วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
"ชัชชาติ" ชวนคุย คนกรุงเทพฯ ช่วยคิด
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เวลา 14.00 -17.00 น. ณ ลานกิจกรรม ชุมชนโรงหมู คลองเตย กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมประชาชน ภาคเอกชน และภาควิชาการ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ชัชชาติชวนคุย คนกรุงเทพฯ ช่วยคิด” ขึ้น โดยมีประชาชนให้การตอบเป็นอย่างดีและมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
.
นายชัชชาติ เปิดเผยว่า กิจกรรม “ชัชชาติชวนคุย คนกรุงเทพฯ ช่วยคิด” เป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยกันร่วมสร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม เพราะตนเชื่อมั่นว่ากรุงเทพฯ จะดีขึ้นได้ ถ้าพวกเราทุกคนช่วยกัน จึงชวนทุกฝ่ายมาร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิด ช่วยกันหาวิธีสร้างกรุงเทพฯ ที่ทุกคนอยากเห็น ทั้งจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และที่สำคัญคือการร่วมแสดงความเห็นของประชาชนที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการรับสมัครอาสาสมัคร "Better Bangkok" ผ่านเว็บไซต์ https://betterbangkok.co อีกด้วย
.
.
นายชัชชาติ กล่าวว่า “ถ้าเราอยากจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับกรุงเทพฯให้ได้ ก็ควรจะต้องร่วมมือกันและช่วยกันทำเป็นทีม เราต้องไปด้วยกัน ในกิจกรรมครั้งนี้จึงมีการรับสมัครสมาชิกอาสาสมัครที่สนใจอยากเข้าร่วมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เพราะทุกคนล้วนแต่มีปัญหา หรือความเชี่ยวชาญ รวมถึงความเข้าใจในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป ผมคิดว่าปัญหาของกรุงเทพฯ มีคนคิดมาเยอะแล้ว แต่บางทีอาจไม่ได้นำความคิดนั้นมาพัฒนาเป็นนโยบายหรือเป็นรูปธรรม การที่วันนี้เราได้คุยกับหลายๆ คน หลายๆ กลุ่ม และบางส่วนที่เราได้เชิญมาร่วมในงานนี้ ก็น่าจะทำให้เห็นทางออกที่เราสามารถดำเนินการได้ มาช่วยกันพัฒนาชุมชน พัฒนากรุงเทพฯให้ดีขึ้น”
.
นายชัชชาติ กล่าวว่า “เมืองที่เราอยู่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดี เราถึงต้องระดมสมอง ระดมความคิดกัน มาตรฐานของเมืองที่ดีจะต้องมีไม้บรรทัดวัด ผมคิดว่ามี 5 เรื่องที่จำเป็น คือ 1) โปร่งใส 2) ตอบสนอง 3) ครอบคลุม 4) ยุติธรรม และ 5) ยั่งยืน ความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญมากอันดับต้นๆ ของเมืองที่ดี เพราะถ้าไม่โปร่งใส ก็ไม่สามารถที่จะดูแลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาอีกมาก เมืองที่ดีต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปรับตัวให้รับมือกับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เมืองที่ดีต้องดูแลคนอย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ใช่ดูแลเฉพาะคนบางกลุ่ม เมืองที่ดีต้องมีความยุติธรรม การจัดสรรทรัพยากรต้องเป็นมีความเหมาะสม และเมืองที่ดีต้องมีความยั่งยืน ดูแลสภาพสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างภาระที่ไม่จำเป็นกับคนรุ่นต่อไป การแก้ไขปัญหาและการพัฒนากรุงเทพฯ จะสำเร็จได้ ประกอบด้วย 4 ภาคส่วนสำคัญ คือภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาควิชาการ ซึ่งทุกส่วนต้องทำงานประสานกัน ร้อยทุกอย่างเข้าด้วยกัน หลายความเห็นที่ได้รับจากกลุ่มต่างๆ และประชาชนในกิจกรรมครั้งนี้ สามารถบูรณาการกันได้”
.
“วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น หัวใจสำคัญคือเราอยากให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น เป็น พลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนรวม ช่วยกันดูแล ตรวจสอบ และเสนอความคิดเห็น ถ้าเรามีภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการที่เข้มแข็ง มีภาครัฐที่เข้าใจ รับฟัง และดำเนินงานด้วยนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ก็จะพัฒนาเมืองไปได้อย่างยาวไกลและต่อเนื่อง” นายชัชชาติกล่าว
.
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า “ภาครัฐที่เข้มแข็งจะต้องมีผู้นำและนโยบายที่ชัดเจนและเอาจริงเอาจัง กรุงเทพมหานครเองในแง่ของความโปร่งใสและประสิทธิภาพ ก็ต้องตอบสนองต่อประชาชนให้มาก ไม่ใช่ทำงานในลักษณะแนวดิ่งที่ฟังจากผู้บริหารเพียงเท่านั้น ต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ความสำเร็จในปัจจุบันและอนาคตจึงจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นนอกจากความเข้มแข็งของภาคประชาชน เอกชน และวิชาการแล้วนั้น ภาครัฐต้องมีความเข้มแข็ง มีความเข้าใจในปัญหา มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และสามารถร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย”
.
นายชัชชาติ กล่าวโดยสรุปตอนท้ายว่า “สิ่งที่คาดหวังที่สุดในการร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้กับทุกภาคส่วน คือนำไปสู่การร่วมสร้างความหวังให้เกิดขึ้น ผมหวังว่าการร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นจากทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาควิชาการในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความหวังในการร่วมสร้างกรุงเทพให้ดีกว่าเดิม ถ้าเราทุกคน ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ก็มีความหวังที่จะทำให้ดีขึ้น และถ้ามีผู้นำในภาครัฐที่เข้าใจปัญหา มุ่งแก้ไขปัจจุบัน และตั้งใจสร้างอนาคตเป็นหนึ่งในทีม ก็น่าจะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่าเดิมได้ กรุงเทพฯ ของเราจะดีขึ้นได้ ถ้าพวกเราทุกคนช่วยกันครับ”
.
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นที่ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในนามอิสระ นายชัชชาติ กล่าวว่า “ผมว่าอิสระก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะหาแนวร่วมได้ดี ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆได้ดีขึ้น ผมคิดง่ายๆแค่นี้ ไม่ได้ขัดแย้งกับใคร ไม่ได้ทะเลาะกับใคร เพราะว่าจุดดีของพรรคเพื่อไทยที่เราเคยอยู่เราก็ได้นำมาใช้คือเรื่องใกล้ชิดประชาชน แต่เรามองในแง่การบริหารว่า ทางนี้น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับการบริหารกรุงเทพฯ” .
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น