับเพื่อนๆและครอบครัว ว่า สามจังหวัดใต้น่าอยู่ คนน่ารักและน่าไปเที่ยว แต่การกระทำ ข้างต้น ทำให้คนภูมิภาคอื่นๆเข้าใจว่าพื้นที่สามจังหวัดเป็นพื้นที่น่าเป็นห่วง หรือ เป็นพื้นที่หวงห้าม เป็นเขตของการค้าความขัดแย้ง คนภายนอกห้ามไปเยี่ยมเยือน หรืออาจจะหมายรวมถึงว่า พวกประชาธิปไตยห้ามเข้าสาม จังหวัด เพราะกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกแบ่งแยกและถูกปกครองเป็นพิเศษ มีการใช้กฎหมายหลายฉบับที่ไม่ใช้ในพื้นที่อื่นของประเทศและการกระทำ ดังกล่าว  ถือเป็นการกดหัวประชาชนและหลายคนถูกกล่าวหาว่า เป็น 'พวกแบ่งแยกดินแดน' ซึ่งเป็นวาทกรรมของคนที่ชอบ 'เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น' และการใช้กฎหมาย หรือ กระบวนการยุติธรรมและเงื่อนไขพิเศษที่ปฏิบัติต่อประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ถือเป็นการแยกพื้นที่ของสามจังหวัดภาคใต้ออกจากพื้นที่อื่นๆของประเทศ

     
อนึ่ง เรามีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีกฎหมาย มีศาล มีสภาไว้อ้างความชอบธรรม แต่ในทางปฏิบัติ เรามีบรรยากาศทางการเมืองที่มีลักษณะเป็น 'แบบเผด็จการ' ข้อบัญญัติทั้งหลาย มีไว้บังคับประชาชนบางจำพวก บางกลุ่มที่ไม่ใช่ฝ่ายตน แต่หากเป็นฝ่ายตนจะใช้สิทธิ์เหนือระเบียบ หรือ กติกาซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ที่ระบุไว้ว่า 'ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ประชาชนชาวไทยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน' 
       
'การที่มีผู้พิพากษาจังหวัดยะลารายหนึ่งยิงตัวเองหน้าบัลลังก์ศาลเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแทรกแซงคำวินิจฉัยเป็นเหตุการณ์หนึ่งบ่งบอกถึงความดำมืดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องได้รับการแก้ไข'


นอกจากนี้ นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังได้ระบุว่า พรรคประชาชาติ ยังได้เสนอนโยบายเพื่อสร้างสรรค์ หรือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมกับยกตัวอย่างข้อเสนอซึ่งถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญสำคัญไว้รวม 5 ประการ อาทิ การขุดคลองไทยเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคทั่วประเทศและในเบื้องต้นได้ให้ความสำคัญ หรือ เน้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นวาระเร่งด่วน  การกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่นทุกระดับ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและทันสมัย การเยียวยาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้เท่าเทียมกับประชาชนในภูมิภาคอื่น เป็นต้นเพื่อแก้ปัญหาของชาติ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
   
นอกจากนี้ พรรคประชาชาติยัังไม่เห็นด้วยกับมาตรการแก้ไขเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล เช่น โครงการชิมช็อปใช้ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด
     
อนึ่ง พรรคประชาชาติ เป็นพรรคการเมือง ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ พรรคประชาชาติจะให้การสนับสนุน แต่สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ พรรคประชาชาติและพรรคฝ่ายค้านในฐานะที่เป็นผู้แทนของประชาชนก็ต้องตั้งข้อสังเกต หรือ คัดค้านและต้องกระตุก หรือ กระตุ้นให้รัฐบาลกระทำให้เป็นไปอย่างถูกต้องและการเป็นฝ่ายค้านมิได้หมายความว่าเป็น 'ผู้แพ้' แต่เรามีหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อประชาชนและต้องเคารพกฎกติกา เคารพคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่า เรา (พรรคฝ่ายค้าน) จะดำเนินการทางการเมืองโดยไม่สนับสนุนพวกสืบทอดอำนาจและพร้อมที่จะทำงานกับทุกฝ่ายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ตามอุดมการณ์และจุดยืนของพรรคการฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคประชาชาติ" นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวในที่สุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น