วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

"หมวดเจี๊ยบ" ติง 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย ไม่คุ้มค่า

โครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย และเที่ยววันธรรมดาราคาช็อคโลกของรัฐบาลประยุทธ์ จะล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ โครงการ ชิม ช็อป ใช้ และ ถือเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า ทั้งนี้ รัฐบาลประยุทธ์ควรดูวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจของ ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ที่เน้นลดรายจ่ายและหารายได้เข้าประเทศด้วยการส่งออก แต่ไม่เน้นแจกเงิน 


ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย และเที่ยววันธรรมดาราคาช็อคโลกของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งใช้งบประมาณจาก งบกลาง จำนวน 116 ล้าน บาท รวม 2 โครงการ จะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างเป็นรูปธรรมและถือเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะ มาตรการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทยที่เริ่มโครงการในวันนี้ เป็นเพียงโครงการประชานิยมที่ไม่ได้สร้างกำลังซื้อให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังไม่มีผลต่อการกระตุ้น GDP เพราะการเพิ่ม GPD จากรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ต้องทำโดยการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ไม่ใช่ด้วยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ทักท้วงเรื่องนี้ แล้ว โดยชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของโครงการชิมช็อปใช้ทั้ง 2 เฟส ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวได้ตามเป้า เพราะคนส่วนใหญ่เลือกใช้สิทธิ์ซื้อของกินของใช้มากกว่าไปเที่ยว เม็ดเงิน 10,667ล้านบาท ที่รัฐบาลเทลงไปจึงไหลไปสู่ภาคการท่องเที่ยวเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์หรือ ราว 141 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลเองก็ยอมรับว่ารายได้ในส่วนของการท่องเที่ยวนั่นต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่รัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่เข็ดและยังจะทำผิดซ้ำซากอีก ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลประยุทธ์ขาดความระมัดระวังในการใช้เงินงบประมาณของประเทศ และลงทุนด้วยความเสี่ยง โดยไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเลยว่าผลตอบแทนจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ใช้ไปหรือไม่ เพราะรัฐบาลย่อมไม่รู้ล่วงหน้าว่าประชาชน 40,000 ราย ที่จะใช้สิทธิ์ในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวดังกล่าว จะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างไร แล้วรัฐบาลจะคำนวณผลตอบแทนที่จะกลับเข้ามาในระบบเศรษกิจได้อย่างแม่นยำได้อย่างไร 

นอกจากนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวก็มีสัญญาณไม่ดีเลยโดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภาพรวม ก็ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตลอด ภายหลังการรัฐประหาร โดยข้อมูลของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภาพรวม ประจำเดือน ต.ค 62 อยู่ที่ระดับ 46.3 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 แปลว่าคนไทย ไม่กล้าใช้จ่าย เพราะมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี แล้ว พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไปพกเอาความมั่นใจจากไหนมา ทำไมถึงคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวทั้ง ๆ ที่  คนไทยกำลังท้อแท้สิ้นหวัง มีคนตกงานเป็นแสน ๆ คน และเป้าหมายการส่งออกก็หดตัว ทั้งยัง มีข่าวคนฆ่าตัวตายหนีหนี้รายวัน นอกจากนี้ เพื่อความโปร่งใสของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลต้องแจกแจงรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้ส่วนแบ่งจากเงินอุดหนุน 116 ล้านบาทของรัฐบาล เพื่อให้สังคมเห็นว่าเม็ดเงินดังกล่าวกระจายไปอย่างทั่วถึง หรือกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการแค่บางกลุ่มกันแน่ รวมทั้ง ต้องเปิดเผยรายชื่อประชาชน 40,000 รายที่ได้สิทธิ์ในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่นายหน้าที่เข้ามาจองสิทธิ์แทนผู้ประกอบการบางรายเพื่อหวังเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในวงเงิน 116 ล้านบาทกันแน่ ทั้งนี้ แม้มูลค่าโครงการจะไม่สูง มีมูลค่าเพียงหลักร้อยล้านต้น ๆ แต่ก็เป็นเงินของแผ่นดิน ต่อให้เป็นการใช้งบประมาณเพียงบาทเดียว รัฐบาลก็ต้องใช้อย่างรอบคอบระมัดระวังและต้องใช้เงินด้วยความรับผิดชอบเพราะเป็นเงินของส่วนรวม นอกจากนี้ รัฐบาลประยุทธ์ควรหยุดทำให้ประชาชนเสพติดการแจกเงิน และควรฟังคำทักท้วงของทุกฝ่าย โดยเฉพาะ IMF ที่เตือนให้รัฐบาลระวังการใช้นโยบายประชานิยม แต่รัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระตุ้นการผลิต ซึ่งจะเป็นการสร้างกำลังซื้อที่ยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลประยุทธ์ควรดูตัวอย่างประเทศซึ่งมีรากฐานเศรษฐกิจที่แข่งแกร่ง เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดค่าครองชีพประชาชน เช่น ลดภาษีการบริโภคอาหารบางประเภท เพื่อให้คนญี่ปุ่นมีเงินเหลือในการบริโภค ในขณะที่ อินโดนีเซีย ซึ่งโดนสหรัฐตัด GSP เหมือนไทย เขาใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการส่งออกในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้น้ำมันและก๊าซ เพื่อเพิ่ม GDP ไม่มีชาติไหนเน้นการแจกเงิน ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ควรเปลี่ยนแนวคิดในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น