วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เปิดสภาฯ “รัฐบาล” ประเดิมด่านหิน “ฝ่ายค้าน” อุ่นเครื่องก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

: บทบรรณาธิการ 


หลังเปิดสมัยประชุมสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีคิวระดมสมอง และสรรพกำลังเพื่อพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในเรื่องข้อมูล เนื้อหา ประเด็นและรายชื่อรัฐมนตรี ที่อยู่ในข่ายขึ้นเขียงซักฟอกครั้งนี้ ล้วนแต่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะจะเป็น “ครั้งแรก” ที่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเผชิญกับ “ศึกใหญ่” ตามกระบวนการตรวจสอบในระบบรัฐสภาและครรลองประชาธิปไตย

เบื้องต้น วัน ว. เวลา น. ที่เหมาะสมอาจอยู่ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2562
หรือถ้าจะเร็วกว่านั้น หากบริบทแวดล้อมและสถานการณ์การเมืองเอื้ออำนวย

แต่ก่อนที่จะถึง “ศึกใหญ่” อภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ “ฝ่ายรัฐบาล” จะต้องถูกซักฟอกอย่างหนักจากฝ่ายค้าน

ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 (**1) ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก เปิดเผยให้เห็นสิ่งน่าสนใจชวนให้ติดตามตั้งแต่เริ่มต้นนับหนึ่ง

ส่งสัญญาณ เปิดฉากสมัยประชุมสภา ประเดิม “ด่านหิน” ที่ จ่อ-รอ สร้างความสั่นสะเทือนให้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

โดย ญัตติด่วน เรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 ซึ่ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสนอ

และ ญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งนายสุทิน คลังแสง และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้เสนอ

ทั้งสองเรื่อง เชื่อว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน จะทำหน้าที่อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษา

โดยในส่วนของ “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติศึกษาผลกระทบจากใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 ได้รับการจับตามองในบทบาท “หัวหอก” ชำแหละการใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ตลอด 5 ปี ภายใต้อำนาจของ คสช. ซึ่งได้สร้างปัญหาทั้งด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิประชาชน การดำเนินชีวิต ตลอดไปจนถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและภาคธุรกิจต่างๆ

ขณะเดียวกันบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ 2560 หลายมาตรา ที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงปัญหาหลังการบังคับใช้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็น่าจะถูก ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่นำโดย “พรรคเพื่อไทย” หยิบยกมาสรุปให้เห็นภาพพร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศในที่ประชุมสภา ระหว่างพิจารณาญัตติศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ทั้งสองญัตติข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เนื้อหาสำคัญเกี่ยวโยง ผลพวงมรดกตกทอดจากยุค คสช.
ทั้งการใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกยกร่างขึ้นในยุคที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” เรืองอำนาจ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ล้วนเป็น “แผลเก่า” เรื้อรังติดตัว รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบที่ไม่สามารถสลัดให้พ้นไปได้
เป็น “แผลเก่า”  ที่จ่อคิวปริแตกตลอดเวลา และกำลังถูกสะกิดกลางเวทีสภาผู้แทนราษฎร
เป็น “แผลเก่า” ที่จะเป็นตัวกระตุ้น อุ่นเครื่อง โหมโรงและขยายความไปสู่ “แผลใหม่” ที่อาจถูกเปิดโปงศึกซักฟอก อภิปรายไม่ไว้วางใจ

ช่วงเวลาหลังจากนี้
น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง 
..............

อ้างอิง 
**1 – เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/more_news.php?cid=4467

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น