นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
โพสต์ก่อนหน้านี้เรื่องขยะ ได้รับความเห็นดีๆจากพวกเราจำนวนมาก ขอบพระคุณทุกๆท่านนะครับ ผมและทีมงานได้รวบรวมความเห็นเหล่านี้เพื่อนำไปสรุปเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
มีเรื่องขยะมาเล่าต่ออีกครับ เมื่อสักสามเดือนก่อน ผมไปส่งลูกชายที่เมือง Seattle สหรัฐอเมริกา มีเวลาว่างเลยลองหาข้อมูลการจัดการขยะของเมืองที่นี่มาเล่าให้พวกเราฟังครับ
การทิ้งขยะที่นี่เขาให้แยกเป็นสามประเภท
1. Garbage หรือ ขยะที่ Recycle ไม่ได้ ย่อยสลายยาก เช่นโฟม, ขยะที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. Food&Compost ขยะเปียก เช่น เศษอาหาร, ขยะอินทรีย์, ของที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
3. Recycle ของที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้ เช่น กระดาษ, ขวดแก้ว, ขวดพลาสติก
โดยแยกถังขยะเป็นสามถัง คิดราคาตามขนาดถัง
ขยะประเภท 1 Garbage อัตราแพงที่สุด
ขยะประเภทที่ 2 Food&Compost อัตราถูกลงเหลือแค่ประมาณ 1/4
ขยะประเภทที่ 3 Recycles ไม่คิดค่าเก็บ
ขยะประเภท 1 และ 2 เก็บอาทิตย์ละครั้ง ขยะ Recycle เก็บทุกสองอาทิตย์ โดยแยกเป็นรถเก็บแต่ละประเภท ใช้คนขับคนเก็บคนเดียวกัน มีอุปกรณ์ยกถังเทอัตโนมัติ
แต่ละบ้านต้องทำการคัดแยกขยะโดยทางเมือง Seattle มีคู่มือคำอธิบายในการคัดแยกให้อย่างละเอียดและต้องเลือกขนาดถังให้เหมาะสมกับปริมาณขยะของแต่ละบ้าน ขยะเยอะก็ต้องจ่ายค่าเก็บขยะแพง โดยเฉพาะถ้ามีขยะประเภท 1 ที่ย่อยสลายยาก Recycle ไม่ได้เป็นจำนวนเยอะ ก็ต้องจ่ายค่าเก็บขยะแพงขึ้น แต่ถ้ามีขยะ Recycle เยอะ ก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะเก็บให้ฟรี
การจัดการขยะแบบนี้ มีแนวคิดที่สำคัญสองอันคือ
1. ทุกคนมีส่วนร่วมกันในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตระหนักว่าขยะทุกชิ้นที่เราสร้างขึ้นต้องมีที่ไป
2. ใช้ค่าเก็บขยะเป็นตัวช่วยทำให้พฤติกรรมการสร้างขยะของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดปริมาณขยะที่ไม่จำเป็น
ขยะเป็นเรื่องใหญ่มากๆของเมืองในอนาคต มีตัวอย่างดีๆทั่วโลกที่เราสามารถเลือกแนวทางบางอย่างมาปรับใช้กับบ้านเรา การแก้ปัญหาขยะไม่ใช่คิดแต่จะปรับขึ้นค่าเก็บขยะโดยไม่ปรับปรุงแนวคิดและวิธีการให้ดีขึ้นครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น