นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ผมได้รับเชิญจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ให้มาดูงานวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการเมืองที่นครไทเป เกาะไต้หวัน
ผมมาไทเปครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว มีความรู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างที่คล้ายเมืองไทย เช่น อาหารรถเข็น Street Food รถมอเตอร์ไซค์ที่เยอะมาก ลักษณะบ้านเมือง ห้องแถวและคิดว่าน่าจะมีอะไรที่นำมาปรับใช้กับบ้านเรา โดยเฉพาะกรุงเทพฯได้
ผมมาถึงคืนเมื่อวาน วันนี้ได้ไปดูงานหลายที่ เลยขอเอามาเล่าให้พวกเราฟังกันนะครับ
1. ดูโครงการรถไฟฟ้า Danhai Light Rail Transit
ในนครไทเป มีรถไฟฟ้าหลักคือรถไฟ MRT หรือ Taipei Metro มีสายหลัก 5 สาย จำนวน 117 สถานี ระยะทางประมาณ 130 กม
รถไฟฟ้า MRT นี้ ทั้งระบบเป็นของนครไทเป ค่าตั๋วถ้าซื้อเป็นรายเที่ยวแล้ว ราคาอาจจะไม่ต่างจากรถไฟฟ้าใน กทม.มากนัก อยู่ระหว่าง 20-65 NT หรือประมาณ 23-75 บาทแต่ถ้าซื้อเป็นตัวเดือนแล้วจะราคาถูกมากคือ 1,280 NT หรือประมาณ 1,485 บาทต่อเดือน ขึ้นได้ไม่อั้นทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า MRT รถไฟฟ้า LRT
ปัญหาของ กทม.คือรถไฟฟ้ามีหลายเจ้าของ ทั้ง รฟม. กทม. การรถไฟ แอร์พอร์ตลิงค์ ค่าโดยสาร แต่ละระบบต่างคนต่างเก็บ ทำให้โดยรวมแล้วยังแพงมาก ไม่มีการเชื่อมโยงกับระบบอื่น เช่น รถเมล์
ที่ผมมาดูงานนี่ เป็นรถไฟฟ้าระบบ Light Rail ที่ต่อมาจากรถไฟฟ้า MRT ที่สถานี Hongshulin เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งแถบชานเมืองและเป็นของเมืองนิวไทเป ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในเขตพื้นที่รอบๆเมืองไทไป วิ่งไปแถบชานเมืองจำนวน 11 สถานี ส่วนใหญ่วิ่งไปในย่านที่พักอาศัยและเขตเมืองใหม่
ที่รถไฟฟ้า Light Rail น่ารักตรงที่เขาเอาผลงานของศิลปินจิมมี่ เหลียว (Jimmy Liao) นักวาดภาพชาวไต้หวันและนักเขียนหนังสือภาพ มาเป็นธีมของการตกแต่งรถไฟและสถานี ทำให้เป็นจุดขายสำหรับนักท่องเที่ยวได้
ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือสถานีรถไฟ จะมีผู้สูงอายุมาช่วยทำงานเป็นอาสาสมัครในการช่วยแนะนำผู้โดยสารในการใช้รถไฟฟ้า เป็นวิธีการที่น่าสนใจที่ผู้สูงอายุยังสามารถมีกิจกรรมที่ Active และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้
2. ดูสถานที่จอดรถอัจฉริยะ Smart Parking ของเมืองนิวไทเป
ที่จอดรถนี้สร้างอยู่ใต้สนามของโรงเรียน Sanshung Vocational High School มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นที่จอดรถใต้ดินสองชั้น จอดรถได้ 500 คัน มอเตอร์ไซค์ 50 คัน
โดยด้านบนยังคงเป็นสนามของโรงเรียนอยู่ การออกแบบใช้ระบบ Smart Parking คือไม่ต้องรับบัตร กล้องจะอ่านทะเบียนรถอัตโนมัติ และรู้เลยว่ารถเราไปจอดช่องไหน
จ่ายเงินที่ตู้อัตโนมัติ ถ้าจำที่จอดไม่ได้ สามารถกดเลขทะเบียนถามตำแหน่งช่องจอดจากเครื่องได้ แทบจะไม่ต้องใช้คนในการดูแลที่จอดรถเลย
การออกแบบมีการใช้ระบบแสงกับการระบายอากาศแบบธรรมชาติ ทำให้ประหยัดพลังงานในการจัดการไปได้มาก มีห้องน้ำสาธารณะที่สะอาดให้คนใช้ได้ มีห้องน้ำสำหรับเด็กแยกต่างหาก
ผมว่าแนวคิดนี้น่าสนใจในการใช้ที่ดินใต้ดินให้เป็นประโยชน์ได้ ไม่เสียพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะด้านบนไป สามารถใช้พื้นที่ใต้ดินให้เป็นประโยชน์และออกแบบให้ประหยัดพลังงานได้ ในกรุงเทพฯที่เห็น เช่นที่จอดรถใต้สนามฟุตบอลของ มศว.ประสานมิตร
3. เข้าพบรัฐมนตรี Audrey Tang รมต.ดิจิตัล
ผมได้พบมาพบท่านที่ไต้หวันครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปีที่แล้ว และได้พบท่านอีกสองครั้งตอนที่ท่านได้ไปบรรยายที่เมืองไทย ท่านเป็นคนเก่งมากๆ มาเจอกันครั้งนี้ ท่านได้พาชม Social Innovation Lab ซึ่งเป็นที่ที่ให้กลุ่ม Startup ที่มีโครงการต่างๆที่ช่วยแก้ปัญหาของสังคมมาทำงาน โดยมีที่ทำงาน มี Maker Space ที่รวมอุปกรณ์ต่างๆพวกเครื่องพิมพ์สามมิติ งานไม้ งานไฟฟ้า อุปกรณ์ในการสร้างของต่างๆ โดยท่าน รมต.เองจะมานั่งที่สำนักงานนี้ทุกวันพุธ และทุกๆคนสามารถนัดเจอเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้
ผมว่า Social Innovation Lab แบบนี้น่าสนใจ และควรจะมีในกทม.เพื่อให้เป็นการสร้างระบบนิเวศหรือ Ecosystem สำหรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และให้ผู้บริหารได้มารับฟังความคิดเห็นต่างๆโดยตรง ท่าน รมต.Audrey แนะนำเคล็ดลับว่า หัวใจของความสำเร็จคือต้องมีครัวที่ดี ถ้ามีอาหารอร่อยๆ คนจะมีแรงคิดสิ่งใหม่ๆ ตอนที่แวะไป มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งกำลังมาทัศนศึกษาและลองทำแกงกะหรี่หมูอยู่ในครัวกลาง ทำเสร็จแล้วเอามาให้พวกเราชิม อร่อยใช้ได้ทีเดียว
ส่วนตอนเย็นมีการทานข้าวหารือร่วมกันกับคณะใหญ่ที่ทำงานด้าน การจราจรขนส่ง การพัฒนาระบบน้ำ การป้องกันภัยพิบัติ สถาบันด้าน ICT ซึ่งหลายๆเรื่องน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา กทม.ในอนาคต
พรุ่งนี้มีดูงานอีกหลายที่ เดี๋ยวจะเอามาเล่าให้พวกเราฟังอีกนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น