วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562

“พิชัย” แนะเปลี่ยนรัฐบาล แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

“พิชัย” ชี้ 8 เหตุผล เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เย้ย ทรุดขนาดนี้สมคิดยังบอกว่าไทยแข็งแรงยังขยายตัวดี แนะต้องเปลี่ยนรัฐบาล



นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวในการแถลงข่าว “สรุปการตรวจสอบประจำปี และข้อเสนอแก้ขัดแย้งก่อนวิกฤติรอบใหม่” จัดโดยสภาที่ 3 และ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่สมาคมนักข่าวฯ ว่า เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อย่างหนักในปัจจุบัน สามารถสรุปสาเหตุได้ 8 ข้อดังนี้

1. รัฐบาลขาดความรู้ความสามารถ และความเข้าใจในภาวะเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งพิสูจน์แล้วจากการพูดจาที่สับสนกลับไปกลับมาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และแม้กระทั่งนายสมคิดเองที่เมื่อวานนี้ยังกล้าพูดว่า ส่วนตัวคิดว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแรงพอสมควรแม้ชะลอตัวแต่ขยายตัวเป็นบวกได้

2. รัฐบาลติดนิสัยเผด็จการ พยายามกลบปัญหาไม่ยอมรับ ถึงขนาดกล้าโกหกว่าเศรษฐกิจยังดี ไม่ยอมรับความจริง พยายามโกหกประชาชนจนเป็นนิสัย ตั้งแต่เพลงเราจะทำตามสัญญาใช้เวลาไม่นาน แต่ปาเข้าไป 5 ปีกว่าจึงมีการเลือกตั้ง มาถึงสัญญาในนโยบายต่างๆ แล้วไม่ทำ นอกจากนี้ยังปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจเพราะคิดว่าถ้าไม่พูดถึงปัญหาแล้วปัญหาจะหายไปเอง

3. รัฐบาลทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งต่างประเทศและในประเทศ ตลอด 5 ปีกว่า พฤติกรรมของรัฐบาลได้ทำลายความมั่นใจของนักลงทุนโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แม้กระทั่งหลังเลือกตั้งแล้วก็ยังเป็นปัญหาจากสื่อหลักต่างประเทศแทบทุกสำนักที่ยังโจมตีประเทศไทยตั้งแต่ การจัดตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจ จนมาถึง รมต. มีข่าวฉาวยาเสพติด จนมาถึง การยุบพรรคการเมือง

4. เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำมากว่า 5 ปีทำปัญหาเศรษฐกิจหมักหมม เศรษฐกิจไทยโตเพียง 3 % ตลอด 5 ปี ที่ตำ่สุดในแทบทุกรัฐบาล ปีนี้ก็จะยิ่งทรุดหนัก เหลือเพียงประมาณ 2.5% เท่านั้น การขยายตัวที่ต่ำสร้างปัญหาทำให้เกิดการว่างงาน และ หนี้เสีย อีกทั้งทำให้รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพิ่มจึงลำบากกัน

5. การลงทุนที่ลดลงมากมาตลอด ทำให้การส่งออกลดลง และ จีดีพีทรุดตาม ความไม่มั่นใจของนักลงทุนทำให้การลงทุนของไทยลดลงมาก ส่งผลให้การส่งออกไม่ขยายตัวแถมยังติดลบ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของไทยที่ต้องพัฒนาเป็นเทคโนโลยีระดับสูงขึ้นหยุดชะงัก ในขณะที่อุตสาหกรรมเดิมที่ล้าหลังแล้วต้องปิดตัว นักลงทุนไทยย้ายการลงทุนไปต่างประเทศมากกว่า นักลงทุนต่างประเทศลงทุนในไทย ซึ่งพลเอกประยุทธ์พูดวันก่อนยังไม่แสดงความเข้าใจเลย

6. การใช้จ่ายรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ คิดแต่แจกเงิน โดยไม่พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตนได้เคยเตือนว่าการแจกเงินแม้ทำได้และควรทำในบางโอกาส แต่ไม่ใช่จะใช้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล แต่ไม่ได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่เจริญได้จากการแจกเงิน แต่รัฐบาลก็ยังออกมาเถียงและตำหนิตนหาว่าอิจฉารัฐบาล จนกระทั่งไอเอ็มเอฟ และ เวิร์ลแบงค์ได้ออกมาเตือนเหมือนที่ตนเตือน และเน้นเรื่องการพัฒนาความสามารถแข่งขัน รัฐบาลถึงได้เงียบไปแต่ก็ยังคิดแจกเงินอยู่ เหมือนต้องการซื่อเสียงเพื่อประคองความนิยมของรัฐบาล

7. รัฐบาลคำนึงความมั่นคงของรัฐบาล มากกว่า อนาคตของประเทศ รัฐบาลได้ออกกฏหมาย และ กฏระเบียบจำนวนมากเพื่อควบคุมประชาชน เพราะห่วงความมั่นคงของรัฐบาลเอง แต่กลับทำลายความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจของนักลงทุน ยกตัวอย่าง เช่น พรบ. คอมพิวเตอร์ พรบ. ไซเบอร์ ซึ่งทำลายความคิดสร้างสรรค์และไม่ส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้บริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์นไม่เกิดในไทย นอกจากนี้รัฐบาลยังสับสนระหว่างความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงของรัฐบาล และล่าสุดยังมีการเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สินสร้างความปั่นป่วนอย่างมากในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

8. รัฐบาลเอื้อประโยชน์นายทุนเจ้าสัวมากกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำแล้ว การขยายตัวส่วนใหญ่ยังไปตกอยู่กับนายทุนเจ้าสัวที่สนับสนุนรัฐบาลทำให้นายทุนเจ้าสัวรวยขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ประชาชนกลับจนลง หลายนโยบายของรัฐบาลตั้งใจเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเจ้าสัวอย่างเต็มที่ การกระจายรายได้ย่ำแย่ และ ความเหลื่อมล้ำของไทยขึ่นอันดับ 1 ของโลก และ ทุกวันนี้รัฐบาลก็ยังเอื้อประโยชน์นายทุนเจ้าสัวอยู่

ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นข้อขัดแย้งนำไปสู่วิกฤตรอบใหม่ได้ เพราะประชาชนเดือดร้อนกันมาก และ จาก 8 ข้อนี้ แสดงว่ารัฐบาลไม่สามารถจะเห็นภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่แท้จริงได้ และ รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ซึ่งตามหลักการแล้ว รัฐบาลจะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีได้ โดยรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้เอกชนกล้าลงทุน กล้าใช้จ่าย แต่รัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจทรุดได้ และรัฐบาลนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจทรุดอย่างหนักแล้ว และรัฐบาลไม่สามารถฟื้นความมั่นใจให้กับประเทศได้อีกต่อไปแล้ว รัฐบาลหมดเครดิตแล้ว ทางแก้ไขเศรษฐกิจและป้องกันวิกฤตที่จะเกิด คือต้องเปลี่ยนรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เศรษฐกิจถึงจะฟื้นได้ ทั้งนี้ตนได้เสนอ 7 ข้อเร่งด่วนให้รัฐบาลเร่งแก้ไข ซึ่งมี การยอมรับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เพื่อแก้ปัญหา การเจรจาการค้า การแก้ไขค่าบาทแข็ง การช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน การลงทุนมากๆเพื่อพัฒนาความสามารถแข่งขัน การสร้างเศรษฐกิจสมัยใหม่ และ การสร้างความมั่นใจด้วย Rule of Law ซึ่งรัฐบาลควรเร่งดำเนินการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น